หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าวเศรษฐกิจและการเงิน

รัฐดันมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต เฟส 2 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
21 มกราคม 2562 | 10,026
รัฐดันมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต เฟส 2 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

รัฐดันมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต เฟส 2 ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ในปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ผลการดำเนินงานพบว่า ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสนใจเข้าร่วมฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ จำนวน 4,145,397 ราย และได้รับการพัฒนาแล้ว จำนวน 3,267,941 ราย ที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งในจำนวนนี้ ปรากฏว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี 1,566,353 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี 1,451,237 ราย และรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย ส่วนผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี มีจำนวนลดลงเหลือ 1,040,842 ราย

กระทรวงการคลังประเมินว่า มาตรการนี้มีส่วนช่วยให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลุดพ้นจากเส้นความยากจน (Poverty Line) หรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปีเพิ่มขึ้น และคนกลุ่มนี้สามารถสร้างรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี มากถึง 115,116 ราย จากเดิมไม่มีผู้มีบัตรรายใดมีรายได้เกินกว่า 100,000 บาทต่อปีเลย ดังนั้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงได้ขยายระยะเวลาของมาตรการต่อไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. 62 ภายใต้ชื่อ “มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2”

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมฝึกอบรมพัฒนาอาชีพตามมาตรการนี้ จะได้รับเงินเพิ่มผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเช่นเดิมต่อไปอีก 6 เดือน ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้จ่ายได้ แบ่งเป็น
- ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน 
- ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้รับเงินจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน

นอกจากผู้มีรายได้น้อยจะมีอาชีพเป็นหลักเป็นฐานแถมได้รับเงินค่าใช้จ่ายสนับสนุนจากรัฐบาลด้วยแล้ว ล่าสุดรัฐบาลยังได้ปรับหลักเกณฑ์การเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-money ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับเป็นค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ตั้งแต่เดือน ก.พ. – เม.ย. 62 (3 เดือน) ดังนี้

- ผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี (ซึ่งได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 300 บาทต่อคนต่อเดือน) รัฐบาลจะแบ่งเงิน 300 บาทนี้ เติมเข้า e-money 200 บาท ให้ผู้มีรายได้น้อยกดเป็นเงินสดไปใช้จ่ายได้ และเหลือวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไว้ในบัตรอีก 100 บาท

- ผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี (ซึ่งได้รับวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200 บาทต่อคนต่อเดือน) รัฐบาลจะแบ่งเงิน 200 บาทนี้ เติมเข้า e-money 100 บาท ให้ผู้มีรายได้น้อยกดเป็นเงินสดไปใช้จ่ายได้ และเหลือวงเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไว้ในบัตรอีก 100 บาท

รวมแล้วผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี สามารถกดเงินสดจากค่าฝึกอบรมพัฒนาอาชีพและค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้ 400 บาทต่อเดือน และผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี สามารถกดเงินสดได้ 200 บาทต่อเดือน

ข้อดีของการแบ่งเงินเติมเข้า e-money คือ ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะจะไม่มีการตัดวงเงินที่เหลือในส่วนนี้ หากใช้ไม่หมด โดยผู้ถือบัตรสามารถสะสมไว้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ได้อีก และยังคงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ถือบัตรได้ซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นที่ร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมรายการ โดยจะคืนเงินชดเชยเข้า e-money ในเดือนถัดไป รายละ 500 บาทต่อคนต่อเดือนอีกด้วย

สำหรับมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 นี้ รัฐบาลจะเน้นไปที่กลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาก่อนเป็นเป้าหมายแรก โดยจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในเดือน มิ.ย. 62 ส่วนกลุ่มที่ผ่านการพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี รัฐบาลมอบหมายให้ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน เร่งดำเนินการพัฒนาต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ลูกค้าสัมพันธ์บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โทร. ‭‭0 2109 2345‬‬ (วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 08.30 - 17.30 น.)

ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย / สำนักประชาสัมพันธ์เขต 7


เรื่องที่เกี่ยวข้อง