หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าววิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

สงขลา | หวั่น! ทะเลจะกัดเซาะชายฝั่งจนหมดสิ้น
11 ธันวาคม 2562 | 12,310
สงขลา | หวั่น! ทะเลจะกัดเซาะชายฝั่งจนหมดสิ้น

วันนี้(11/12/62) ผู้ใช้เฟชบุ๊ก ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบ ตื่นเถิดพี่น้องชาวสงขลาเราเสียพื้นดิน จากระโนด-เทพา ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ปีละประมาณ 100 ไร่ให้กับ ทะเล ผมในฐานะเด็กสงขลา เดินทางถึง เก้าเส้ง มองเห็นชายหาด ต้นสน นึกตลอดว่า อีกไม่นานคงถึงถนน ผมมั่นใจว่าคนสงขลา นักท่องเที่ยวคิดเหมือนผม ปัญหานี้ต้องเป็นวาระสงขลา ติดตามการอภิปราย ปรึกษาหารือ เรื่องทะเลกัดเซาะ สงขลาบ้านเรา วันนี้ พุธ 11 ธันวาคม 62 เวลา 13.00 น. ทีวีรัฐสภา ช่อง 10 เป็นกำลังใจให้เด็กสงขลา ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา 

ทั้งนี้ จังหวัดสงขลามีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 159 กิโลเมตร ครอบคลุมเขตอำเภอระโนด อำเภอสทิงพระอำเภอสิงหนคร อำเภอเมืองสงขลา อำเภอจะนะ และอำเภอเทพาลักษณะชายฝั่งท้องที่จังหวัดสงขลา เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างคลื่นกับตะกอน และการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล มีการถอยร่นของน้ำทะเลในอดีตเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่แล้ว (สมัยโฮโลซีน) จนพัฒนาเป็นแนวสันดอนจะงอยด้านตะวันออกของทะเลสาบสงขลา โดยด้านทิศตะวันออกติดกับทะเลอ่าวไทย พื้นที่ทางทิศตะวันออกจึงเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล ชายฝั่งมีลักษณะเป็นหาดทรายยาวทอดตัวในแนวเกือบเหนือใต้ ตั้งแต่อำเภอระโนดลงมาจนถึงหัวเขาแดงที่เป็นภูเขาหินทรายติดกับทางเข้า-ออก ของทะเลสาบสงขลา ปากทะเลสาบทางด้านใต้เป็นสันดอนจะงอย ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนขนาดใหญ่ของจังหวัดสงขลาที่ทอดตัวยาวลงไปจนถึงเขาเก้าเซ้งที่เป็นหินแกรนิตอยู่ริมทะเล จากนั้นเป็นหาดทรายขาวที่มีความกว้างสลับกับแนวลากูน ต่อเนื่องไปจนถึงอำเภอจะนะ และอำเภอเทพาจรดกับเขตจังหวัดปัตตานี

สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่ง

               บริเวณชายฝั่งของจังหวัดสงขลามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นช่วงที่มีกระแสคลื่นและลมแรง บริเวณชายฝั่งจังหวัดสงขลา จึงมีพื้นที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตั้งแต่อำเภอระโนด ถึงอำเภอเทพา และหลังฤดูมรสุมชายฝั่งจะปรับตัว เป็นพื้นที่ชายฝั่งสะสมตัว (Depositional Coast) และพื้นที่ชายฝั่งคงสภาพ (Stable Coast)

สถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งในอดีต

               กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งจังหวัดสงขลาในช่วงปี พ.ศ. 2495-2551 พบว่าประสบปัญหากัดเซาะรวม 17 ตำบล จากจำนวน 28 ตำบล ระยะทางประมาณ 54.53 กิโลเมตร โดยจำแนกเป็นแนวชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะรุนแรงรวม 5 ตำบล ใน 4 อำเภอ ประกอบด้วย ตำบลสะกอม อำเภอจะนะ ตำบลเทพา อำเภอเทพา ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด ตำบลปากแตระ อำเภอระโนด และตำบลหัวเขา อำเภอเมือง ระยะทางที่ถูกกัดเซาะรวม 13.43 กิโลเมตร ส่วนชายฝั่งบริเวณท้องที่อื่นๆ จะถูกกัดเซาะระดับปานกลาง เป็นระยะทาง 41.10 กิโลเมตร และสถาการณ์การกัดเซาะในอดีต

               ข้อมูลจากโครงการศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศไทยร่วมกับการศึกษาการเปลี่ยนแปลงแนวชายฝั่งทะเลโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ. 2550 และ พ.ศ. 2555 (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2555) สามารถสรุปพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะแนวชายฝั่งได้ดังนี้ ผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่ง ครอบคลุม22ตำบลรวมระยะทาง 32.98 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นการกัดเซาะระดับปานกลาง (1-5 เมตรต่อปี) มีพื้นที่ที่มีปัญหาการกัดเซาะรุนแรง (มากกว่า 5 เมตรต่อปี) ที่หาดทรายแก้ว ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนครบ้านปากบางเทพา ตำบลเทพา และปากคลองตูหยง ตำบลปากบาง อำเภอเทพา

               กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2559) ได้วิเคราะห์ระดับความรุนแรงของพื้นที่ที่ประสบปัญหากัดเซาะชายฝั่งท้องที่จังหวัดสงขลาพบว่าพื้นที่ที่มีระดับการกัดเซาะรุนแรงขั้นวิกฤติ เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอสิงหนครและอำเภอระโนดรวม 8 หมู่บ้านเนื้อที่ที่ได้รับความเสียหายรวม 97.57 ไร่ระยะทางทั้งหมด  8.23 กิโลเมตร พื้นที่ดังกล่าวติดอยู่ในท้องที่อำเภอระโนดรวม 5 หมู่บ้าน 3 ตำบลได้แก่ตำบลปากแตระตำบลระวะ และตำบลบ่อตรุและอำเภอสิงหนครระดับการกัดเซาะรุนแรงขั้นวิกฤติ เกิดขึ้นในท้องที่ตำบลชิงโคและตำบลหัวเขา

สถานภาพการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบัน

               จากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลของกองบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง ร่วมกับสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 6 (จ.สงขลา) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 พบว่าชายฝั่งจังหวัดสงขลา มีระยะทางแนวชายฝั่งยาวประมาณ 158.53 กิโลเมตร ซึ่งแยกเป็นหาดทรายประมาณ 155.31 กิโลเมตร หาดหินประมาณ 1.52กิโลเมตร และปากแม่น้ำประมาณ 1.70 กิโลเมตร

               นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกสถานการณ์ตามแนวชายฝั่งออกเป็นพื้นที่กัดเซาะรุนแรง (มากกว่า 5 เมตร/ปี) ประมาณ 12.05 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะปานกลาง (1-5 เมตร/ปี) ประมาณ 0.75 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะน้อย (น้อยกว่า 1 เมตร/ปี) ประมาณ 4.73 กิโลเมตร พื้นที่มีการดำเนินการแก้ไขแล้วประมาณ 35.72 กิโลเมตร พื้นที่สมดุลประมาณ 96.84 กิโลเมตร พื้นที่สะสมมากประมาณ 5.23 กิโลเมตร พื้นที่ปากแม่น้ำประมาณ 1.71 กิโลเมตร และพื้นที่หาดหินประมาณ 1.52 กิโลเมตร

ขอบคุณข้อมูล/ภาพ : ผู้ใหญ่บ้าน อานนท์ สาเมาะ , ณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ,กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง


เรื่องที่เกี่ยวข้อง