หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าวสังคมและการเมือง

นาทวี | ด่านตรวจคุมสินค้าประมงชายแดนภาคใต้ ยึดปลากะพงขาวนำเข้ามาจากมาเลเซีย มูลค่าถึง 1.2 ล้านบาท 
18 พฤษภาคม 2568 | 4,533
นาทวี | ด่านตรวจคุมสินค้าประมงชายแดนภาคใต้  ยึดปลากะพงขาวนำเข้ามาจากมาเลเซีย มูลค่าถึง 1.2 ล้านบาท 

วันที่ 17 พฤษภาคม 2568  เจ้าหน้าที่จากกรมประมงร่วมกับด่านตรวจคุมสินค้าประมงชายแดนภาคใต้ สามารถตรวจยึดปลากะพงขาวที่ลักลอบนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซียโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐานการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำ โดยของกลางมีน้ำหนักรวมประมาณ 3,650 กิโลกรัม มูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านบาท 

โดยมี สส.ณรงเดช อุฬารกุล ประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้เดินทางมาตรวจสอบด้วยตัวเองการจับกุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีการลักลอบขนปลากะพงขาวจำนวนมากผ่านช่องทางธรรมชาติบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย ก่อนจะนำมาบรรจุในรถบรรทุกเพื่อกระจายสินค้าไปยังตลาดค้าส่งปลาในพื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร

นายณรงเดช อุฬารกุล ประธานกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์สภาผู้แทนราษฎรกล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบว่า “…โดยปกแล้ว ด่านศุลกากรบ้านประกอบ ต.ประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา มักจะใช้ในการส่งออกสินค้าประเภทผลไม้ตามฤดูกาลไปยังประเทศมาเลเซีย ส่วนสินค้าที่เกี่ยวกับประมง มักจะนิยมใช้ด่านศุลกากรสะเดา ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา แต่เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่ด่านศุลกากรและประมงจังหวัดสงขลา พบรถบรรทุกมีการนำเข้าปลากะพงขาวที่ผิดสังเกตุ จึงเข้าทำการตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาตนำเข้า ซึ่งพบว่าไม่มีเอกสารการนำเข้าที่ถูกต้อง จึงเข้าทำการยึดอายัดสินค้าดังกล่าวไว้ 

ซึ่งที่ผ่านมาทางรัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับการค้าขายระหว่างประเทศ แต่ส่วนหนึ่งของการนำเข้าก็มักจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรภายในประเทศอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะการนำเข้าปลากะพงขาว ซึ่งทางคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีการติดตามอย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาที่ผ่านมาเคยมีการนำเข้าปลากะพงขาวที่มีสารตกค้างเกินกว่าค่ามาตรฐาน ซึ่งทางกรรมาธิการฯได้มีหนังสือถึงกรมประมง ให้ช่วยเคร่งครัดเรื่องมาตรการการตรวจสอบ วันนี้ก็ต้องขอชื่อชมกรมประมงและกรมศุลกากรที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างดี หลังจากนี้ทางคณะกรรมาธิการฯก็จะขอติดตามเรื่องนี้ต่อไป หากมีข้อสังเกตประการใดก็จะมาเรียนแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบอีกครั้ง…”

ทางกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้รับข้อมูลของกรมประมงว่า ทางกรมฯได้มีการยกระดับมาตรการการควบคุมการนำเข้าปลากะพงขาวจากมาเลเซีย โดยช่วงเดือนมิถุนายน 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 มีการตรวจพบสารตกค้างกลุ่มยาปฏิชีวนะในปลากะพงขาวแช่เย็น 48 ตัวอย่าง 

จนนำมาสู่การออกประกาศเรื่อง การยกระดับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ในการนำเข้าปลากะพงขาวแช่เย็นจากประเทศมาเลเซีย พ.ศ.2567 ฉบับที่1 และเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้นำเข้าจำเป็นต้องแนบเอกสารรับรองผลการวิเคราะห์คุณภาพ Certificate of Analysis(COA) ซึ่งจะต้องออกโดยห้องปฏิบัติการของรัฐ หรือรัฐให้การรับรอง หากผู้นำเข้าไม่มีการแนบCOA ก็จะถูกอายัดสินค้า

หลังประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ตลอดระยะเวลา6เดือน มีการตรวจพบสารตกค้าง ลดลงเหลือเพียง 6 ครั้ง และทางกรมประมงมีการเพิ่มมาตรการควบคุมการนำเข้า จากการสุ่มตัวอย่าง 10% เพิ่มเป็น 30% และอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะสินค้าที่แนบ COA ในทุกรอบการนำเข้า

กระทั่งปลายปี 2567 ผู้นำเข้าเริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเข้า จากปลากะพงขาวแช่เย็น มาเป็นแบบแช่แข็ง และตรวจพารามิเตอร์สำหรับปลาเพาะเลี้ยง พบสารตกค้าง 11 ครั้ง จาก 261ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 4.21 จนถึงช่วงต้นปี 2568 กรมประมงได้เพิ่มมาตรการขั้นสูงสุด ให้มีการตรวจในทุกรอบการนำเข้า โดยผู้นำเข้าจะต้องแนบCOA พร้อมกับอายัดสินค้าและเก็บตัวอย่างตรวจสารตกค้าง ทั้งในส่วนของปลากะพงขาวแช่เย็นและแบบอื่น ส่งผลให้ช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2568 พบสารตกค้าง 12 ตัวอย่างจาก 82 ตัวอย่าง  คิดเป็นร้อยละ 14.63 และยังคงรอผลตรวจอีก 54 ตัวอย่าง

ทางประธานกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้พบเห็นปัญหาสำหรับผู้นำเข้า และผู้ส่งออกปลากะพงขาว ที่มีการตรวจพบสารตกค้าง และไม่ผ่านมาตรฐานSPS ถึง3ครั้งในรอบปีจะถูกระงับชั่วคราวภายในปีเดียวกัน ซึ่งเมื่อข้ามพ้นไปยังปีถัดไปกลุ่มผู้นำเข้า และผู้ส่งออกก็สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ ซึ่งตรงนี้อาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีการกระทำผิดซ้ำอีก อันจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมปลากะพงขาวนำเข้า และความปลอดภัยผู้บริโภค ดังนั้นทางกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ จึงได้นำประเด็นนี้ไปปรับปรุงกฎระเบียบของกรมประมงในลำดับต่อไป

สาเหตุสำคัญของการลักลอบนำเข้าปลากะพงในครั้งนี้พบว่า ปัจจุบันพบว่าราคาปลากะพงขาวในมาเลเซียมีราคาขายถูกกว่าในประเทศไทยประมาณ 30-40% เนื่องจาก ประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายผลิตปลากะพงขาวเน้นเพื่อการส่งออก แม้จะนำเข้าลูกพันธุ์ปลามากจากประเทศไทย แต่โดยรวมต้นทุนการเพาะเลี้ยงในประเทศมาเลเซียต่ำกว่าไทยมาก 

รวมถึงทางมาเลเซียมีพื้นที่ชายฝั่งสำหรับเป็นบ่อเพาะเลี้ยงขนาดใหญ่ ใส่ลูกพันธุ์ปลากะพงขาวได้เป็นจำนวนมาก และเลี้ยงอย่างหนาแน่น ที่สำคัญคือ ประเทศมาเลเซียเองก็มีการอุดหนุนจากภาครัฐในด้านอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งมีการนำเข้าอาหารปลาโปรตีนคุณภาพสูงมาจากประเทศเวียดนาม ส่งผลให้ต้นทุนอาหารต่อน้ำหนักผลผลิตปลากะพงขาว มีจุดคุ้มทุนมากกว่า จึงทำได้นำหนักและราคาดีกว่าปลาที่ผลิตภายในประเทศ

 แต่สิ่งที่น่าตกใจคือ ผู้ประกอบการปลากะพงขาวในมาเลเซีย พร้อมจำหน่ายปลาทุกขนาดที่ประเทศไทยต้องการ ทำให้เป็นที่ต้องการของร้านอาหาร โรงแรม และภัตตาคารในไทย ขณะที่ผู้ประกอบการปลากะพงขาวในประเทศไทย มักจะนิยมขายปลาใหญ่ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า และขายเฉพาะขนาดตัวใหญ่ นี่จึงเป็นช่องว่างของตลาดที่ทำให้อุตสาหกรรมปลากะพงขาวของมาเลเซีย เข้าสู่ตลาดผู้บริโภคในประเทศไทย และกระทบต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

อย่างไรก็ตาม ทางกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร ได้มีข้อเสนอต่อกรมประมงและด่านศุลกากร อยากให้สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค สำหรับปลากะพงขาวที่จะเข้าประเทศไทย 

1.ขอให้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราตามแนวชายแดน โดยเฉพาะจุดแวะพัก ที่มีการลักลอบนำเข้าบ่อยครั้ง โดยขอให้บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำงาน

2.ยังคงเข้มงวดในการเก็บตัวอย่างหน้าด่านศุลกากร และสุ่มตรวจกลุ่มกลุ่มตัวอย่างให้มากที่สุด หากไม่พบสารตกค้าง หรืออยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล จึงจะอนุญาตนำเข้าได้ แต่หากไม่ผ่านมาตรฐาน หรือมีการลักลอบดังข่าวที่ปรากฎ ก็ขอให้ยึดอายัด และนำไปทำลายตามขั้นตอนของกฎหมาย และดำเนินคดีต่อผู้นำเข้า-ส่งออกให้ถึงที่สุด

3.ร่วมกับทางการมาเลเซีย ใช้วิธีการตรวจมาตรฐานปลาเพาะเลี้ยงและตรวจสารตกค้างจากหน้าฟาร์ม ก่อนเข้าด่านศุลกากร เพื่อลดระยะเวลารอผลการสุ่มตรวจ จะช่วยรักษาสภาพความสดของปลานำเข้า

4.ส่งเสริมการเพาะเลี้ยงปลากะพงในประเทศให้มีต้นทุนที่ต่ำลง มีคุณภาพและผลผลิตที่สูงขึ้น ผ่านโครงการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยเฉพาะหน่วยงานหลักคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

5.รณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าประมงที่มีแหล่งที่มาชัดเจน และปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง