หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

กำเนิดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ตอนที่ 1
2 ธันวาคม 2560 | 9,358

วันนี้เราจะพาทุกท่านไปจังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในเมืองโบราณเก่าแก่ในแคว้นภาคใต้ ในอดีตมีชื่อดินแดนแห่งนี้ในหลายๆชื่อ คัมภีร์มหานิเทศของอินเดีย ราวพุทธศตวรรษที่ 8 เรียกเมืองนครฯว่า "ตามพรลิงค์" บันทึกโบราณของจีนเรียกว่า "เซี๊ยะโท้ว"  หรือ "รักตะมฤติกา" โดยทุกชื่อล้วนหมายถึง "ดินแดนที่มีสีแดง" ในศตวรรษที่ 20 เรียกดินแดนนี้ว่า "ลิกอร์" โดยเพี้ยนมาจากคำว่า "นคร" ส่วนชื่อ "นครศรีธรรมราช" มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต นามว่า "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช" ในราชวงศ์ศรีธรรมโศกราช อันมีความหมายว่า "เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่" และเป็นผู้ที่นักวิชาการสันนิษฐานว่าเป็นผู้สร้าง "พระบรมธาตุเจดีย์" ปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคใต้

 

นางเหมชาลาฒและพระธนกุมาร

บ่อยครั้งที่แอดมินมีโอกาสเดินทางจากเมืองหาดใหญ่ไปจังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งที่พลาดไม่ได้ทุกครั้ง ก็คือการเข้าไปกราบนมัสการพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุ (ชื่อเดิม:วัดพระบรมธาตุ) พระบรมเจดีย์นี้เองมีส่วนเกี่ยวข้องกับ ตำนานหัวนายแรง, พระธาตุควนธง, ควนเจดีย์เขาคอหงส์ ฯลฯ ตามตำนานเล่าถึงการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เอาไว้ว่าเมื่อปี พ.ศ.854 นางเหมชาลาฒและพระธนกุมาร ได้มีการอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาจากเมืองลังกา (พระเขี้ยวแก้ว) แต่ครั้นเสด็จมาถึงหาดทรายแก้ว เรือได้แตกติดอยู่ที่บริเวณหาดทรายแก้ว จึงได้ทำการฝังซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ที่หาดทราย ต่อมาได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วกลับเมืองลังกา และนำพระธาตุส่วนหนึ่งกลับมาประดิษฐานยังจุดที่เคยซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ ต่อมา "พระเจ้าศรีธรรมโศกราช" ผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ครอบเอาไว้

พระเจ้าศรีธรรมโศกราช

ปี พ.ศ.1790 พระเจ้าจันทรภาณุ หรือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราชที่ 2 แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ พระมหากษัตริย์ที่แผ่พระอานุภาพไปถึงเกาะลังกา พระองค์เป็นผู้ประกาศอิสรภาพจากอาณาจักศรีวิชัยให้แก่นครศรีธรรมราช พระองค์ได้บูรณะองค์เจดีย์ขึ้นใหม่ ด้วยในระยะพระบรมธาตุเดิมเป็นแบบศรีวิชัยและชำรุดทรุดโทรมมาก พระภิกษุและชนชาวลังกาที่มาอยู่ที่นครศรีธรรมราช รวมทั้งชาวนครฯเองด้วย ลงความเห็นกันว่าเห็นควรบูรณะซ่อมแซมองค์พระบรมธาตุเสียใหม่ให้แข็งแรง โดยให้สร้างใหม่หมดทั้งองค์ตามแบบทรงลังกา และให้คร่อมทับพระเจดีย์องค์เดิมไว้โดยสร้างเป็นพระสถูปทรงโอคว่ำ พระเจดีย์องค์เดิมได้ค้นพบเมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีหลักฐานยืนยันว่าชนชาวลังกาได้มาอยู่ที่นครฯจริง ด้วยในปี พ.ศ. 2475 ได้ขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกต 1 องค์ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นฝีมือของชาวลังการุ่นเก่า โดยขุดพบที่บริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุฯ ปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ได้เก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระเจ้าจันทรภาณุ

ปัจจุบัน "พระบรมธาตุเจดีย์" ประดิษฐานอยู่ภายใน "วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร" เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของชาวนครศรีธรรมราช และชาวใต้ทั้งปวง และยังคงมีการบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์อยู่เสมอ ถึงแม้ว่ายังไม่ปรากฎหลักฐานที่แน่นอนเกี่ยวกับประวัติการสร้าง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง