หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าวธุรกิจและเทคโนโลยี

การยางแห่งประเทศไทย แจงข้อวิจารณ์การแก้ไขปัญหาราคายางต่ำ
16 พฤศจิกายน 2561 | 12,833
การยางแห่งประเทศไทย แจงข้อวิจารณ์การแก้ไขปัญหาราคายางต่ำ

การยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงข้อวิจารณ์การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงประเด็นข่าว/ข้อวิจารณ์การแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตามที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องและเตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อให้แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำอย่างเร่งด่วน ใน 3 ประเด็น ดังนี้

1. การใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะในภาครัฐยังไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติ พร้อมขอให้รัฐบาลเปิดเผยว่า มีการใช้ยางพาราในประเทศไปแล้ว จำนวนเท่าใด หรือมีปัญหาติดขัดอย่างไร

2. ชาวสวนยางต้องมีรายได้เสริม เช่น การปลูกพืชอื่นในสวนยาง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนการปลูกพืชเสริมและประสานเรื่องตลาด ไม่ให้พืชที่ปลูกเสริมมีปัญหาเรื่องราคาซ้ำอีก

3. ภาคเอกชนมีศักยภาพในการนำยางพาราไปแปรรูปในชุมชน เช่น ผลิตหมอนยางพารา รองเท้า เพราะมีตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับ แต่ติดขัดในการจัดตั้งโรงงานระดับชุมชนเรื่องผังเมือง หากมีการเร่งรัดอนุญาตก็จะทำให้ยางพาราแปรรูปได้ต่อไป

ข้อเท็จจริง ประเด็นที่ 1. กยท.มีแผนการใช้ยางตามงบประมาณปกติ คิดเป็นน้ำยางข้น 8,802.40 ตัน และยางแห้ง 785.85 ตัน มีการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด โดยใช้น้ำยางข้น 8,802.40 ตัน และยางแห้ง 785.85 ตัน ส่วนในโครงการฯ ที่ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมและงบกลาง ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2561 และกรมบัญชีกลางยังไม่ได้กำหนดราคากลางของการทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้า โดยแผนการใช้น้ำยางข้น 37,829.11 ตัน ขณะนี้มีการดำเนินการแล้ว 5,146.63 ตัน ยังเหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ 32,682.48 ตัน

ประเด็นที่ 2. การดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลูกแทน ตาม พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย มาตรา 36 กยท. ดำเนินการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้รับการปลูกแทนดำเนินการปลูกแทนแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชอื่นร่วมในสวนยาง ในปีงบประมาณ 2561 กยท. กำหนดเป้าหมายการปลูกแทนแบบผสมผสานจำนวน 7,000 ไร่ ผลการดำเนินงานเกษตรกรทำการปลูกแทนแบบผสมผสาน จำนวน 8,883.20 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 126.90 ของเป้าหมาย 

สำหรับในปีงบประมาณ 2562 กยท. เพิ่มเป้าหมายการปลูกแทน แบบผสมผสานเป็น 20,000 ไร่ ผลการดำเนินงานในเดือน ต.ค. 2561 จำนวน 602.15 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของเป้าหมาย 
เนื่องจาก เป็นการเริ่มดำเนินการต้นปีงบประมาณ 2562 ได้เพียง 1 เดือน ประกอบกับในช่วงเดือน ต.ค. 2561 เป็นช่วงปลายฤดูฝน เพื่อให้ต้นยางพาราและพืชร่วมได้รับปริมาณน้ำฝน เพียงพอต่อการเจริญเติบโต เกษตรกรจะเริ่มทำการเพาะปลูกพืชในช่วงต้นฤดูฝน หรือประมาณเดือน มิ.ย. 2562 เป็นต้นไป

ประเด็นที่ 3. เนื่องจากพื้นที่การทำสวนยางของเกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่เป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดและเงื่อนไขในเรื่องของการขอจัดตั้งโรงงานแปรรูปยางพาราระดับชุมชนและการขยายโรงงานแปรรูปยางพาราเพิ่มเติม 

ขณะนี้ กยท. กำลังดำเนินการรวบรวมข้อมูล รายละเอียด ของกลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้ง 7 เขตทั่วประเทศ จำนวน 1,018 สถาบันฯ ซึ่งมีสมาชิกสถาบันฯ ทั้งสิ้น 340,822 ราย รวมถึงผู้ประกอบการด้านยางพาราเกี่ยวกับประเด็นปัญหา อุปสรรค ในเรื่องดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อกรมโยธาธิการและผังเมืองกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบด้านกิจการผังเมือง และกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมการจัดตั้งโรงงาน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว

ภาพและข้อมูลจาก รัฐบาลไทย / สำนักประชาสัมพันธ์เขต 5


เรื่องที่เกี่ยวข้อง