ดร.นพ.ชายธง ชูเรืองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ Mike Lean และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยโอทาโก ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ทำการศึกษาและวิเคราะห์ประเภทอาหารที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการน้ำหนักตัวในผู้ใหญ่ที่มีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผลวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Diabetologia ซึ่งเป็นวารสารของสมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน (European Association for the Study of Diabetes, EASD) แสดงให้เห็นว่าอาหารพลังงานต่ำที่มีการใช้อาหารสูตรสำเร็จทดแทนมื้ออาหารปกติ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสําหรับการจัดการน้ำหนักตัวและการบรรเทาอาการจากโรคเบาหวานในผู้ใหญ่
น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคเบาหวาน และอาจเกี่ยวข้องกับปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของฮอร์โมนในลำไส้ การอักเสบในร่างกาย รวมไปถึงเมแทบอลิซึมจากจุลินทรีย์ในลำไส้ ผู้ที่มีความเสี่ยงมักจะมีรอบเอวที่ใหญ่และมีไขมันสะสมในตับ ตับอ่อนและกล้ามเนื้อ ทำให้การทำงานของอวัยวะบกพร่อง ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติจนกลายเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้นการลดน้ำหนักตัวจึงมีความสำคัญต่อการดูแลรักษาโรคเบาหวานชนิดนี้ เนื่องจากจะสามารถขจัดไขมันที่ผิดปกติออกจากตับและตับอ่อน และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาสำหรับผู้ป่วย
แม้จะทราบประโยชน์ของการลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน แต่ก็ยังไม่มีการยืนยันถึงสูตรอาหารที่เชื่อถือได้สำหรับการลดน้ำหนัก ทำให้เกิดการโต้เถียงกันในวงวิชาการ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการรักษา โดยแนวทางปฏิบัติในปัจจุบันเน้นถึงความสำคัญของการจัดการน้ำหนักแบบเฉพาะบุคคล และกลยุทธ์การควบคุมอาหาร แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์ประกอบของอาหาร ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องอาหารที่รับประทาน การศึกษาวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นการลดปัญหาความไม่แน่นอน และช่วยในการตัดสินใจทางคลินิกและการพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติ
การศึกษาวิจัยชิ้นนี้จึงมีขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่แน่นอนเหล่านี้ และเพื่อพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติของสมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาโรคเบาหวาน (European Association for the Study of Diabetes) ซึ่งพบว่า อาหารที่ลดน้ำหนักได้มากที่สุดในผู้ป่วยเบาหวาน คือ อาหารสูตรที่ให้พลังงานต่ำมาก (very low energy diet) ในรูปแบบของ 'การทดแทนอาหารทั้งหมด (Total Diet Replacement) ที่ 400-500 กิโลแคลอรีต่อวัน เป็นเวลา 8-12 สัปดาห์ ทำให้ค่าเฉลี่ยน้ำหนักลดลงถึง 6.6 กก. เมื่อเทียบกับอาหารที่ให้พลังงานต่ำทั่วไป 1,000-1500 กิโลแคลอรีต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่า การทดแทนมื้ออาหารด้วยอาหารสูตรสำเร็จ (formula meal replacement) มีประสิทธิภาพเหนือกว่าการรับประทานอาหารที่ให้พลังงานต่ำในรูปแบบอาหารปกติ โดยสามารถลดน้ำหนักได้มากกว่า 2.4 กก. ในช่วง 12-52 สัปดาห์ หลักฐานที่ตีพิมพ์ยังแสดงให้เห็นว่าอาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำหรืออาหารคีโตจีนิกไม่ได้ดีไปกว่าอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงสำหรับการลดน้ำหนักตัว
ผลการศึกษาแสดงให้เห็นอัตราการไม่ปรากฎอาการของโรคที่ดีที่สุด คือร้อยละ 46-61 ที่ 12 เดือนหลังจากเริ่มเข้าโปรแกรมที่ใช้การทดแทนอาหารทั้งหมด 830 กิโลแคลอรีต่อวัน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ ตามด้วยอาหารคาร์โบไฮเดรตปกติที่มีไขมันต่ำและทดแทนมื้ออาหารเพื่อคงน้ำหนักตัวในระยะยาว การไม่ปรากฎอาการในทีนี้หมายถึง “ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติและหยุดการใช้ยาเบาหวานได้” ในทางตรงกันข้าม การใช้อาหารคาร์โบไฮเดรตต่ำพบรายงานการไม่ปรากฎอาการของโรคเพียงแค่ร้อยละ 4-19 ของผู้ที่รับประทานอาหารในรูปแบบนี้ สำหรับอาหารประเภทต่างๆ เช่น อาหารเมดิเตอร์เรเนียน อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง อาหารมังสวิรัติ และอาหารดัชนีน้ำตาลต่ำ สามารถลดน้ำหนักได้มากกว่าอาหารที่มีไขมันต่ำ เพียง 0.3-2 กก.หรือไม่มีความแตกต่างกันเลย
นักวิจัยจึงสรุปว่า "การศึกษาวิเคราะห์อภิมาณ สรุปว่า ไม่มีอาหารรูปแบบแบบใด หรือประเภทใด ดีไปกว่ากันในการควบคุมน้ำหนักในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 การรับประทานอาหารที่ให้พลังงานต่ำมากและการทดแทนมื้ออาหารด้วยอาหารสูตรสำเร็จเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยทั่วไปจะให้พลังงานน้อยกว่าการรับประทานอาหารที่ควบคุมด้วยตนเอง”
นักวิจัยเสริมว่า การใช้อาหารพลังงานต่ำและการทดแทนมื้ออาหารนั้นไม่ควรทำด้วยตนเอง ควรอยู่ภายใต้การคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อติดตามและป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมักจะมียาประจำและโรคร่วมอื่นๆ ด้วย
อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ยังมีข้อจำกัดคือ ประโยชน์ของการควบคุมน้ำหนักขึ้นอยู่กับการควบคุมน้ำหนักตัวในระยะยาว ในขณะที่หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันมีผลลัพธ์ในระยะสั้นเท่านั้น การรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ในระยะยาวให้ประสบความสำเร็จจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านพฤติกรรมเข้ามาช่วย ทั้งนี้ มีการศึกษาทดลองเพียงไม่กี่ฉบับที่รายงานข้อมูลที่เกิน 12 เดือน ซึ่งทีมงานวิจัยเห็นว่ายังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม เพื่อประเมินผลกระทบระยะยาวต่อน้ำหนักตัว การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผลลัพธ์ทางคลินิก และภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานต่อไป
สงขลา | ประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง พายุ “จ่ามี” ฉบับที่ 15
28 ตุลาคม 2567 | 4,326สงขลา | แจ้งเตือน 4 อำเภอสงขลา
26 ตุลาคม 2567 | 5,459สงขลา | เตือนอย่าหลงเชื่อ…
22 ตุลาคม 2567 | 4,623หาดใหญ่ | ประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 2
18 ตุลาคม 2567 | 3,798สงขลา | กรมทรัพยากรธรณี เตือนสงขลาเฝ้าระวังแผ่นดิน-น้ำป่าหลาก วันที่
15 ตุลาคม 2567 | 4,815ยะลา | เบตงอ่วม! ฝนตกหนักน้ำป่าซัดบ้านพังเสียหายนับ 10 หลัง
13 ตุลาคม 2567 | 5,014สงขลา | ประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาฯ ฉบับที่3
11 ตุลาคม 2567 | 5,086สงขลา | เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำล้นตลิ่งจากฝนตกหนักและตกสะสม
10 ตุลาคม 2567 | 4,984