หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

สงขลา | ติดตามการพัฒนาทะเลสาบสงขลาคู่การอนุรักษ์โลมาอิรวดี ปัจจุบันเหลือเพียง 17 ตัว
20 พฤษภาคม 2568 | 2,460
สงขลา |  ติดตามการพัฒนาทะเลสาบสงขลาคู่การอนุรักษ์โลมาอิรวดี ปัจจุบันเหลือเพียง 17 ตัว

วันที่ 19 พฤษภาคม 2568  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และคณะผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ซึ่งเชื่อมโยงกับการพัฒนาพื้นที่ทะเลสาบสงขลา โครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา โดยกรมทางหลวงชนบท ตลอดจนติดตามการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้โลมาอิรวดี ในบริเวณทะเลสาบสงขลา ที่ตั้งอยู่บริเวณจุดเริ่มต้นเส้นทางสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาในพื้นที่จังหวัดพัทลุง

และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนภายใต้โครงการทะเลสาบสงขลายั่งยืน โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง จังหวัดพัทลุง โดยมี นายธราวุธ ช่วยเกิด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้การต้อนรับ พร้อมพบปะพี่น้องชุมชนในพื้นที่ และปล่อยพันธุ์กุ้ง พันธุ์ปลา เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเลสาบสงขลา

ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า “การพัฒนา กับ การอนุรักษ์ ต้องไปด้วยกัน การพัฒนา คือการทำให้ดีขึ้น แต่การอนุรักษ์ คือการทำให้คงอยู่ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำให้ได้ การลงมาในพื้นที่ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาเพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ อีกส่วนคือมาติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ที่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 17 ตัว

โดยแผนนี้ เป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยได้รับงบประมาณจากธนาคารโลกมาก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ที่จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางในพื้นที่จาก 80 กิโลเมตร ให้เหลือเพียง 7 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยว โดยมีการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นเงื่อนไขสำคัญ

โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2568 นี้ หลังจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง โดยเฉพาะมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการทำความเข้าใจและการสร้างความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนได้คือการบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้แผนของจังหวัด เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต และจะทำให้การพัฒนาเดินคู่ไปได้กับการอนุรักษ์อย่างสมดุล“

 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง