หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

สงขลา | สถาบันทรัพยากรทะเลฯ ม.อ. ใช้นวัตกรรมโดมทะเล แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่สงขลา
11 มีนาคม 2563 | 6,207
สงขลา | สถาบันทรัพยากรทะเลฯ ม.อ. ใช้นวัตกรรมโดมทะเล แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่สงขลา

วานนี้ 9/10/63 สถาบันทรัพยากรทะเลฯ ม.อ. ใช้นวัตกรรมโดมทะเล แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่สงขลา โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นำองค์ความรู้และนวัตกรรมโดมทะเล จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในพื้นที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร ซึ่งมีปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในจังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 26/2/63 ที่โรงแรมราชมังคลา สงขลาเมอร์เมด อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดการประชุมประชาสัมพันธ์ ชี้แจงวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงานโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สถาบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในจังหวัดสงขลาก่อให้เกิดความสูญเสียต่อทรัพย์สินทั้งของทางราชการและประชาชนในพื้นที่ การที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้จัดการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินงาน และรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งราชการเอกชน ประชาชนและองค์กรอิสระ จึงเป็นโอกาสที่จะได้ร่วมกันแสวงหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งของจังหวัด โดยใช้ทั้งองค์ความรู้ทางวิชาการและข้อเสนอแนะจากประชาชนซึ่งประสบปัญหาในพื้นที่จริง เพื่อการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

ผศ.ดร.เกื้ออนันต์ เตชะโต คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า โครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ได้รับมอบนโยบายจาก นายกฤษฎา บุญราช อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ให้ดำเนินการศึกษาเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของจังหวัดสงขลา ให้มีความยั่งยืนและลดความขัดแย้งในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและได้รับจัดสรรงบประมาณ พ.ศ.2561 ตามแนวทางการพัฒนาภาคใต้ เพื่อวางระบบป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศให้เกิดความยั่งยืนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งจังหวัดสงขลา

โดยการสำรวจพื้นที่แนวชายฝั่งสงขลา ระยะทาง 168.4 กิโลเมตร พบว่ามีพื้นที่ชายหาดจังหวัดสงขลา ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงในช่วงฤดูมรสุม ในหลายอำเภอไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อำเภอสิงหนคร อำเภอจะนะ อำเภอระโนด อำเภอเทพา และอำเภอเมือง และมีแนวโน้มที่จะมีการกัดเซาะมากขึ้นในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ดำเนินมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ทั้งในส่วนที่เป็นโครงสร้างแข็งหรือโครงสร้างทางวิศวกรรมและในส่วนของมาตรการเชิงบริหารจัดการ แต่เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีบริบทและเงื่อนไข ข้อจำกัดที่แตกต่างกันทั้งสภาพภูมิประเทศและชุมชนทำให้การดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร บางโครงการส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ใกล้เคียง ปัจจุบันยังไม่อาจสรุปได้ชัดเจนว่าโครงการหรือมาตรการเหล่านั้นประสบความสำเร็จหรือคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไปมากน้อยเพียงใด เนื่องจากขาดการติดตามผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่งอย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงก่อนและหลังดำเนินการ

ด้านดร.พลชาติ โชติการ หัวหน้าโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายธนาวุฒิ กุลจิตติชนก ประมงจังหวัดสงขลา นายอนุภาพ คงทอง ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาสงขลาและนางวีณา หนูยิ้ม ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (สงขลา) ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคเอกชนและประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ของแต่ละหน่วยงานและแสดงความคิดเห็น เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืนต่อไป

ซึ่งโครงการฯ เลือกพื้นที่บริเวณตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร ซึ่งมีปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรงในจังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่ต้นแบบ เพื่อทำการศึกษาวิจัยเชิงปฎิบัติการในพื้นที่จริง โดยนำองค์ความรู้ด้านวิศวกรรมชายฝั่ง “การใช้โดมทะเลเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง” ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผลการวิจัยในห้องปฎิบัติการและการใช้งานจริง โดมทะเลสามารถลดพลังงานและแรงปะทะของคลื่น สามารถปกป้องแนวชายฝั่งจากพายุ โดยมีการออกแบบช่องเปิดรอบแนวปะการังเพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่าน ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อกระแสน้ำชายฝั่ง มีการเสริมฐานหกเหลี่ยมเพื่อเพิ่มเสถียรภาพต้านการพลิกคว่ำ ไถลและทรุดตัวของโดมทะเล อีกทั้งโดมทะเลยังทำหน้าที่เป็นบ้านปลาได้อีกด้วย

การดำเนินการของโครงการฯได้ขออนุญาต และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมยุทธการทหารเรือ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า และกรมประมง โดยติดตามการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งทั้งก่อน ระหว่าง และหลังวางโดมทะเลอย่างต่อเนื่องในทุกมิติทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และสังคมเพื่อประเมินประสิทธิภาพและผลกระทบของโดมทะเลต่อพื้นที่ ทั้งนี้หากการวิจัยเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ประสบความสำเร็จ โดมทะเลจะเป็นต้นแบบในการเสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง อันจะนำไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและรักษาสมดุลของระบบนิเวศอย่างยั่งยืนของประเทศต่อไป

ขอบคุณภาพข่าว : Prince of Songkla University - PSUconnext

 

 

.


เรื่องที่เกี่ยวข้อง