หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เมืองสงขลา อดีตฝั่งแหลมสน
15 มีนาคม 2563 | 10,864

หลังจากที่เราพอทราบเรื่องราวความเป็นมาของสงขลาฝั่งหัวเขามาพอสมควรกันบ้างแล้ว ทั้งนี้เราจะพาทุกท่านมาทำรู้จักกับอดีตหลังจากที่เมืองสงขลาได้ย้ายข้ามฝั่งมาอยู่ที่แหลมสน ซึ่งจะมีเหตุการณ์ใดอย่างไรเราไปติดตามพร้อม ๆ กันเลย 

เมื่อเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ถูกกองทัพกรุงศรีอยุธยาทำลายจนหมดสิ้น เมื่อ พ.ศ 2223 ชาวสงขลาฝั่งหัวเขาแดงที่เหลืออยู่ ได้ย้ายชุมชนไปสร้างเมืองใหม่ ณ เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ ที่รู้จักกันในชื่อว่าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน โดยเมืองนี้เป็นเมืองที่ไม่ได้รับการวางแผนในการสร้างเมืองตั้งแต่ต้น ประกอบกับเป็นเมืองที่ถูกสร้างเนื่องจากการย้ายเมืองภายหลังจากสงคราม ดังนั้นลักษณะของเมืองจึงเป็นเมืองที่ถูกสร้างกันอย่างง่ายๆ บนพื้นที่เชิงเขาติดทะเล ถัดจากตำแหน่งเมืองสงขลาเดิมที่ถูกทำลายลงไปอีกด้านหนึ่งของฝากเขา เนื่องจากเป็นที่ตั้งเมืองที่อยู่บนเชิงเขาทำให้เมืองสงขลาแห่งที่สองนี้ ในภายหลังประสบกับปัญหาการขาดแคนน้ำจืดในการอุปโภค และปัญหาการมีพื้นที่ในทางราบไม่เพียงพอกับการขยายและเติบโตของเมืองซึ่งเป็นปัญหาหลักที่ทำให้เกิดการย้ายเมืองในเวลาต่อมา

ซึ่งในขณะนั้นลักษณะการสร้างบ้านเรือนของสงขลาฝั่งแหลมสน ส่วนใหญ่บ้านเรือนจะทำด้วยวัสดุไม่ถาวร เช่น ไม้ และใบจากในลักษณะเรือนเครื่องสับจึงทำให้หลงเหลือร่องรอยและหลักฐานไม่มากนัก เนื่องจากประชากรในการสร้างเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญชนประกอบกับขนาด และอาณาเขตรวมไปถึงอำนาจการปกครองของเมืองสงขลาได้ลดฐานะเป็นแค่เมืองเล็ก ๆ ของเมืองบริวารของเมืองพัทลุง

ดังนั้นเจ้าเมืองสงขลาคนแรกจึงถูกแต่งตั้งโดยพระยาจักรกรี และพระยาพิชัยราชา เป็นเพียงแค่การคัดเลือกชาวบ้านคนหนึ่งชื่อ “โยม” มาดำรงตำแหน่งเป็น "พระสงขลา" เจ้าเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน และในคราวเดียวกันนั่นเอง ยังมีชาวจีนคนหนึ่งชื่อ นายเหยี่ยง แซ่เฮา ชาวจีนซึ่งอพยพมาจากเมืองเจียงจิ้งหู มลฑลฟูเจี้ยน ได้เสนอบัญชีทรัพย์สินและบริวารของตนเพื่อแลกกับสัมปทานผูกขาดธุรกิจรังนกบน เกาะสี่เกาะห้า ในทะเลสาบสงขลา เจ้าพระยาทั้งสองจึงพิจารณาแต่งตั้งให้นายเหยี่ยง แซ่เฮา เป็นหลวงอินทคีรีสมบัตินายอาการรังนกเกาะสี่เกาะห้า (นายเหยี่ยง หรือคนในพื้นที่เรียก "ตั่วแป๊ะ" ครั้นปี พ.ศ.2294 ตั่วแป๊ะรื้อเรือนขึ้นไปอยู่ตำบลบัานทุ่งหวัง แขวงเมืองจะนะ สร้างสวนปลูกพลูขายอยู่ 3 ปี เก็บเงินได้ก้อนหนึ่งครั้นปี พ.ศ.2296 ตั้วแป๊ะกลับลงมาตั้งเรือนอยู่ตำบลบนบ่อยาง

ทั้งนี้ตั่วแป๊ะได้มีภรรยาชาวเมืองพัทลุงมีบุครชาย  5 คน บุตรคนที่ 1 ชื่อบุญหุ้ย บุตรคนที่ 2 ชื่อ บุญสี้ยว คนที่ 3 ชื่อ บุญชิ้น คนที่ 4 ชื่อ เถี้ยนเส้ง คนที่ 5 ชื่อ ยกเส้ง (ต้นตระกูล ณ สงขลา) พระสงขลา(โยม)ได้ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนอยู่จนถึงปี พ.ศ.2317 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ดำริว่าพระสงขลา (โยม) หย่อนสมรรถภาพในการปฏิบัติราชการจึงให้หลวงอินทคีรีสมบัติ (เหยียง แซ่เฮา) ซึ่งเป็นนายอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า เลื่อนตำแหน่งเป็น "หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ" เจ้าเมืองสงขลา คนถัดมาซึ่งนับว่าเป็นการเริ่มต้นสายสกุล ณ สงขลา ซึ่งต่อมาได้ปกครองเมืองสงขลามาถึง 8 รุ่น ในการปกครองสงขลาในช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาของการทำหน้าที่ปกป้องอาณาเขต ละ รับใช้ราชการปกครองแทนเมืองหลวง ซึ่งตรงกับกรุงรัตนโกสินทร์ปกครองโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2 ปัญหาหลักของการปกครองสงขลาคือการส่งกำลังไปร่วมกำกับและควบคุมหัวเมืองแขกต่างๆ ให้อยู่ในความสงบโดยมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการรบหลายครั้งทำให้เจ้าเมืองสงขลาในรุ่นต่าง ๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถและความภักดีทางการรบ

โดยในสมัยสงขลาขณะนั้นมีเมืองแขกปัตตานี ได้ถูกแยกออกเป็นเจ็ดหัวเมืองย่อยได้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสงขลา ซึ่งต่อมาชื่อเมืองต่างๆได้ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อถนนในการตั้งเมืองใหม่ ณ ฝั่งบ่อยาง เมืองทั้งเจ็ดมีรายชื่อคือ 1.เมืองปัตตานี 2.เมืองหนองจิก 3.เมืองเมืองยะลา 4.เมืองรามันห์ 5.เมืองยะหริ่ง 6.เมืองสายบุรี 7.เมืองระแงะ และเมืองสุดท้ายที่เข้ามาอยู่ใต้การกำกับดูแลของสงขลาในช่วงปี พ.ศ.2379 คือเมืองสตูล

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่3 และตรงกับเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ปกครองเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน เนื่องจากเมืองสงขลาฝั่งแหลมสนเป็นเมืองที่ถูกสร้างอย่างง่าย ๆ เพื่อรองรับการหนีภัยในช่วงเมืองแตกทำให้เกิดปัญหาและข้อขัดข้องในการพัฒนาขยายเมืองหลายประการตามมา ทำให้ส่งผลต่อการพิจารณาย้ายเมืองในเวลาต่อมาไม่นานนัก และคราวหน้าเราจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักเพิ่มกับสงขลาฝั่งบ่อยาง เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อโปรดติดตามกันให้ใน "เรื่องราวหาดใหญ่"

ขอบคุณภาพข้อมูล : Aey Sungsuwan , ประวัติเมืองสทิงพระหนังสือศิลปวัฒนธรรม , อ.วุฒิชัย เพรชสุวรรณ , สมุดภาพมหาวชิราวุธ

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง