หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เล่าประวัติคุณงามความดี นายอำเภอคนแรกหาดใหญ่ "พระเสน่หามนตรี (ชื่น)"
2 กุมภาพันธ์ 2563 | 12,544

หาดใหญ่พัฒนาขึ้นเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจก็เพราะคหบดีท่านหนึ่งคือ ขุนนิพัทธ์จีนนคร(เจียกีซี) ท่านเป็นบุคคลแรกที่เริ่มตัดถนนสร้างห้องแถวเมื่อปี 2459 หลังจากนั้นก็มีบุคคลที่ร่วมสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่หาดใหญ่ พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในจังหวัดสงขลาและภาคใต้ เป็นนักปกครองที่ได้ปกครองหลายท้องที่ในประเทศ

แต่ชื่อเสียงของท่านปรากฎเด่นชัดเมื่อครั้งรับราชการเป็นนายอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สมัยเมื่อครั้งที่อำเภอหาดใหญ่เป็นอำเภอเล็ก ๆ อำเภอหนึ่งซึ่งมีชื่อในครั้งนันว่าอำเภอเหนือ จนกระทั่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นอำเภอหาดใหญ่และพัฒนามาตามลำดับ จึงกล่าวได้ว่าท่านเป็นนายอำเภอคนสุดท้ายของอำเภอเหนือและเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอหาดใหญ่

และเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเมืองหาดใหญ่ให้กลายมาเป็นเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และการพาณิชย์ที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ นอกจากบทบาททางด้านการปกครองแล้ว ท่านยังเป็นผู้ประกอบคุณความดีช่วยเหลือกิจสาธารณประโยชน์ด้านต่าง ๆ อีกมากมายพระเสน่หามนตรี (ชื่น) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนสุดท้ายของอำเภอเหนือก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอหาดใหญ่ ท่านเป็นบุคคลสำคัญต่อการพัฒนาของอำเภอหาดใหญ่

โดยชื่อก่อนหน้านี้ พระเสน่หามนตรีชื่อเดิมว่าชื่น สุคนธหงส์ เกิดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2426 เป็นบุตรของพระรณกิจปรีชา (รื่น สุคนธหงส์) และนางเนย สุคนธหงส์  บิดารับราชการอยู่ที่อำเภอหล่มสัก (จังหวัดเพชรบูรณ์) แต่พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เกิดที่กรุงเทพฯ เป็นบุตรคนแรกในจำนวนพี่น้องร่วมบิดาทั้งหมด 5 คน ซึ่งเป็นชาย 2 คน หญิง 3 คน พระเสน่หามนตรี (ชื่น) ไม่ปรากฎหลักฐานศักราชแน่ชัด จากหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่านกล่าวว่าท่านเรียนภาษาไทยบาลีกับพระมหาชาล (ที่วัดเชตุพนฯ)

และได้บรรพชากับท่านเจ้าคุณพระธรรมวิหารี ส่วนการศึกษาในระบบโรงเรียนกล่าวไว้ว่าเข้าเรียนในโรงเรียนกล่อมพิทยาคม (วัดเชตุพนฯ) ต่อมาเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พอจบแล้วได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสถานศึกษาข้าราชการพลเรือนต่อด้วยโรงเรียนมหาดเล็ก จบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรประโยคมัธยมศึกษาประโยคสถานศึกษาข้าราชการพลเรือน และการปกครองโรงเรียนมหาดเล็กตามลำดับ  พระเสน่หามนตรี (ชื่น) เริ่มรับราชการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2441 โดยรับราชการเป็นเสมียนในกรมรองสารรับสั่ง กระทรวงวังที่จังหวัดเพชรบูรณ์ หลังจากนั้นได้มีการโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งต่าง ๆ ที่สำคัญดังนี้

พ.ศ. 2442 เป็นเสมียนมหาดไทย เป็นมหาดเล็กรายงานมณฑลนครสวรรค์

พ.ศ. 2452 รักษาการนายอำเภอกลาย (ปัจจุบันคืออำเภอท่าศาลาจังหวัดนครศรีธรรมราช)

พ.ศ. 2453 เป็นนายอำเภอกลาย ต่อมาย้ายไปเป็นปลัดเมืองพัทลุงในปีเดียวกัน พ.ศ. 2457 ไปเป็นนายอำเภอเหนือ (คืออำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาในปัจจุบัน)   

พ.ศ. 2464 ย้ายไปเป็นนายอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พ.ศ. 2466 เป็นปลัดจังหวัดนครศรีธรรมราช

พ.ศ. 2467 รักษาการนายอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

พ.ศ. 2468 เป็นนายอำเภอทุ่งสง

พ.ศ. 2469 ย้ายไปรักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2470 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์

พ.ศ. 2472 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหล่มสัก (ปัจจุบันคือจังหวัดเพชรบูรณ์)      

พ.ศ. 2475 (อายุ 50 ปี) จึงลาออกจากราชการที่อาศัยอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่

แม้จะเป็นคหบดีร่ำรวยอย่างไร พระเสน่หามนตรี (ชื่น )ก็ยังเป็นผู้ที่เห็นแก่คุณประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งนับว่าเป็นคุณสมบัติสำคัญมากที่ทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ท่านได้อาศัยความร่ำรวยบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ ทั้งในเขตอำเภอหาดใหญ่และที่อื่น ๆ มากมายนับเป็นเงินหลายล้านบาท ในหนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ได้แสดงรายการการบริจาคทรัพย์ส่วนตัวของท่านเพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ เฉพาะเท่าที่พอจะสืบได้มีมากมาย เช่น การบริจาคเพื่อการศาสนา ได้แก่ บริจาคเงินสร้างอุโบสถ หอระฆัง ศาลาการเปรียญ ฯลฯ ในวัดโคกสมานคุณเป็นเงิน 900,000 บาท สร้างกุฏิถวายวัดพุทธิการาม 58,000 บาท บริจาคเงินถวายวัดคงคาเลียบ 40,000 บาท บริจาคเงินถวายวัดโคกม่วง 40,000 บาท

บริจาคเงินถวายวัดหงษ์ประดิษฐาราม 200,000 บาท บริจาคเงินถวายวัดหูแร่ 10,000 บาท บริจาคเงินถวายวัดพระเชตุพนฯ 50,000 บาท เป็นต้น ด้านการบริจาคให้โรงพยาบาลได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช 20,000บาท โรงพยาบาลหาดใหญ่ 100,000 บาท โรงพยาบาลประสาทสงขลา 10,000 บาท โรงพยาบาลสงขลา 10,000  บาท บำรุงกาชาดไทย 30,000 บาท ด้านการบริจาคเพื่อการศึกษา ได้แก่โรงเรียนสมานคุณวิทยา 220,000 โรงเรียนบ้านคลองนกกะทา 15,000 บาท โรงเรียนวัดหงษ์ประดิษฐาราม 10,000 บาท ก่อตั้งมูลนิธิทุนพระเสน่หามนตรี 100,000 บาท เหล่านี้เป็นต้น นอกจากการบริจาคดังกล่าวแล้ว ยังมีการบริจาคเพื่อการกุศลและสาธารณประโยชน์ทั้งรายใหญ่รายน้อยอีกมากมาย

ขอบคุณภาพข้อมูล : Hat Yai City / หาดใหญ่ซิตี้  ที่นี้ หาดใหญ่

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง