หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สิงหนคร | ประเพณีแต่งงานกับต้นไม้ (ทวดม่วงทอง หรือแม่ม่วงทอง)
17 พฤษภาคม 2562 | 9,359

ประวัติความเป็นมาของประเพณีนี้มีเรื่องเล่าอยู่หลากหลายเรื่องราววันนี้ผมจะหยิบยกมาเล่าให้ฟังสองเรื่องราว 

เรื่องราวแรก 

มีธิดาเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชโดนจับตัวมาเพื่อปล้นชิงทรัพย์และถูกฆ่าตาย ศพถูกซ่อนอยู่ในโพรงมะม่วงใหญ่ ต่อมาได้มีต่อมาได้แสดงปาฏิหาริย์ต่าง ๆ จนชาวบ้านเกิดความศรัทธา นับถือ และเริ่มมีการบนบานเพื่อของสิ่งต่างๆ ตามประสงค์ อีกทั้งในสมัยก่อนยังมีความเชื่อเรื่องการนับถือ “พ่อแม่ตายาย” หรือบรรพบุรุษ จึงเรียกว่า แม่ม่วงทอง หรือทวดม่วงทอง  

เรื่องราวที่สอง 

นางไม้ตอนที่ยังมีชีวิตนั้นมีพื้นเพอยู่บริเวณวัดมะม่วงหมู่ เป็นลูกสาวของย่าจันทร์ กับ ตาเจิม ซึ่งเรียนกันว่า พ่อเจ้า แม่เจ้า ไม่ได้แต่งงาน จึงถวายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเป็นที่สร้างวัด เมื่อตายไปก็ปรากฏให้ชาวบ้านเห็นบ้าง เข้าฝันชาวบ้านว่าตนเองอยู่ที่ต้นมะม่วงดังกล่าวบ้าง เมื่อชาวบ้านเกิดความเชื่อจึงมีการบนบานศาลกล่าวยามที่ตัวเองประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ หรือความเดือดร้อนจากสาเหตุต่าง ๆ เมื่อสำเร็จตามวัตถุประสงค์ก็มีการนับถือต่อกันมา และมีพิธีกรรมบวงสรวงถึงปัจจุบัน 

ความเชื่อเกี่ยวกับการแต่งงานกับต้นไม้ของเช้าบ้าน คือ แม่ม่วงทองเป็นที่เคารพนับถือต่อชาวบ้านและผู้คนระแวกนั้น ชาวบ้านจึงมักจะนำเด็ก ๆ หรือลูกหลานยกให้แม่ม่วงทองดูแล มีตั้งแต่เกิดบ้าง รอหรือให้โตก่อนบ้างจึงค่อยยกให้ อีกทั้งเวลาเด็กๆหรือลูกหลานไม่สบายก็จะมาขอแม่ม่วงทองให้หายจากอาการป่วยหรือโรคที่เป็นอยู่ 

ต่อมาความเชื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปจากการไหว้และยกลูกให้ “แม่ม่วงทอง” เป็นการแต่งงานยกลูกหลานให้โดยเจ้าบ่าวจะต้องเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนหรือลูกชายคนโตของตระกูล ที่เคารพนับถือแม่ม่วงทอง ก่อนที่จะบวช หรือ แต่งงาน โดยพิธีนี้จะจัดช่วงเดือน 6 จนไปสิ้นวันสุดท้ายของเดือน 8 โดยพิธีจะจัดช่วงเวลา เช้าถึงเที่ยง และจะต้องจัดแค่วันเสาร์และวันอังคาร เท่านั้น  

 

การยกขันหมากจะกระทำกันในวันรุ่งขึ้น ซึ่งวันดังกล่าวก็จะตรงกับวันเสาร์หรือวันอังคารที่ไม่ใช่วันพระ โดยเจ้าพิธีจะให้คนช่วยแต่งตัวให้เจ้าบ่าว ซึ่งจะอยู่ในชุดนุ่งโจงกระเบนเสื้อเชิ้ตแขนยาว สวมรองเท้าหนังโดยมีถุงเท้าสีขาวยางถึงหัวเข่า นอกจากนั้นยังมีอาวุธพกประจำตัวของเจ้าบ่าวคือ กริช จะเหน็บไว้บริเวณชายพกผ้าค่อนมาทางด้านหน้า 

ผู้ทำหน้าที่หลักในหลาแม่ทวดมีด้วยกัน ๒ คน คือ หมอทำพิธี และเจ้าพิธี ทั้งสองคนจะทำหน้าที่แตกต่างกัน เจ้าพิธีทำหน้าที่ในการนำเครื่องสักการบูชา บูชาต่อแม่ทวด และนำเครื่องเซ่น เซ่นสรวงต่อแม่ทวดตลอดถึงการเซ่นของเหลือเดนเหลือชานให้กับบริวารของแม่ทวดกิน ส่วนหมอทำพิธีจะทำหน้าที่ในการนำเจ้าบ่าวและกลุ่มเครือญาติไหว้พระ จากนั้นก็อันเชิญเทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดถึงแม่ทวดเพื่อมารับทราบการประกอบพิธีกรรม สุดท้ายก็จะนำเจ้าบ่าวกราบเสื่อกราบหมอน 

เมื่อเจ้าพิธีรับขันหมากจากมือสาวพรหมจรรย์ จะนำมาวางไว้ตามลำดับความสำคัญของขันหมากอย่างเป็นระเบียบ เจ้าพิธีแก้ห่อขันหมากทุกขันออก แล้วนำเทียนที่แบ่งจากขันหมากเทียนเล็กจุดตามไว้ในภาชนะขันหมากทุกขัน โดยเจ้าพิธีได้กล่าวถึงเหตุผลในการต้องจุดเทียนในขันหมากทุกขัน เพื่อให้เขา (แม่ทวดม่วงทอง) เห็นว่าขันหมากที่จัดมามีความถูกต้องหรือไม่ นี้เป็นหน้าที่เริ่มต้นของเจ้าพิธี 

ส่วนหมอทำพิธีก็จะเริ่มหน้าที่ของตนด้วยการปูสาดใหม่ ผ้านวม และผ้าขาวให้เจ้าบ่าวนั่ง และวางหมอนใหม่ไว้หน้าเจ้าบ่าว เจ้าบ่าวจุดธูปเทียนหน้าแท่นบูชารูปปั้นขนาดเท่าคนจริงของแม่ทวด นำผู้ร่วมพิธีไหว้พระ เริ่มจากบท นโม สามจบพร้อมกันแล้วกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแบบย่อ และคำอันเชิญเทวดาดังที่กล่าวแล้ว จากนั้นเจ้าพิธีจะนำเครื่องเซ่น เซ่นสรวงต่อแม่ทวดม่วงทอง และกล่าวเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาร่วมในพิธี ในขณะเดียวกัน หมอจะนำให้เจ้าบ่าวกราบเสื่อ กราบหมอน 

เมื่อหมอทำพิธีในช่วงแรกเสร็จสิ้นลง คือการนำผู้มาร่วมในพิธีกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย กล่าวคำอัญเชิญเทวดา และกล่าวออกชื่อของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่นับถือของคนในชุมชน ที่สำคัญกล่าวเชิญแม่ทวดม่วงทองมาเป็นประธานในการประกอบพีธีกรรมในครั้งนี้แล้ว ลำดับต่อไปหมอทำพิธีจะให้เจ้าบ่าว กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเริ่มด้วยให้เจ้าบ่าวกราบลงสามครั้งแล้วกล่าว นโม สามจบต่อจากนั้นกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยแบบย่อดังที่กล่าวแล้ว โดยหมอจะเป็นผู้กล่าวนำให้เจ้าบ่าวกล่าวตาม 

 

ในขณะที่หมอให้เจ้าบ่าวกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยอยู่นั้น หมอจะเตรียมของเพื่อให้เข้าบ่าวกราบเสื่อ กราบหมอนไปด้วย ของที่เตรียมจะมีด้วยกัน ๔ อย่าง คือ พลู ๓ ใบ หมาก ๓ ชิ้น ดอกไม้ ๓ ดอก ซึ่งดอกไม้จะเป็นดอกอะไรก็ได้ เช่น ดอกเข็ม ดอกบานไม่รู้โรย หรือดอกไม้ชนิดอื่น ๆ และของอีกอย่างหนึ่งคือเหรียญบาทจำนวน ๓ เหรียญ หมอทำพิธีจะแบ่งของทั้ง ๔ อย่างออกเป็น ๓ กอง จำนวนเท่ากัน ซึ่งกองหนึ่งประกอบด้วยใบพลูหนึ่งใบ หมากหนึ่งคำ ดอกไม้หนึ่งดอก และเหรียญบาทหนึ่งเหรียญ วางไว้บนหมอนหน้าเจ้าบ่าว 

เมื่อเจ้าบ่าวกล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย และหมอเตรียมของเรียบร้อยแล้ว หมอทำพิธีจะให้เจ้าบ่าวใช้มือขวากวาดของกองซ้ายมือของเจ้าบ่าวลงข้างหมอน โดยจะต้องกล่าวคำว่า พุทธัง วันทามิ ก่อนแล้วจึงกวาด จากนั้นก็ใช้มือขวาเช่นกัน กวาดกองขวามือของเจ้าบ่าวลงข้างหมอน โดยต้องกล่าวคำว่า ธัมมัง วันทามิ ก่อนเช่นกัน สุดท้ายก็จะเหลือกองที่อยู่กลาง หมอทำพิธีจะให้เจ้าบ่าวกล่าวคำว่า สังฆัง วันทามิ แล้วก็กอบกองที่อยู่ตรงกลางนั้นไปใส่ไว้ในเชี่ยนของเจ้าบ่าว พร้อมกล่าวว่า ของที่กอบไปใส่เชี่ยนนั้นเป็นของมงคลต่อตัวเจ้าบ่าวให้นำไปเก็บไว้ ในขั้นตอนนี้หมอบางรายจะให้กวาดของอื่น ๆ ลงข้างหมอนให้หมดจะเหลือเฉพาะเหรียญ เพื่อให้เจ้าบ่าวนำเหรียญไปเป็นขวัญถุง มีความหมายในทำนองว่า เป็นของมงคลให้ทำมาหากินไม่ฝืดเคือง 

เมื่อผ่านขั้นตอนการกราบเสื่อกราบหมอนของเจ้าบ่าว หมอทำพิธีก็จะกล่าวบอกให้แม่ทวดทราบว่า “การประกอบพิธีกรรมการแต่งงานกับนางไม้ของเจ้าบ่าวรายนี้ ก็ด้วยเหตุที่เจ้าบ่าวได้กระทำสืบทอดกันมาตามเชื้อสาย ทำกันมาเป็นกกเป็นโหมฺกระทำสืบต่อกันมาแต่โบราณ” หรือหากถ้าการประกอบพิธีกรรมการแต่งงานกับนางไม้ไม่ใช่การทำสืบทอดกันมาตามเชื้อสาย ก็จะกล่าวว่า “การแต่งงานในครั้งนี้ ก็ด้วยสาเหตุที่ได้บนบานเอาไว้ ขอให้หลุดเหฺมฺรยเสีย” คำกล่าวของหมอทำพิธีเป็นที่ได้ยินกันทั่วในกลุ่มผู้อยู่ร่วมในพิธีกรรม ถึงแม้จะมีเจตนาจะบอกกล่าวต่อแม่ทวดโดยตรงก็ตาม  

ช่วงสุดท้ายของพิธี หมอทำพิธี เจ้าพิธี พ่อแม่และกลุ่มเครือญาติของเจ้าบ่าว จะร่วมกันให้พรแกเจ้าบ่าว และทำพิธีชำระตัวเจ้าบ่าวให้บริสุทธิ์ การทำอาหารเลี้ยงผู้มาร่วมพิธีกรรมที่บ้านเจ้าสาว และการแบ่งเครื่องขันหมากทั้งหมดหลังจากทำพิธีบูชาเซ่นสรวงเสร็จแล้วให้แก่ผู้ถือขันหมากและผู้ที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนของพิธีกรรมที่นำมากล่าวในช่วงสุดท้ายนี้เป็นพิธีกรรมที่กลุ่มคนทั้งสามเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลักจึงกล่าวรวมกันในที่นี้ 

การให้พรแกเจ้าบ่าว ผู้นำในการทำหน้าที่หลักคือหมอทำพิธี จะทำหลังจากที่เจ้าพิธีทำหน้าที่ของตนเสร็จแล้ว ส่วนหน้าที่หลักของหมอทำพิธีก็จบสิ้นลงเช่นกัน การให้พรแก่เจ้าบ่าวผู้ที่ร่วมให้พรมีทุกฝ่ายคือหมอทำพิธี เจ้าพิธี กลุ่มเครือญาติรวมถึงพ่อแม่ของเจ้าบ่าวด้วย ซึ่งหมอทำพิธีก็จะนำดอกไม้ที่ผ่านการสักการบูชาต่อแม่ทวดแล้ว ซึ่งจะอยู่ในขันหมาก ขันดอกไม้ มาแจกจ่ายให้กับทุกคนในพิธีกรรม หมอทำพีจะสวดบทให้พรซึ่งเป็นบทเดียวกับบทสวดให้พรของพระคือบทสวด ชยันโต นั่นเอง โดยผู้เข้าร่วมพิธีกรรมส่วนใหญ่สามารถที่จะร่วมสวดได้ หมอทำพิธีบางคนก็จะสวดบทอื่น ๆ ด้วยซึ่งจะนำบทสวดดังกล่าวนั้นมาจาก บทสวดอนุโมทนาทานกถา ของพระบทใดบทหนึ่งนอกจากบทสวด ชยันโต...ดังที่กล่าวแล้ว แต่บทสวดที่ปรากฏเป็นหลักคือ บทสวด ชยันโต เพียงบทเดียว 

ขอบคุณข้อมูล : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสงขลา 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง