หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ทำขวัญแม่ย่า ฟื้นชีวาคลองบางกล่ำ
4 สิงหาคม 2562 | 6,378

หากเสียงประทัดดังขึ้นแตกลั่นคุ้งคลองบางกล่ำ ระหว่างนั้นจะมีหนุ่ม ๆ ฉกรรจ์ทั้งหลายช่วยกันแบกเรือแข่งสามลำลงน้ำฝีพายเร่งเข้าประจำที่สองลำ แล้วแข่งจ้ำพาย โห่ร้องไชโยสุดเสียงเอาฤกษ์เอาชัย เรือแหวกผืนน้ำฉิทั้งขึ้นและล่องคลองอยู่หลายเที่ยว ถ้าบางคนที่ไม่เคยเห็นอาจจะเรียกว่ากาดเรือหรือเซ่นเรือ แต่นี่ไม่ใช่การทำขวัญ การเซ่นเรือที่ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมพื้น ๆ แบบการเซ่นไหว้เจ้าที่มักจะทำในโอกาสเอาเรืออกแข่ง โดยมีคำบอกเล่าว่าการทำขวัญเรือเป็นเพียงตำนาน จึงอยากจะฟื้นฟู อย่างน้อยก็จะได้เป็นตัวอย่างที่ท้องถิ่นจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ จะปลุกกระแสฟื้นอดีตสืบสานประเพณีทำให้รักบ้านเกิดเมืองนอน เกิดความสามัคคีในหมู่คณะได้มากกว่านี้

พิธีทำขวัญเรือจะเริ่มต้นโดยประมาณ 9 โมงบริเวณใต้ร่มไม้ ริมท่าน้ำในอำเภอบางกล่ำ หรือวัดชลธาราวาสเราจะมองเห็นเรือสามลำวางสง่าอยู่บนคาน บนโต๊ะเต็มไปด้วยเครื่องสังเวยเครื่องบูชาอย่างครบถ้วน ดอกไม้ ชุดบายศรี ผลไม้หลายอย่างวางอยู่บนพาน มะพร้าว สับปะรด ส้มโอ แก้วมังกร ต่างๆ  อาหารคาวเช่นหัวหมู เป็ด ไก่ ปู ปลา ขนมหวานเป็นต้น และทำการโยงสายสิญจน์ไปหัวเรือผูกด้วยผ้าสีน้ำเงิน เหลือง แดง วางดอกไม้ น้ำ เหล้าโรง พร้อมทั้งจุดธูป 5 ดอกบูชาแม่ย่านาง

จากการค้นคว้าทำให้ทราบว่าการสร้างเรือครั้งแรกเกิดที่อินเดีย  เรื่องโดยสังเขป มีอยู่ว่าในสมัยพระเจ้าพรหมทัต ก่อนพุทธกาล  ปรากฏว่ามีธิดาของกษัตริย์ราชวงศ์หนึ่ง ผู้ตั้งจิตอธิษฐานเอาไว้แต่ต้นว่าเมื่อใดสิ้นชีวิตลง เมื่อนำศพพระนางไปพระราชทานเพลิงตรงไหนให้บังเกิดเป็นต้นไม้ขึ้นมาสักต้น ที่นำไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะมนุษย์ทั่วโลกยามนั้นไม่สะดวกในเรื่องยานพาหนะเดินทางพระธิดาเกิดรักใคร่ชอบพอกับคนใช้ในวัง จนต้องหนีออกจากวังไปอยู่ด้วยกันฉันท์สองสามีภรรยากลางป่า อยู่มาวันหนึ่งพระธิดาถูกนายพรานยิงด้วยลูกธนูอาบยาพิษขณะออกไปตักน้ำริมคลองจนสิ้นใจ

ฝ่ายสามีคอยอยู่ไม่เห็นกลับมาตามไปก็พบว่าสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ฝังเอาไว้ริมคลอง  บริเวณนั้นได้เกิดต้นตะเคียนทอง ตามแรงอธิษฐานและเทพบันดาลครั้นพระเจ้าพรหมทัตต้องการสร้างเรือ พระที่นั่ง ได้พบไม้ตะเคียนทองมีสัญญาณเทวดา  ก็ให้ทหารมุ่งหน้ามาถึงต้นตะเคียนทองต้นแรกนั้น ตัดมาเป็นท่อนมาให้นายช่างต่อเรือส่วนที่เหลือนำมาเป็นส่วนประกอบต่างๆในลำเรือ  นับเป็นเรือลำแรกของโลก  ตะเคียนทองนั้นนับเป็นแม่นางเรือรี  แม่ย่านางเรือ อันศักดิ์สิทธิ์ ที่นับถือของชาวเรือมาจนปัจจุบันแม้จะมีการใช้ไม้ชนิดอื่นมาทำเรือก็ตาม

มีความเชื่อเกี่ยวข้องกับเรืออยู่มากทีเดียว อยู่ในวิถีชุมชนริมน้ำทุกวันนี้ ก่อนออกเรือจะต้องทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางให้แคล้วคลาดจากอันตราย และสิ่งเลวร้ายทั้งปวง และขอให้ประสบความสำเร็จในกิจการของตน มีโชคมีลาภ เจ้าของเรือต้องจัดเตรียมเครื่องเซ่นไหว้วางไว้ที่หัวเรือ นำผ้า 3 สี หรือ 5 สี ผูกที่โขนเรือ หรือแขวนพวงมาลัยที่โขนเรือ ส่วนดอกไม้ช่อใหญ่สอดไว้ด้านบนของผ้าที่ผูกหัวโขนเรือ  ต่อจากนั้นจุดธูป กล่าวคำบูชาแม่ย่านาง ว่า "ขอเชิญแม่นางเรือรี แม่ศรีคงคา แม่ศรีตะเคียนทอง สิ่งสถิตทั้งหลายที่สถิต ณ เรือนี้ เชิญมาสู่เรือวันนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลให้คุ้มครองเรือให้ปลอดภัยหรือโอมแม่ย่านางตัวแม่ชาติโรชาติลูกขอเชิญแม่ย่านางจงคุ้มครองให้ลูกผู้ร่วมมาด้วยให้ปลอดภัยตลอดทั้งวันด้วยเถิดสาธุ จุดธูปปักบนโขนเรือจากนั้นจึงจะเคลื่อนเรือออกพร้อมจุดประทัด เรือออกจากท่ารอจนกว่าธูปหมดจึงลาของไหว้

เชื่อกันว่าแม่ย่านางศักดิ์สิทธิ์ เจ้าของเรือและผู้ร่วมงานจึงต้องปฏิบัติอย่างเคารพหลายประการ เช่น  ทุกครั้งที่ออกเรือต้องทำพิธีกรรม  ,ก่อนนำเรือลงจากคานหรือทำบุญในโอกาสต่างๆ ควรเปลี่ยนเครื่องสำอางของแม่ย่านาง,สีผ้าที่ผูกโขนเรือ ต้องถูกใจแม่ย่านาง ต้องดูแลหัวเรือให้สะอาด เชื่อว่าแม่ย่านางเป็นผู้หญิงรักความสะอาด ,เมื่อนำเรือออกไปถึงเวลารับประทานอาหาร ต้องจัดอาหาร 1 ชุด พร้อมน้ำ 1 แก้วเซ่นไหว้แม่ย่านาง และการซ่อมเรือต้องบอกกล่าวแม่ย่านางหมอประกอบพิธีนำฝีพายเข้าสู่พิธีสร้างขวัญกำลังใจเป็นการเฉพาะ  นับช่วงเวลาเตรียมตัวฝึกซ้อมสำหรับพวกเขาเพื่อวัดฝีมือกับคู่แข่งต่างหมู่บ้านอีกครั้งในอีกสองเดือนข้างหน้า  หลังเลิกเรียน เสร็จภารกิจของงาน ทุกวันเด็กหนุ่มเหล่านี้ต้องมาลงฝีพายพร้อมกันด้วยระยะทางราว 10 กิโลเมตร  หลายคนในทีมเคยได้รับการคัดเลือกไปแข่งในนามจังหวัดสงขลามาแล้ว 

หมอผู้ประกอบพิธีสร้างขวัญเพื่อชัยชนะพร้อมกับให้พรผู้เข้าร่วมพิธีทั้งหลาย  ประพรมน้ำมนต์ แจกจ่ายแป้ง ลาของไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลก่อนได้เวลาจุดประทัด ฝีพายแบกเรือลงน้ำ ล่าหลังพิธีกรรมว่าในพิธีทำขวัญเรือจะเชิญเทวดาอารักษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆมาช่วยคุ้มครองป้องกัน  เรือมีความสำคัญ เพราะการจะเป็นเรือลำหนึ่ง มีส่วนประกอบมากมาย ทั้งสิ่งที่จะนำมาสร้าง นายช่างผู้มีความสามารถในศิลปะการต่อเรือ  มีภูมิปัญญาของช่าง คนกับเรือแยกกันไม่ออก เพราะเกี่ยวกับการเดินทางและอาชีพคนที่อยู่ใกล้น้ำต้องมีเรือกันทั้งนั้น  แม้แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยยังให้ความสำคัญจะเห็นได้จากพิธีเสด็จทางชลมารค และการอุปถัมภ์ประเพณีแข่งเรือในที่ต่าง ๆ มาโดยตลอด ชาวบ้านจึงควรอนุรักษ์สิ่งนี้ไว้จะทิ้งเสียไม่ได้

ขอบคุณข้อมูลรูปภาพ : สงขลาสร้างสุข

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง