หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

หาดใหญ่ | ผลวิจัย ม.อ. ชี้ ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3 เข้าใต้ผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น
15 กันยายน 2564 | 6,124
หาดใหญ่ | ผลวิจัย ม.อ. ชี้  ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 3  เข้าใต้ผิวหนัง สร้างภูมิคุ้มกันใกล้เคียงกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ใช้ปริมาณวัคซีนเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

จากการศึกษาวิจัยโดยคณะนักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มกระตุ้น โดยเปรียบเทียบระหว่างการได้รับวัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติเข้าใต้ผิวหนัง กับการได้รับวัคซีนปริมาณปกติเข้ากล้ามเนื้อ ในกลุ่มประชากรทั่วไปจำนวน 95 คน หลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ผลวิจัยเบื้องต้น พบว่า

การฉีดวัคซีนแอสต้าเซนเนก้า เป็นเข็มกระตุ้น ด้วยวิธีการฉีดเข้าใต้ผิวหนังในปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแอนติบอดี้ (B cells) และทีเซลล์ (T cells) ได้สูง เทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนเต็มโดสเข้ากล้ามเนื้อแบบปกติ

อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคมาแล้ว 2 เข็ม ภูมิคุ้มกันจะอยู่ที่ 128.7 BAU/mL และเมื่อรับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเป็นเข็มที่ 3 ด้วยวิธีการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ภูมิคุ้มกันจะเพิ่มขึ้นเป็น 1652 BAU/mL แต่ในกลุ่มอาสาสมัครที่รับวัคซีนเข็ม 3 แบบฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันระบบแอนติบอดี้ได้ถึง 1300 BAU/mL ซึ่งใช้วัคซีนปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ (ความแตกต่างนี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ)

แอนติบอดี้จะช่วยในการป้องกันไวรัสเข้าเซลล์ร่างกาย แต่ถ้าไวรัสเข้าไปแล้วต้องใช้ “ทีเซลล์ (T cells)” ในการจัดการ จึงจำเป็นต้องศึกษาภูมิคุ้มกันทั้ง 2 แบบ อาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทั้ง 2 กลุ่ม เมื่อถูกกระตุ้นด้วยโปรตีนหนามแหลมของโคโรน่าไวรัส (S1 peptide pool) สามารถหลั่งไซโตไคน์อิเตอเฟอรอนแกรมม่า (IFN-γ) เพื่อกำจัดไวรัสได้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน

การได้รับวัคซีนแอสต้าเซนเนก้าเข้าใต้ผิวหนังแบบลดโดส (ปริมาณ 1 ใน 5 ของโดสปกติ) ของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มมาแล้ว 4-8 สัปดาห์ หรือกลุ่มที่ได้รับมาแล้ว 8-12 สัปดาห์ ระดับภูมิคุ้มกันทั้งการสร้างแอนติบอดี้และทีเซลล์ (T cells) ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

 อาสาสมัครทั้ง 95 คนในโครงการวิจัย ไม่พบอาการข้างเคียงที่รุนแรงทั้งหมด ในกลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง มีผลข้างเคียงทางร่างกาย เช่น อาการไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อย น้อยกว่ากลุ่มที่ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่มีผลข้างเคียงทางผิวหนัง เช่น อาการบวม แดง ร้อน และคัน มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ซึ่งอาการดังกล่าวหายเองได้ทั้งหมด

ทางคณะผู้วิจัยขอบคุณอาสาสมัครและผู้มีส่วนร่วมในโครงการวิจัยทุกท่าน ทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้ทราบต่อไปเป็นระยะ


เรื่องที่เกี่ยวข้อง