หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

หาดใหญ่ | นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ค้นพบพืชสกุลมหาพรหมของพืชวงศ์กระดังงา 3 ชนิดใหม่ของโลก
1 กุมภาพันธ์ 2566 | 5,018
หาดใหญ่ | นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ. ค้นพบพืชสกุลมหาพรหมของพืชวงศ์กระดังงา 3 ชนิดใหม่ของโลก

รศ. ดร.จรัล ลีรติวงศ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กระดังงาจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ Prof. Dr. Richard M.K. Saunders ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพฤกษศาสตร์จากประเทศฮ่องกง

ร่วมตีพิมพ์พืชสกุลมหาพรหมของพืชวงศ์กระดังงาชนิดใหม่ 3 ชนิดของโลก ในวารสาร Phytokeys ในปี 2566 ซึ่งจัดเป็นวารสารสาขาพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ ฐาน Web of Science (WOS) Quartile

รศ. ดร.จรัล ลีรติวงศ์ ได้อธิบายลักษณะของพืชสกุลมหาพรหม ว่า เป็นพืชไม้ต้นหรือไม้พุ่ม ไม่ผลัดใบ ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงแบบสลับ มีแผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ส่วนใหญ่รูปไข่ รูปรี หรือรูปหอก โคนใบมีสมมาตร แผ่นใบส่วนใหญ่มีลักษณะเกลี้ยงจนถึงมีขนปกคลุม ช่อดอก แบบช่อกระจุกหรือเป็นดอกเดี่ยว ออกตรงปลายยอด ตรงข้ามกับใบ หรือออกระหว่างข้อ

เป็นดอกสมบูรณ์เพศ กลีบเลี้ยง มี 3 กลีบ มักเชื่อมติดกันบริเวณโคนกลีบ เรียงแบบจรดกัน สั้นกว่ากลีบดอก กลีบดอก มี 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้นๆ ละ 3 กลีบ แยกจากกัน เรียงแบบจรดกัน กลีบดอกชั้นนอกปกติมีขนาดใหญ่กว่ากลีบดอกชั้นใน ไม่มีก้านกลีบ กลีบดอกชั้นใน มีก้านกลีบ ปลายกลีบอยู่ชิดกันคล้ายรูปหมวก (mitriform) เกสรเพศผู้ มีจำนวนมาก เกสรเพศเมีย เป็นแบบคาร์เพลแยก (apocarpous pirtil) จำนวนคาร์เพลน้อยจนถึงจำนวนมาก ผล เป็นผลกลุ่มประกอบด้วยผลย่อย 2-20 ผล แต่ละผลย่อยแยกจากกัน ผลย่อยแบบผลมีเนื้อหลายเมล็ด (berry) เมล็ด มีจำนวน 1-14 เมล็ด รูปคล้ายรูปเลนส์ หรือคล้ายรูปจาน ผิวเมล็ดมีลักษณะเป็นลวดลายตามขวางหรือเป็นช่อง เกลี้ยง มีอาหารสะสมที่มีลวดลาย (ruminated endosperm)

โดยพืชทั้งสามชนิดที่ค้นพบ ได้แก่

1. มหาพรหมสิรินธร (Mitrephora sirindhorniae Chalermglin, Leerat. & R.M.K.Saunders) 

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ เป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูง 4 เมตร กิ่งมีขนหนาแน่น ไม่มีตุ่มใบ (domatia) ตรงบริเวณเส้นแขนงใบบรรจบกับเส้นกลางใบ ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวน 1-3 ดอก ดอกเป็นกลุ่มมีดอกขนาดใหญ่ มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล กลีบดอกชั้นนอกสีเหลืองแกมเขียวหรือสีเหลือง รูปหอกกลับ ยาว 4-6 เซนติเมตร ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น กลีบดอกชั้นในสีเหลืองพบมีแต้มสีชมพูบริเวณปลายกลีบ มีผลย่อยจำนวน 7-14 ผล รูปรีจนถึงรูปไข่กลับ ผิวเรียบ มีขนหนาแน่น มีร่องตามยาวชัดเจน ผลสุกสีเหลือง มีก้านผลย่อยค่อนข้างสั้น ยาว 2.5-8 มม.

ค้นพบครั้งแรกที่บริเวณเขาหินทรายในป่าเต็งรัง ของจังหวัดบึงกาฬ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

2. พรหมหลังสวน (Mitrephora langsuanensis Leerat., Chalermglin & R.M.K.Saunders)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ เป็นไม้ต้นขนาดเล็กสูง 4 เมตร กิ่งมีขนหนาแน่น พบมีตุ่มใบ (domatia) ตรงบริเวณเส้นแขนงใบบรรจบกับเส้นกลางใบ ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวน 1-3 ดอก ดอกเป็นกลุ่มมีดอกขนาดปานกลาง มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล กลีบดอกชั้นนอกสีขาวครีมหรือสีเหลือง มีแถบสีชมพู รูปไข่ ยาว 2-2.7 เซนติเมตร กลีบดอกชั้นในสีเหลืองแกมเขียวพบมีแต้มสีชมพูบริเวณปลายกลีบ และมีแถบสีเหลือง มีผลย่อยจำนวนมากถึง 12 ผล รูปรีจนถึงรูปขอบขนานแกมรูปรี ผิวเรียบ มีขนประปราย มีร่องตามยาวชัดเจน  ผลสุกสีเหลือง มีก้านผลย่อยยาว 16-20 มม.

ค้นพบครั้งแรกที่บริเวณเขาหินปูนในป่าดิบชื้นของวัดภูเมือง ในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ภาคใต้ของประเทศไทย และตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบครั้งแรกในอำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

3. พรหมสุโข (Mitrephora sukhothaiensis Leerat., Chalermglin & R.M.K.Saunders)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของพืชชนิดนี้ เป็นไม้พุ่ม สูงประมาณ 2 เมตร กิ่งมีขนหนาแน่น มีตุ่มใบ (domatia) ตรงบริเวณเส้นแขนงใบบรรจบกับเส้นกลางใบ ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวน 2-3 ดอก ดอกเป็นกลุ่มมีดอกขนาดเล็ก มีกลีบเลี้ยงสีน้ำตาล กลีบดอกชั้นนอกสีขาวแกมเหลืองหรือสีเหลือง รูปไข่ ยาว 1.2-1.7 เซนติเมตร ตัวกลีบมีลักษณะโค้งกลับด้านหลัง ขอบกลีบเรียบ กลีบดอกชั้นในสีเหลืองแกมเขียวพบมีแต้มสีชมพูบริเวณปลายกลีบ ลักษณะเด่นพบมีรยางค์ยื่นเข้าด้านในตรงบริเวณขอบกลีบตรงช่วงกลางกลีบ มีผลย่อยจำนวนมากถึง 16 ผล รูปรีจนถึงรูปทรงกลม ผิวเรียบ มีขนประปราย ไม่มีร่องตามยาว  ผลสุกสีเหลือง มีก้านผลย่อยยาว 15-22 มม.

ค้นพบครั้งแรกที่บริเวณป่าเบญจพรรณ ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ภาคเหนือของประเทศไทย และตั้งชื่อให้แก่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบพืชชนิดนี้เป็นครั้งแรก

 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง