หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา
28 พฤษภาคม 2561 | 7,117

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามสกุล "ณ สงขลา" (เขียนด้วยอักษรโรมันว่า "na Songkhla") แก่พระยาพฤกษาภิรมย์ (ฑิตย์) กรมมหาดเล็ก สกุลเจ้าพระยาสงขลา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2456  

เมื่อกล่าวถึง นามสกุล ณ สงขลา ก็อดไม่ได้ที่จะไม่กล่าวถึง บรรพบุรุษ และสายสัมพันธ์ของตระกูล ณ สงขลา ในเว็บชมรมสายสกุล ณ สงขลา ได้กล่าวถึงผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ซึ่งนายณัฐพล ณ สงขลา เป็นผู้เรียบเรียงเอาไว้  

มาเริ่มกันที่ต้นตระกูล ณ สงขลากันเลย ราวปี พ.ศ. 2293 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี มีจีนเหยี่ยง แซ่เฮา จากเมืองเจียงจิ้วหู ตำบลบ้านเสหิ้น เหนือเมืองแอมุ่ย มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน ได้มาตั้งรกรากอยู่ที่เมืองสงขลา ขณะที่มีอายุได้ 34 ปี ท่านเหยี่ยงได้เริ่มอาชีพด้วยการเกษตรกรรมปลูกพลูและทำสวนในแถบเมืองจะนะ แล้วจึงขยายตัวเป็นการประมง ดักโพงพางในทะเลสาบ และย้ายมาตั้งบ้านใหม่ที่ฝั่งแหลมสน เติบโตเป็นคหบดี ราษฎรชาวบ้านเรียกว่า "ตั้วแปะ"  
ต่อมาได้เริ่มรับราชการเป็นนายอากรทำอากรรังนกเกาะสี่เกาะห้า และได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นหลวงสุวรรณคีรีสมบัติ และเป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลาคนแรกในตระกูล "ณ สงขลา" เมื่อ พ.ศ. 2318 

พระยาสุวรรณคีรี (เหยี่ยง) มีภรรยาเป็นคนพัทลุง และมีบุตร 5 คน คือ บุญหุ้ย บุญเฮี้ยว บุญชิ้น เถี้ยนเส้ง และยกเส้ง และถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่ออายุได้ 68 ปี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายบุญหุ้ย บุตรชายคนโตเป็นเจ้าเมืองสงขลาสืบต่อมา 

มาต่อกันที่เจ้าเมืองสงขลาต่อไป นั่นก็คือ เจ้าพระยาอินทคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย)  เป็นบุตรคนโตของงพระยาสุวรรณคีรี (เหยี่ยง) ท่านได้ชื่อว่าเป็น วีรบุรุษเมืองสงขลา ปกครองเมืองสงขลา ในช่วงปี พ.ศ. 2327-2354  

ในปี พ.ศ.2329  มีพม่ายกกองทัพมาตีเมืองนครศรีธรรมราชแตก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลยกกองทัพมาตีเอาเมืองนครคืน เมื่อเสร็จศึกแล้วจึงเสด็จฯ ต่อมาตั้งพลับพลาที่ตำบลบ่อพลับ เมืองสงขลา และให้พระยาไทร พระยาตรังกานู พระยากลันตัน และพระยาตานี มาเข้าเฝ้าฯ พร้อมกัน แต่พระยาตานีแข็งขืน จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เป็นทัพหน้าไปตีเมืองตานี ก่อนที่ทัพหลวงจะตามไปจับตัวพระยาตานี พร้อมนำปืนใหญ่นางพญาตานี ไปเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่กรุงเทพฯ  

ความดีความชอบในครั้งนั้น จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) และนายบุญเฮี้ยวได้เป็นพระอนันตสมบัติและเป็นผู้ว่าราชการเมืองจะนะ นายบุญชิ้นเป็นพระพิเรนทรภักดี และนายเถี้ยนเส้งเป็นพระสุนทรนุรักษ์ ช่วยราชการเมืองสงขลาทั้ง 3 คน 

ตลอดระยะเวลาการปกครองเมืองสงขลาของพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (บุญหุ้ย) เต็มไปด้วยศึกสงครามกับข้าศึก ได้ร่วมปราบกองทัพพม่าที่เข้ายึดเมืองถลาง ปราบกบฎแขกโต๊ะสาเหยดและพระยาตานี มีความชอบเป็นอันมาก จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยาอินทคีรีศรีสมุทรสงครามรามภักดี อภัยพิริยบรากรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา และยกเมืองสงขลาเป็นเมืองเอกให้ขึ้นกับกรุงเทพฯ อีกทั้งพระราชทานยกเมืองไทรบุรี เมืองตานีและตรังกานูให้ขึ้นกับเมืองสงขลาด้วย 

ปีพ.ศ. 2331 พระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) เจ้าเมืองจะนะได้ถึงแก่กรรม เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) จึงอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้ง 3 คนแทน คือ เถี้ยนจ๋ง เถี้ยนเส้ง และเถี้ยนไล่ (ต่างมารดา) โดยถวายเถี้ยนจ๋งไปเป็นมหาดเล็กที่กรุงเทพฯ 

ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาลำดับที่ 3 หรือเจ้าเมืองสงขลาคนที่ 2 คือ พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) เป็นบุตรของพระอนันตสมบัติ (บุญเฮี้ยว) ซึ่งเป็นน้องของเจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ปกครองเมืองสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2354-2361 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมืองถลางถูกพม่าเข้ายึดได้อีก จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เชิญท้องตราไปยังเมืองสงขลาเพื่อเกณฑ์ไพร่พลจากเมืองสงขลา พัทลุง และไทรบุรี ร่วมทัพกับเจ้าพระยายมราชไปตีเมืองถลางคืนได้  

เมืองสงขลาปราศจากข้าศึกอยู่ 3 ปี เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ก็ถึงแก่อสัญกรรม เจ้าพระยาอินทคีรีไม่มีบุตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หลวงนายฤทธิ์ (เถี้ยนจ๋ง) เป็นพระยาวิเศษภักดีศรีสุรสงคราม พระยาสงขลาสืบมา  
พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง) ว่าราชการเมืองสงขลาได้ 7 ปี ได้สร้างอุโบสถที่วัดสุวรรณคีรี แต่ยังมิทันสำเร็จก็ถึงแก่กรรม 

พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 4  ใน พ.ศ.2361 - 2390 ผู้ที่ราษฎรเรียกกันว่า "เจ้าคุณสงขลาเสือ" หลังจากที่พระยาวิเศษภักดี ถึงแแก่กรรม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระสุนทรนุรักษ์ (เถี้ยนเส้ง) ผู้เป็นน้องชายเป็นพระยาสงขลาสืบต่อมา โดยมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง)  

พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง)  ท่านเป็นผู้ย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งแหลมสนมาตั้งที่ฝั่งทะเลสาบด้านตรงข้าม นั่นก็คือที่ตำบลบ่อย่าง ซึ่งเป็นที่ตั้งเมืองสงขลาในปัจจุบัน และท่านยังเป็นคนที่สร้างกำแพงเมือง ศาลหลักเมืองสงขลา และก่อตึกจีนเป็นจวนผู้ว่า  

สำหรับเจ้าคุณสงขลาเสือ ที่ราษฎรเรียกกันนั้น เป็นเพราะว่า ท่านมีอัธยาศัยดุร้าย ท่านเคยเกณฑ์ราษฎรไปล้อมจับเสือที่ตำบลบ้านศีรษะเขา เป็นผู้ชำนาญในการยิงปืน แม้ว่าท่านจะมีอัธยาศัยดุร้าย แต่ท่านก็เป็นผู้ที่ศรัทธาในพุทธศาสนา ได้สานต่อการสร้างอุโบสถวัดสุวรรณคีรีจนสำเร็จ  

เรื่องราวของผู้สำเร็จราชการดำเนินมาจนถึงลำดับที่ 4 แล้ว คน เหตุการณ์ของสงขลาจะเป็นอย่างไรต่อไป ท่านใดได้สร้างอะไรให้กับสงขลาบ้าง รอติดตามกันได้ในเร็ววัน  

 

ขอบคุณภาพและข้อมูล : ชมรมสายสกุล ณ สงขลา  
ขอบคุณภาพปก : gallica 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง