หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สทิงพระ | 1,211 ปี เขาคูหา ถ้ำขุดโบราณ หนึ่งเดียวในประเทศไทย
12 ธันวาคม 2561 | 17,794

ครั้งหนึ่งหาดใหญ่โฟกัสเคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสงขลา ที่มีมาก่อนยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รวบรวมสถานที่ที่มีมาก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดสงขลามาพูดคุยกัน วันนี้หาดใหญ่โฟกัสจะพาเยี่ยมชมหนึ่งในชุมชนโบราณของจังหวัดสงขลา เขาคูหา ถ้ำขุดโบราณ ที่มีหนึ่งเดียวในประเทศไทย มีอายุกว่า 1200 ปี (ในปี 2561 เขาคูหา ถ้ำขุดโบราณมีอายุ 1,211 ปี)  ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 และ 6 ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  

 เขาคูหาหรือถ้ำคูหาเป็นถ้ำธรรมชาติที่มีการตัดแปลงโดยฝีมือมนุษย์ มี 2 ถ้ำ จุดประสงค์เพื่อใช้เป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ตัวถ้ำวางตัวตามแนวทิศเหนือหันหน้าไปทางทิศตะวันออกทั้ง 2 ถ้ำ ปากถ้ำทั้ง 2 ห่างกันประมาณ 5-10 เมตร และมีร่องรอยของอาคารที่ใช้ประกอบพิธีกรรมบริเวณลานหน้าถ้ำ ถ้ำเขาคูหาปรากฏอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาคือกัลปนาเมืองพัทลุงความว่า "ในที่วัดหลวงนั้นมีภูเขา 4 ลูก ในที่วัดหลวง เขาหนึ่งชื่ออภิพัชสิง เขาหนึ่งชื่อเขาพนังตุ๊กแกอยู่ข้างทักษิณ เขาหนึ่งชื่อเขาคูหาอยู่ข้างอุดร เขาหนึ่งเล่าชื่อเขาผีอยู่ข้างพายัพ" ซึ่งข้อความนี้อยู่ในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา

นอกจากนี้แล้วเขาคูหายังปรากฏนามว่า "เขาโคหา" ในแผนที่กัลปนาในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2148 - 2163) ชื่อแผนที่เมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ.977 (พ.ศ.2158) เล่ม 3 ปัจจุบันเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี แผนที่นี้แสดงถึงวัดและสถานที่สำคัญต่าง ๆ ประมาณ 150 แห่ง ตั้งที่พื้นที่เขตอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีฯ จนถึงอำเภอเมือง จังหวดัสงขลา ในปัจจุบันแผนที่นี้แสดงรูปภาพเขาคูหา ซึ่งอยู่ใกล้กับพังพระและติดกับนาพระเดิม 15 ท่อน และนาพระทัมสาลา 11 ท่อน โดยมีคลองชายเลนไหลมาทางเขาคูหาห่างจากวัดพะโค๊ะไปทางทิศเหนือราว 800 เมตร จะพบกับสถานที่สำคัญอีกแห่งของประวัติศาสตร์เมืองสงขลา นั่นคือศาสนสถานโบราณเก่าแก่ อายุกว่า 1,000 ปี สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ช่วงอาณาจักรศรีวิชัย และบริเวณศาสนสถานแห่งนี้ถือได้ว่าเป็นสถานที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสงขลา ศาสนสถานแห่งนี้ คือ ถ้ำคูหาหรือเขาคูหา ส่วนความเก่าแก่ที่ว่านี้สันนิษฐานได้จากหลักฐานที่พบตรงบริเวณเนินเขาคูหา ที่มีลักษณะเป็นเนินเขาลาดชันบริเวณทางเข้าของถ้ำที่ 1 เป็นรูปโค้งสูงประมาณ 2.5 เมตร ขนาดของถ้ำกว้างประมาณ 3.5 เมตร ลึกประมาณ 4.5 เมตร ภายในถ้ำมีการสกัดหินจนเรียบ พื้นที่ภายในถ้ำบรรจุคนได้ถึง 20 คน และบนลานหน้าถ้ำบรรจุคนได้ไม่น้อยกว่า 50 คน ส่วนถ้ำที่ 2 มีลักษณะและสัดส่วนคล้ายคลึงกับถ้ำที่ 1 

ถ้ำคูหาเป็นศาสนสถานเพื่อประกอบพิธีกรรมพุทธศาสนามหายานและศาสนาฮินดู เหมือนกับถ้ำอะชันตะและเอลโลรา ในประเทศอินเดีย ซึ่งขุดเจาะภูเขาเข้าไปสลักหินและเขียนภาพเรื่องราวทางศาสนา ซึ่งไม่เคยพบถ้ำลักษณะนี้ในประเทศไทย สัณนิษฐานได้ว่าถ้ำคูหามีอายุระหว่างพุทธศตวรรษ ที่ 12-15 เป็นชุมชนโบราณสมัยประวัติศาสตร์ของภาคใต้ เขาคูหาเป็นเขาหินปูนภายในถ้ำสลักอักษร อะ อุ มะ หรือโอม อันหมายถึงพระศิวะ พระพรหม และพระวิษณุ (พระนารายณ์) ซึ่งแสดงว่าพื้นที่ของคาบสมุทรสทิ้งพระของจังหวัดสงขลาเป็นสถานที่รุ่งเรืองทางศาสนาฮินดูมาก่อน

จากการสำรวจตามโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดีและโบราณสถานภาคใต้ ปี พ.ศ. 2523 ของกรมศิลปากร ได้พบหลักฐานสำคัญว่าบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนโบราณเริ่มแรกสมัยประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องต่อมาจนถึงสมัยอยุธยา บริเวณแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยปรากฏชื่อเอกสารหลักฐานเอกสารโบราณคดีแผนที่ภาพสมัยอยุธยาแสดงชื่อวัดต่าง ๆ ที่ขึ้นต่อวัดพะโคะ กัลปนาเมืองพัทลุงและเพลาเมืองสทิงพระ ได้กล่าวถึงชื่อภูเขาโคหาย (โคหาหรือคูหา) จากหลักฐานที่ปรากฏในอาณาบริเวณนี้แสดงให้เห็นว่าในสมัยเริ่มประวัติศาสตร์ กลุ่มชนบนภูเขาคูหาได้รับอิทธิพลสมัยประวัติศาสตร์จากภายนอก และได้สร้างศาสนสถานตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูขึ้นบริเวณเขาคูหา และน่าจะเป็นศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย หรือการนับถือพระศิวะเป็นใหญ่ ตามหลักฐานที่ปรากฏ คือศิวลึงค์และแท่นฐานเสียบศิวลึงค์ และพระอคัตยะ (ปัจจุบันได้เคลื่อนย้ายไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา) ซึ่งเป็นเทพเจ้าปางหนึ่งของพระศิวะที่เสวยพระชาติเป็นพระเทพครู เป็นเทพเจ้าที่นำอารยธรรมต่าง ๆ มาสู่อินเดียใต้ตามลัทธิไศวนิกาย ถ้ำคูหาถือเป็นหลักฐานสำคัญทางศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดของการตั้งชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์บนคาบสมุทรสทิงพระที่เหลือหลักฐานถึงปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่บ้านชุมพล ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

เขาคูหาเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของภาคใต้ ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมตามคติศาสนาฮินดูที่มีลักษณะพิเศษ คือ การขุดเขาเข้าไปในโพรงถ้ำและขุดเจาะทำเป็นแท่งบูชาภายใน และบนผนังภายในถ้ำมีการเขียนสีภาพสัญลักษณ์ทางศาสนาไว้ภายใน เขาคูหาประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 116 ตอนพิเศษ 17ง ลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 หน้า 13 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 27 ไร่ 57 ตารางวา  

 

โบราณสถานที่สำคัญได้แก่ เขาคูหา เป็นศาสนาสถานในศาสนาฮินดูที่เก่าแก่ที่สุดของภาคใต้ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดียเรียกว่า “ถ้ำวิหาร” กล่าวคือการขุดเข้าไปในภูเขาเป็นห้องสี่เหลี่ยมเพดานโค้งประกอบด้วย ถ้ำทิศเหนือและถ้ำทิศใต้  

ถ้ำทิศเหนือ มีแท่นประดิษฐานรูปเคารพอยู่ภายใน ที่ผนังถ้ำสกัดเป็นร่องเสียบผนังด้านทิศเหนือ สันนิษฐานว่าเป็นร่องน้ำ เพื่อรองรับน้ำศักดิ์สิทธิ์ในการประกอบพิธีกรรมออกสู่ภายนอกถ้ำด้านหน้า ถ้ำมีร่องรอยของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สันนิษฐานว่าเป็นอาคารโม้มุงกระเบื้องดินเผา  

ถ้ำทิศใต้ ที่ผนังด้านในภาพเขียนสี เชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของคำว่า “โอม” ย่อมาจาก อะ อุ มะ หมายถึงเทพในศาสนาฮินดู 3 องค์ คือ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม  

สำหรับใครที่อยากไปสัมผัสชุมชนโบราณเขาคูหา ตำบลชุมพล อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือไปตามแมพที่ให้ไว้ได้เลย 

ขอบคุณข้อมูล : สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม , ประเพณีไทยดอทคอม , ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง