หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ท่าประวัติศาสตร์หาดใหญ่ในอดีต
27 ตุลาคม 2562 | 17,799

ใกล้หมู่บ้านในอดีตหน้าท่าที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์สำหรับเมืองหาดใหญ่ว่ากันว่า "เป็นที่มาของชาวหาดใหญ่" ในความเชื่อของผู้ใหญ่บางท่านได้ระบุมาหน้าท่าประวัติศาสตร์หาดใหญ่มาจากที่แห่งนี้ ถ้าเทียบในสมัยที่เรายังเป็นเด็ก จำความได้ว่าที่หน้าท่าแห่งนี้เป็นทางลาดลงไปที่ริมคลองเป็นแอ่งลึก เวิ้งว้างในหน้าน้ำ น้ำในคลองล้นเอ่อตลิ่งเป็นความรู้สึกที่ดูลึกมากในช่วงของวัยเด็ก

จำความได้ว่าที่ตรงนั้นจะมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่อยู่เป็นเนินตลิ่งแห่งนี้ แผ่ก้านใบให้เงาร่มรื่นด้านหนึ่งที่อยู่บริเวณหักศอกมีอาคารปูนดั้งเดิม บริเวณใกล้ ๆ จะได้ยินเสียงเครื่องจักรทำงานด้วยความเสียงดังสนั่นหวั่นไหว เมื่อเติบโตขึ้นเรามักจะได้ยินเรื่องเล่าหากหลาย ๆ คนได้อ่านเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาบ้างคงจะรู้ดี และยิ่งจะทำให้เรารู้สึกเสียดายภาพใอดีตที่ไม่ได้บันทึกไว้ จึงได้มีชมรมรวบรวมเรื่องราวเมืองหาดใหญ่ไว้ดังนี้

ก่อนปี พ.ศ.2440 เมืองสงขลาแบ่งออกเป็น 15 ส่วน เรียกว่า " อำเภอ" อำเภอหลวงรักษาพลสยาม ครอบคลุมบ้าน 113 บ้าน วัด 14 พระอาราม และเรือน 2,805 เรือน โดยพื้นที่หาดใหญ่ปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของอำเภอนี้ดูได้จากการะบุบ้าน และ วัดต่าง ๆ เช่น

- บ้านหาดใหญ่ 1 บ้าน 4 เรือน

- บ้านทุ่งเสา 1 บ้าน 75 เรือน

- บ้านโคกเสม็ดชุน 1 บ้าน 10 เรือน

-บ้านทุ่งรี 1 บ้าน 51 เรือน

-บ้านคลองเรียน 1 บ้าน 7 เรือน

- บ้านควนลัง 1 บ้าน 120 เรือน

- บ้านแหลมโพธิ์  1 บ้าน 20 เรือน

 แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้มีการปฎิรูป ปกครองหัวเมืองเป็นแบบให้มีมณฑลเมื่อปี พ.ศ. 2493 สงขลาถูกปรับเหลือเพียง 5 แขวง คือ อำเภอเมือง อำเภอปละท่า อำเภอฝ่ายเหนือ อำเภอจะนะ และอำเภอเทพา เกี่ยวกับอำเภอฝ่ายเหนือมีหลักฐานปรากฎในเอกสารรัชกาลที่ 5 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ ในรายงานราชการมณฑลนครศรีธรรมราช ลงวันที่ 4 ตุลาคม ร.ศ117 (พ.ศ 2441) ตอนหนึ่งว่า "อำเภอฝ่ายเหนือต่อแดนเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ...  ตั้งอยู่ที่ว่าการท่าหาดใหญ่ โดยตั้งขึ้นในปี ร.ศ.115 (พ.ศ. 2493) มีกำนัน 13 คน ผู้ใหญ่บ้าน 178 หมู่บ้าน ครัวเรือนทังหมด 7,465 ครัวเรือน ราษฎร 24,033 คน เป็นชาย 14,278 คน เป็นหญิง 9,755 คน

ทั้งนี้เหตุที่เรียกว่าอำเภอเหนือ (ไม่มีคำว่า "ฝ่าย") เพราะเป็นอำเภอที่กันดาร คนในจังหวัดจึงใช้คำพูดเชิงดูหมิ่นบุคคลว่า "ชาวเหนือ" คู่กับการใช้คำพูดกับคนที่อยู่ระหว่างทะเลสาบสงขลากับทะเลหลวง คือระโนด และสทิงพระว่า "ชาวบก" อำเภอฝ่ายเหนือมีอำเภอ 4 คนตามลำดับคือ หลวงภูวนารถสุรารักษ์(อ่อน เศวตนันต์) ระหว่างปี พ.ศ.2447-2450 หลวงเทพราชธานี(โหมด ชลายนคุปต์) ระหว่างปี พ.ศ.2451-2453 หลวงมหานุภาพปราบสงคราม(ผ่อง โรจนหัสดินทร์) ระหว่างปี พ.ศ.2455-2457 พระเสน่หามนตรี(ชื่น สุคนธหงส์) ระหว่างปี พ.ศ.2457-2464

ย้อนชื่อ "หาดใหญ่" อย่างไรก็ตามคำว่า หาดใหญ่ ไม่ใช่เพิ่งได้ยินชื่อ พ.ศ.2460 หรือ พ.ศ. 2440ในอนุสรณ์คุณสุชาติ รัตนปราการ) เท่านั้น เพราะในปีพ.ศ.2381 ก็มีการกล่าวถึงชื่อหาดใหญ่แล้ว ในบันทึกการรบระหว่างสงขลา โดยความช่วยเหลือจากกรุงเทพฯกับเมืองไทรบุรี ที่เป็นกบฎในสมัยรัชกาลที่ 3 นอกจากนี้หลักฐานจากจดหมายหลวงอุดมสมบัติ ถึงพระยาศรีพิพัฒน์ ฉบับที่ 1 ได้กล่าวถึงหาดใหญ่ 3 ครั้ง 

ครั้งที่ 1 ที่กล่าวถึงมีความว่าพระยาไทร(ท่านที่ถูกกบฎ)ให้คนมาจัดซื้อข้าวที่สงขลาได้ 20 เกวียน ไปจ่ายให้กองทัพ 1,194 คน ที่ หาดใหญ่

ครั้งที่ 2 (ในจดหมายฉบับเดียวกัน แต่บอกเวลาห่างจากครั้งแรกประมาณ 2 เดือน ) ว่าพระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง เป็นเจ้าเมืองคนที่ 4) กับนายทัพนายกองยกออกไปพร้อมกัน ณ ที่หาดใหญ่

ครั้งที่ 3 อีกประมาณ 10 วันต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ทรงทราบเรื่องการศึกพ่ายแพ้ ทรงโทมนัสตรัสบ่นว่า "ความก็รู้อยู่ด้วยกันแล้ว ยังให้มันหลอกลวงทำได้ กองทัพสงขลายกไปอยู่ที่หาดใหญ่ จะคัดจัดแจงเอาพวกสงขลาอุดหนุนติดตามกันออกไปก็ไม่มี" หลังจากนั้นพระยาสงขลาเกณฑ์ไพร่ได้เสร็จแล้วรีบยกขึ้นไปตั้งที่ท่าหาดใหญ่ แล้วให้หลวงบริรักษ์ภูเบศร์ ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา เป็นกองส่งเสบียงอาหารอยู่ที่ตำบลท่าหาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม หาดใหญ่ที่มีการกล่าวถึงนี้ ไม่สามารถชี้ชัดว่า คือหาดใหญ่ บริเวณไหน เพราะจากหลักฐานที่มีอยู่ข้างต้นมองแล้วว่าน่าจะอยู่บริเวณท่าหาดทราย หลังที่ว่าการอำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน แต่จากหลักฐานอื่นๆ ที่มีอยู่ เช่น จากสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.2529 กลับบอกที่ตังของ"บ้านหาดใหญ่" ว่า "อยู่ทางทิศใต้ของสถานีเลียบริมฝั่งคลองเตยไปทางทิศตะวันออก(ปัจจุบันคือ ถนนศรีภูวนารถ) และระบุอีกว่าก่อนปีพ.ศ.2466 มีบ้านเรือนอยู่ 9 หลังตั้งอยู่ที่หมู่ 3 บ้านหาดใหญ่ มีบ้านหลังแรกตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) สาขาศรีภูวนารถเลียบริมคลองเตย จนถึงหลังที่ 9 ซึ่งเป็นหลังสุดท้ายตั้งอยู่ปากอุโมงค์รถไฟ ถนนศรีภูวนารถปลายถนนนิพัทธ์อุทิศ 1

ย้อนมองศักยภาพของพื้นที่หาดใหญ่ในอดีตนั้น แทบจะเรียกได้ว่าหากไม่มีปัจจัยอะไรเป็นพิเศษคงยากที่จะเติบโตกลายเป็นเมือง ศูนย์กลางของภาคใต้ในปัจจุบันได้ ทั้งนี้เพราะ พื้นที่บริเวณนี้เต็มได้วย"ปลัก"และ"พรุ" เช่น   ปลักมดหนอย หรือ ปลักมดตะนอย ซึ่งจะอยู่บนถนนธรรมนูญวิถี บริเวณโรงแรมโนราห์(ในอดีต) หรือ เจ้าพระยาอาบอบนวดในปัจจุบัน ปลักขี้ใส่โพง จะอยู่บริเวณตลาดโก้งโค้ง ถนนประชาธิปัตย์ในปัจจุบัน ปลักแฉลง ซึ่งอยู่บริเวณโรงพยาบาลมิตรภาพสามัคคี(เซี่ยงตึ้ง) พรุบัว จะอยู่แถวโรงแรมโฆษิต ถนนนิพัทธ์อุทิศ 2  พรุแม่สอน"ที่อยู่ตรงข้ามกับ"ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรดาห์เทรดดิ้ง ถนนเพชรเกษมในปัจจุบัน พรุใหญ่ , พรุเล็ก ที่อยู่บริเวณหลังฟาร์มจระเข้ ถนนราษฎร์ยินดี(30 เมตร) และบริเวณโรงเรียนสุวรรณวงศ์ในปัจจุบัน

ทว่า ทันทีที่เส้นทางรถไฟได้มาถึง โดยจุดแรกคือ สถานีรถไฟอู่ตะเภา พ.ศ.2453 ก่อนที่จะย้ายมาที่สถานีรถไฟโคกเสม็จชุน หรือหาดใหญ่ในปัจจุบัน ที่ก่อนหน้านั้นมีฐานะเป็นเพียง"ป้าย"เท่านั้น ในปี พ.ศ.2467 ได้มีการทำพิธีฉลองเปิดสถานีหาดใหญ่และตลาดหาดใหญ่ที่ขุนนิพัทธ์ฯเป็นผู้ เริ่มก่อตั้งและวางผังเมืองเอง ซึ่งในสมัยนั้นมีบ้านเรือนในตลาดหาดใหญ่กว่า 100 หลังคาเรือนแล้วตลาดหาดใหญ่ได้เริ่มกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ มีการทำการค้ากันมากขึ้น ในวันที่

 25 กรกฎาคม พ.ศ.2471 ท้องที่ตลาดหาดใหญ่ได้ถูกยกฐานะให้เป็นสุขาภิบาล 

7 ธันวาคม 2478 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลหาดใหญ่

6 มีนาคม 2492 ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลเมืองหาดใหญ่

และเมื่อ ปี 2540 ก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นเทศบาลนครหาดใหญ่ ที่มีประชาชน แหล่งธุรกิจ และความเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคใต้ครบรูปแบบ จากที่เล่ามานี้ คาดว่าคำว่า"หาดใหญ่" มาจากท่าน้ำตรงปลายถนนราษฎร์เสรีตัดกับถนนสาครมงคล ซึ่งเป็นชายหาดที่คนรุ่นเก่าก่อนมีความเห็นว่ามันใหญ่ กว้างกว่าท่าไหนๆ ของคลองอู่ตะเภา

ขอบคุฯภาพข้อมูล : OKnation TV : นายชาคริต

เรื่องที่เกี่ยวข้อง