หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

หาดใหญ่ | ที่มาถนนสายต่างๆ ของเมืองหาดใหญ่
25 พฤษภาคม 2561 | 24,300

จากถนนสายแรกนามว่า "ถนนเจียกีซี" สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2459

วันนี้ หาดใหญ่โฟกัส จะมานำเสนอ "ที่มาและความหมายของชื่อถนนสายต่างๆ ในเมืองหาดใหญ่" ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เด็กรุ่นใหม่หลายๆคนไม่เคยรู้มาก่อน ตั้งแต่เริ่มตัดถนนสายแรก "ถนนเจียกีซี" บริเวณหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ โดยการตั้งชื่อแต่ละถนนย่อมมีความหมายตามสภาพภูมิประเทศ นักปกครอง คนมีชื่อเสียงในสมัยนั้น หรือเจ้าของที่ดิน

เริ่มต้นกันที่ถนนสายแรกของเมืองหาดใหญ่กันก่อนดีกว่า ถนนสายนี้มีชื่อว่า "ถนนเจียกีซี" เป็นถนนสายตรงที่สร้างขึ้นบริเวณหน้าสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ โดยแนวถนนมุ่งไปทางทิศตะวันออก สร้างขึ้นโดย " นายเจียกีซี (ขุนนิพัทธ์จีนนคร) " ในปี พ.ศ.2459 ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนธรรมนูญวิถี" ซึ่งเป็นชื่อถนนที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี การเปลี่ยนชื่อถนนก็มาจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม (พ.ศ.2486) อันเป็นยุครณรงค์วัฒนธรรมไทย โดยสั่งให้มีการเปลี่ยนชื่อถนนจากชื่อต่างประเทศให้เป็นชื่อไทย ส่วนชื่อ "ถนนธรรมนูญวิถี" หมายถึง พ.ศ.2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองประกาศใช้กฏหมายรัฐธรรมนูญ

ถนนธรรมนูญวิถี (เจียกีซี)

หากถามหาถึง "ถนนเจียกีซี 1,2,3" เด็กรุ่นนี้ก็คงจะไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่ามันคือ "ถนนสาย 1,2,3" คงจะต้องร้องอ๋อเป็นแน่ ใช่แล้วมันคือถนนสายเดียวกัน แค่ถูกเปลี่ยนชื่อไปพร้อมๆ กับถนนเจียกีซีในยุคจอมพล ป. โดยถนนเจียกีซี 1 ตอนแรกถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนนิพัทธ์อุทิศ" อันเป็นอนุสรณ์แก่นายเจียกีซี ส่วน ถนนเจียกีซี 2 เปลี่ยนชื่อเป็น "ถนนไทยอิสระ" อันหมายถึงประเทศไทยเป็นอิสระ และถนนเจียกีซี 3 ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ถนน 24 มิถุนา" หมายถึง วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมา นายประเสริฐ กาญจนดุล นายอำเภอหาดใหญ่ในขณะนั้น (คนที่ 12) ได้มีการเปลี่ยนชื่อถนนอีกครั้งเป็น "นิพัทธ์อุทิศ 1,2,3" ตามลำดับ ต่อมาคนรุ่นหลังก็เรียกชื่อถนนทั้ง 3 สายสั้นๆ ว่า "สาย1,2,3" นั่นเอง

"ถนนพลพิชัย" เป็นถนนที่เด็กโรงเรียน ญ.ส. โรงเรียนพลวิทยา โรงเรียนเทศบาล 2 และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ รู้จักกันเป็นอย่างดี โดยที่มาของชื่อถนนสายดังกล่าวมาจาก "หลวงพล" นายตำรวจนอกราชการในสมัยนั้น อาศัยอยู่อำเภอเหนือ (อำเภอหาดใหญ่) มาอย่างยาวนาน เมื่อก่อนบ้านของแกอยู่แถวๆ "สนามชนโค" ปัจจุบันคือบริเวณโรงเรียนหาดใหญ่สมบูรณ์กุลกันยา (ญ.ส.)

"ถนนสาครมงคล" ถนนแถวๆ ชุมชนบางหัก ซึ่งถนนเส้นนี้ตั้งชื่อตามลักษณะภูมิประเทศ หมายถึง ถนนที่อยู่ติดแม่น้ำลำคลองหาดใหญ่ เนื่องจากแนวถนนเส้นนี้เลียบคลองอู่ตะเภานั่นเอง

"ถนนศรีภูวนารถ" ถนนสายสำคัญของเมืองหาดใหญ่ เช่นเดียวกันกับ ถนนธรรมนูญวิถี และถนนนิพัทธ์อุทิศ โดยขุนนิพัทธ์ต้องการสร้างถนนสายนี้ เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในการคมนาคม ทำให้การเดินทางไปสู่ "สุสานจีนบ้านพรุ" สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยตั้งชื่อถนนเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ "หลวงภูนารถบุรารักษ์ (อ่อน เศวตนันท์)" นายอำเภอฝ่ายเหนือคนแรก

"ถนนศุภสารรังสรรค์" ชื่อถนนมาจากสกุล "เถ้าแก่ยกสั่น" อันเป็นสกุลที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และในสมัยนั้นพื้นบริเวณถนนศุภสารรังสรรค์ มีสภาพเป็นทุ่งหญ้ากว้างโล่ง เถ้าแก่ยกสั่นเป็นพ่อของนายซีกิมหยง

ถนนกาญจนวณืชย์ แต่เดิมถนนสายนี้มีชื่อว่า ถนนไทรบุรี โดยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้สร้างถนนสายนี้ขึ้น เพื่อเชื่อมต่อเมืองสงขลาและเมืองไทรบุรี ต่อมาในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งชื่อทางหลวงสายสงขลา - สะเดาว่า "ถนนกาญจนวณิชย์" เพื่อเป็นเกียรติแก่ "พระยาประกิตย์กลศาสตร์" (ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์) อดีตนายช่างด้านสงขลา ผู้สร้างถนนจากสงขลาไปยังสะเดา

ถนนไทรบุรี (กาญจนวณิชย์)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง