หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ผ้าทอเกาะยอ ผ้าแห่งความภาคภูมิใจของชาวสงขลา
28 กุมภาพันธ์ 2561 | 31,159

ผ้าทอเกาะยอ หรือผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของชาวบ้านในตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นผ้าพื้นเมืองที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสงขลา ผ้าทอเกาะยอส่วนมากทอมาจากเส้นใยฝ้าย มีเนื้อแน่น ลวดลายไม่ซับซ้อน เป็นลวดลายที่เกิดจากการขิด โดยการทอด้วยมือและแบบเหยียบตะกอแยกเส้นยืนขึ้น-ลง ทำให้เกิดลายตารางคล้ายกับผ้าขาวม้า นิยมใช้ทำผ้าโสร่งและผ้านุ่ง โดยมีจุดเด่นของผ้าทอเกาะยอจึงอยู่ที่มีลายในเนื้อผ้าที่นูนขึ้นมา มีลายเส้นละเอียดสวยงามและมีความคงทน เนื้อผ้าดูแลรักษาง่าย ลายตารางที่มีขนาดเล็กซ้อน ๆ กัน ทอด้วยด้ายสองสี เช่น สีขาว-แดง สีขาว-แดงแซมดำ สีขาว-แดงแซมเหลือง จึงมักเรียกผ้านี้ว่า “ผ้าลายราชวัตร” 

การทอผ้าของชาวเกาะยอนั้น มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาเป็นผู้สอนการทอให้กับชาวบ้านในบริเวณนั้น ในระยะแรกของการทอนั้นจะทอเพื่อใช้กันในครัวเรือน และแจกจ่ายญาติมิตร ใช้กี่มือที่มีโครงการเป็นไม้ไผ่ และใช้ตรนแทนลูกกระสวยในการทอ ผ้าที่ทอจะเป็นพื้นเรียบ ๆ ไม่มีลวดลาย ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ วัฒนธรรมการทอผ้าถูกถ่ายทอดเข้ามาทำให้รูปแบบการทอผ้าเปลี่ยนไปเป็นแบบยกดอกชนิดต่าง ๆ  

 ผ้าทอลายราชวัตร เดิมไม่ได้เรียกชื่อนี้ แต่เรียกว่า ลายก้านแย่งหรือลายคอนกเขา สาเหตุก็เพราะ ผ้าทอลายนี้ทอ ออกมาแล้วจะคล้าย ๆ กับคอนกเขาชวา จึงเรียกว่า ลายคอนกเขา ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสเมืองสงขลาและแหลมมลายู ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2432 พระองค์ได้ทรงเยี่ยมราษฎรชาวเกาะยอ มีหลักฐานปรากฏอยู่ใน จดหมายเหตุฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองสงขลาและแหลมมลายู ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2443 โดยเสด็จลงเรือพระที่นั่งกระเชียง มีเรือกลไฟเล็กจูงไป ขึ้นที่ปากน้ำเมืองสงขลาผ่านหน้าเมืองไปถึงเกาะยอแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับบนพลับพลา ซึ่งพระยาอนันตสมบัติ (เอม ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลาจัดสร้างไว้รับรับเสด็จ ประทับอยู่ครู่หนึ่งแล้วเสด็จไปทอดพระเนตร สวนผลไม้ โรงปั้นหม้อ เสด็จกลับพลับพลา เสวยกลางวันที่นั้น (บ้านสวนทุเรียน หมู่ที่ 4 ตำบลเกาะยอ )  

ทางราชการได้ใช้เป็นที่รับเสด็จโดยทางราชการได้เกณฑ์ผู้คน จำนวนมากมาช่วยกันถมที่เพื่อสร้างพลับพลารับเสด็จ โดยขุดลอกเป็นร่องน้ำเพื่อสร้างตะพาน (สะพาน) คุณยายก่ำ ภัทรชนม์ ได้นำผ้าทอมือที่สวยที่สุดในสมัยนั้น ขึ้นถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นผ้าที่คุณยายทอเอง จากกี่มือ (4 ตะกอ) ทรงพอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานชื่อให้ใหม่ว่า “ลายราชวัตร” ซึ่งแปลว่า กิจวัตรหรือการกระทำ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 เวลา 5 โมงเศษ หลังจากนั้นพระองค์ก็เสด็จกลับ ผ้าทอเกาะยอจึงเรียกต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้ ในนาม ผ้าทอลายราชวัตร 

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ บอกว่าในปี 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จนิวัตเมืองสงขลา ในครั้งนั้นชาวเกาะยอได้คัดเลือกสุดยอดของลายผ้าที่ถือว่ามีลวดลายที่สวยที่สุดระดับราชาแห่งผ้าของเมืองใต้ถวายแด่พระองค์ ครั้นเมื่อในหลวงรัชกาลที่ 7 ทอดพระเนตรผ้าได้มีรับสั่งถามว่า ผ้าลายอะไรสวยงามนัก ผู้ถวาย (ไม่ทราบชื่อ) ได้ทูลว่า เป็นผ้าลายยกดอกก้านแย่งประเภท 4 ตะกอ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ลายคอนกเขา เนื่องจากว่ามีลายคล้ายลายขนคอนกเขา ชาวบ้านสมัยนั้นนิยมใช้เคียนอกอยู่กับบ้านและผู้ชายใช้พาดบ่าเวลาไปวัด เมื่อทรงทราบความตามนั้นแล้วจึงได้พระราชทานนามให้ว่า "ราชวัตถ์" ซึ่งแปลว่า "ราชาแห่งผ้า" ต่อมา ในปี 2482 กรมการเมืองสงขลาได้ขอครูทอผ้าชาวจีนมา 2 คน ชื่อ นายยี่สุ่น และนายพุดดิ้น ให้มาช่วยสอนการทอผ้าให้แก่ชาวเกาะยอที่วัดแหลมพ้อ (วัดหัวแหลม) โดยใช้กี่กระตุกเป็นครั้งแรก และนับแต่นั้นมาชาวเกาะยอก็หันมาทอผ้าด้วยกี่ชนิดนี้จนถึงปัจจุบัน 

 
ผ้าทอเกาะยอ ทอจากฝ้าย และขึ้นลายตามแบบที่นิยมกันมา นับแต่อดีต ลายซึ่งทอกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือ ลายราชวัตร และผ้าเก็บดอก เช่น ลายดอกพิกุล ลายคชกริช ลายดอกพยอม ในอดีตชาวบ้านทอผ้าโดยไม่ทราบชื่อลาย แต่ใช้วิธีการเรียกชื่อกันอย่างง่าย ๆ อาศัยจดจำวิธีการ ต่อมาเมื่อมีการพลิกแพลงสร้างลวดลายใหม่ ๆ จึงมีการตั้งชื่อลายตามผู้คิดลาย เช่น ลายโกเถี้ยม และเริ่มเรียกชื่อลาย ตามลักษณะพืชพันธุ์ที่ดูคล้ายคลึงกับลายผ้า อาทิ ลายดอกขี้ไก่ ในปัจจุบันเกิดลวดลายใหม่ๆ ของผ้าทอเกาะยอถึง 58 ลาย 

 ขอบคุณภาพและข้อมูล : องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะยอ
 
 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง