หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | คฤหาสน์ส่วนตัวของตระกูล ณ สงขลา สู่อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
4 ตุลาคม 2561 | 19,170

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2421 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สร้างโดยพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา เพื่อเป็น คฤหาสน์ส่วนตัวของตระกูล ณ สงขลา

ภายหลังในปี พ.ศ. 2539 มีการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ได้มีการจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช โดยมีศูนย์บัญชาการอยู่ที่เมืองสงขลา ตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลาได้ถูกลดบทบาทลงเป็นผู้ว่าราชการเมือง และให้ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการมณฑล

จากการปฏิรูปการปกครองดังกล่าว พระวิจิตรวรสาสน์ หรือพระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา เมืองพัทลุง และเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑล จึงได้ติดต่อขอซื้ออาคารเก๋งจีนจากพระอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา)
บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ ในราคา 28,000 บาท เพื่อใช้เป็น ศาลและศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช
ระหว่าง พ.ศ. 2439 – 2460

ต่อมาในพุทธศักราช 2460 ได้มีการเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ให้ใช้คำว่า จังหวัด แทนเมือง ชื่อเมืองสงขลาจึงเปลี่ยนเป็นจังหวัดสงขลา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเปลี่ยนเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ยังขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช และภายหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2476 จังหวัดสงขลาจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย อาคารหลังนี้ยังคงใช้งานต่อเนื่องเป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2496 ได้มีการย้ายศาลากลางจังหวัดสงขลาไปอยู่ ณ ถนนราชดำเนิน อาคารหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างอยู่หลายปี กระทั่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2516 หลังจากนั้นก็ได้ทำการบูรณะปรับปรุงจนแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2520 และได้รวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ในเขตพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเพื่อเปิดเป็น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาโดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูล ในหลวงรัชการที่ 10 เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525

สถาปัตยกรรม
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรป เป็นตึกก่ออิฐสอปูน 2 ชั้น บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหน้าสู่ทะเลสาบสงขลา ลักษณะตัวบ้านเป็นเรือนหมู่ 4 หลัง เชื่อมติดต่อกันด้วยระเบียงทางเดิน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่ง ซึ่งเป็นลักษณะดังกล่าวเป็นการวางผังที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมจีนทางตอนใต้ โดยเรียกการวางผังแบบเรือนหมู่ว่า “ซื่อเหอย่วน” หรือ “สี่เรือนล้อมลาน” คือมีลักษณะเป็นอาคารสี่หลังล้อมลานกลางบ้าน นับเป็นแบบแผนที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมจีน

ชั้นบนมีห้องยาวใช้ประตูบานเฟี้ยมแกะสลักภาพวรรณกรรมจีนสลับลายพรรณพฤกษา ส่วนหัวเสาชั้นบนของอาคารมีภาพปูนปั้นนูนต่ำเขียนสีเป็นภาพเทพเจ้าจีน ภายในห้องด้านทิศเหนือและทิศใต้มีการติดเครื่องหมายหยินหยางและยันต์แปดทิศบริเวณขื่อเพื่อป้องกันภยันอันตรายต่าง ๆ ตามคตินิยมของชาวจีน หลังคาเป็นทรงเก๋งจีน มุงกระเบื้องกาบกล้วย ภายนอกอาคารที่หน้าจั่วมีภาพปูนปั้นเทพเจ้าจีนและลวดลายพรรณพฤกษา

ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ทำให้รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจีนเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมในเมืองสงขลา เนื่องจากชาวเมืองส่วนหนึ่งเป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองสงขลาบ่อยางตั้งแต่เริ่มสร้างเมือง และเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามการเติบโตของเมืองสงขลา ชาวจีนเหล่านั้นได้นำแนวคิดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในการสร้างที่พักอาศัยตามแบบอย่างประเทศจีนมาสร้างในเมืองสงขลา

การจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ศิลปะวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของจังหวัดสงขลาและจังหวัดใกล้เคียง โดยเน้นหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังรวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 14 ส่วน ดังนี้

ห้องที่ 1 วิถีชีวิตสงขลา
“โหนด – นา – เล” คือวิถีชีวิตของชาวสงขลา ซึ่งผูกพันอยู่กับชีวิตประจำวันของคนในแถบนี้ โดยที่ “โหนด” คือการใช้ประโยชน์จาก ตาลโตนด “นา”คือการปลูกข้าว และ “เล” คือการทำประมงสองทะเล ทั้งทะเลสาบและทะเลฝั่งอ่าวไทย

ห้องที่ 2 ภูมิลักษณ์คาบสมุทรสงขลา
สงขลาตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู จึงเป็นทางผ่านของพ่อค้าต่างชาติมาตั้งแต่อดีตและพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญในเวลาต่อมา

ห้องที่ 3 สงขลายุคก่อนประวัติศาสตร์
การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในจังหวัดสงขลา เริ่มตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว โดยกลุ่มคนแรกเริ่มมีวิถีชีวิตแบบหาของป่า-ล่าสัตว์ ภายหลังจึงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูก และจับสัตว์น้ำ

ห้องที่ 4 ประวัติศาสตร์แรกเริ่มบนคาบสมุทรสทิงพระ คาบสมุทรสทิงพระ รับอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อจากการติดต่อกับชุมชนภายนอกมาตั้งแต่ราว พุทธศตวรรษที่ 12 มีชุมชนเมืองท่าที่สำคัญคือชุมชนโบราณปะโอ ในเขตอำเภอสิงหนคร โดยเป็นแหล่งผลิตและส่งออกภาชนะดินเผาไปขายในชุมชนอื่นๆ

ห้องที่ 5 สงขลาหัวเขาแดง
สงขลาหัวเขาแดง เป็นเมืองท่าทางการค้าที่สำคัญตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ภายใต้นโนบายการค้าเสรีของผู้ปกครองเชื้อสายมุสลิม กระตุ้นให้ธุรกิจการค้าคึกคักกว่าที่เคยเป็น

ห้องที่ 6 สงขลาแหลมสน
หลังจากสงขลาหัวเขาแดงถูกทำลายลงโดยกองทัพอยุธยา ได้มีการตั้งชุมชนใหม่ทางปลายสุดของคาบสมุทรสทิงพระ เรียกว่า สงขลาฝั่งแหลมสน มีชาวจีนนามว่า “เฮาเหยียง”ต้นตระกูล ณ สงขลา พัฒนาเมืองให้เจริญขึ้นอย่างมาก

ห้องที่ 7 สงขลาบ่อยาง
สงขลาบ่อยาง ภายใต้การนำของผู้ปกครองเชื้อสายจีนได้รับเอาอิทธิพล ศิลปะวิทยาการใหม่ๆ จากจีน ฮ่องกง ปีนัง และสิงคโปร์มาเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง

ห้องที่ 8 ความสัมพันธ์ทางการค้ากับต่างประเทศ
ชื่อเมืองสงขลา ปรากฏขึ้นในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับระหว่างปี พ.ศ. 1993 ถึง 2093 ในนาม “ซิงกูร์”หรือ “ซิงกอรา” มีบทบาท สำคัญในระบบการค้าโลกมาแต่โบราณ
โดยเฉพาะการค้ากับฮอลันดา อังกฤษ และฝรั่งเศส

ห้องที่ 9 บันทึกสงขลา
ศิลปวัตถุของผู้ปกครองเมืองสงขลา เป็นหนึ่งในหลักฐานที่สะท้อนถึงการปกครอง 3 ช่วงเวลา คือ สงขลาภายใต้การนำของผู้ปกครองเชื้อสายมุสลิม (สงขลาหัวเขาแดง) สงขลาภายใต้ปกครองของชาวจีน (สงขลาแหลมสนและสงขลาบ่อยาง) และ สงขลาภายหลังปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งมีการปรับบทบาทของเจ้าเมืองให้เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา

ห้องที่ 10 ศิลปกรรมสงขลา
ศิลปกรรมสงขลา เกิดจากการหลอมรวมทางวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ ชาวไทยมุสลิม จีน และตะวันตก ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองสงขลา ก่อให้เกิดการผสานรูปแบบทางสถาปัตยกรรม
และศิลปกรรมจนเกิดเป็นเอกลักษณ์อันงดงาม

ห้องที่ 11 ประวัติศาสตร์โบราณคดีภาคใต้ตอนล่าง
นับตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษ ที่ 12 มีชุมชนเกิดขึ้นหลายแห่งบริเวณลุ่มน้ำปัตตานีหนึ่งในนั้นคือเมืองโบราณที่อำเภอยะรัง หรือเมืองลังกาสุกะ โดยศาสนาพราหมณ์ฮินดูสัทธิไศวนิกาย เป็นที่นิยมนับถือในกลุ่มผู้ปกครอง ขณะที่ศาสนาพุทธนิกายมหายานได้รับความนิยมในกลุ่มชาวบ้าน

ห้องที่ 12 สุนทรียภาพในวิถีชีวิตของชาวภาคใต้ตอนล่าง
ดินแดนปลายด้ามขวานของไทย รับอิทธิพลทางศิลปะ ศาสนา และความเชื่อจากอินเดียในระยะแรกเริ่ม และรับอิทธิพลวัฒนธรรมจากกลุ่มเมืองในคาบสมุทรมลายูด้วยกันในเวลาต่อมา
ผนวกกับความเชื่อมั่นศรัทธาต่อศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดส่งผลให้วิถีชีวิตชาว ภาคใต้ตอนล่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ห้องที่ 13 สงขลาย้อนยุค
ประมาณ 60-70 ปีที่ผ่านมา สงขลามีย่านธุรกิจการค้าที่เฟื่องฟูบริเวณถนนนครนอก นครใน และถนนนางงาม มีห้องถ่ายรูปที่ทันสมัย มีโรงภาพยนตร์ และสถานเริงรมย์ มีการคมนาคม ทั้งเรือโดยสารรถไฟ และสนามบินพาณิชย์ สิ่งเหล่านี้ สะท้อนภาพความทันสมัยของสงขลาในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี

ห้องที่ 14 ศาลากลางแจ้ง
หน้าบันจำหลักลวดลายต่าง ๆ และชิ้นส่วนประดับสถาปัตยกรรมที่วัดต่างๆได้มอบให้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

วัน เวลา เปิด – ปิด
เปิดทำการ : วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 9.00 -16.00 น.
ปิดทำการ : วันจันทร์ - วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์

ค่าเข้าชม
ชาวไทย คนละ 30 บาท
ชาวต่างชาติ คนละ 150 บาท
ยกเว้น พระภิกษุ สามเณร นักเรียนและนักศึกษาในเครื่องแบบ รวมถึงผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป)

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
เลขที่ 13 ถนนวิเชียรชม ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
โทรศัพท์ : 074-311-728, 074-311-881
ติดตามข่าวสารได้ที่ : https://www.facebook.com/songkhlanationalmuseum
และสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ผ่านเว็บไซต์พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ที่
http://www.virtualmuseum.finearts.go.th/songkhla/index.php/th

เรื่องที่เกี่ยวข้อง