หลายครั้งที่ออกเดินทาง เรามักขับขี่ไปตามเส้นทางที่เราคุ้นเคย หรือถ้าออกนอกเส้นทางหน่อย ก็เปิด Google map นำทางไปยังจุดหมายปลายทาง การที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เราทุกอย่าง บางครั้งมันก็ทำให้เราลืมมองข้างทางไปว่ามีอะไรที่มากกว่าจุดหมายปลายทางตามที่ Google map นำทาง
เมื่อก่อนจำได้ว่าก่อนจะออกเดินทางไปต่างถิ่น หรือไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นชิน ก็จะทำการสอบถามจากผู้รู้ก่อน ระหว่างเดินทางก็จะมองป้ายบอกทาง และหาหลักกิโลเมตร ว่าอีกนานไหมว่าจะถึงเมืองที่เราต้องการจะไป
ครั้งหนึ่งในวัยมัธยมต้น ขี่สองล้อคู่ใจบิดไปสงขลากับเพื่อนเป็นครั้งแรก เราทั้งคู่แทบไม่รู้เลยว่าสงขลาไปทางไหน รู้เพียงว่า ถ้าไปถึงสงขลาเราจะเห็นทะเลตามภาพในวัยเด็กที่ผู้ปกครองพาไป ก็ขี่มั่ว ๆ ไปตามประสาเด็ก มองป้ายบอกทาง มองหลักกิโลเมตร เห็นหลักกิโลเมตรบอก สิงหนคร 16 หาดใหญ่ 46 เอ๊ะ อยู่ตรงไหน ตัดสินใจขี่รถกลับทางเดิม สรุปวันนั้นเราก็ยังไปไม่ถึงทะเลสงขลา แล้วก็คุยกันเล่น ๆ กับเพื่อนว่าเราต้องหากิโลเมตรที่ 0 ให้เจอ เราถึงจะไปถึงสงขลาได้ นั่นคือความคิดของเด็กที่เผชิญโลกมาน้อยอย่างเรากล่าวในตอนนั้น แต่มันยิ่งใหญ่จริง ๆ นะ การไปสงขลาเนี้ย
จนมาถึงตอนนี้ ตอนที่สามารถปิดตาขับรถไปสงขลาได้ (เวอร์ไหม) แต่เราก็ยังหากิโลเมตรที่ 0 ของสงขลาไม่เจอ วันนี้ก็เลยอยากทำตามเป้าหมายในวัยเด็ก ซึ่งจะให้ขี่รถหาก็คงไม่ไหว ขอใช้ตัวช่วยค้นหาจากอากู๋แล้วกัน แทบจะไม่มีข้อมูลเลย แต่ยังโชคดีที่มีคนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ ต้องขอบคุณนายพุทธ ส่องศรี ที่บันทึกเรื่องราวของกิโลเมตรที่ 0 ของสงขลาไว้ใน gotoknow และเขียนเล่าไว้อย่างน่าสนใจ ขอหยิบยกเนื้อหาบางท่อนมาให้อ่านนะ
"ผู้อ่านทุกท่านคงเคยเห็นป้ายหรือหลักกิโลเมตรข้างทางหลวง บอกว่าเหลือระยะทางอีกเท่าไหร่จะถึงอำเภอหรือจังหวัดที่ถนนสายนั้น ๆ กำลังมุ่งหน้าไป อยู่ที่สะพานข้ามคลองสำโรง มองไปทางทิศเหนือ มีป้ายบอกว่า สงขลา 4 ก็หมายถึง อีก 4 กิโลเมตรจะถึงสงขลาแล้ว อันที่จริงตัวเมืองสงขลาที่บอกว่าเหลืออีก 4 กิโลจะถึงแล้วนั้น วัดจากไหน เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อย วัดจากที่ตั้งศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ ตลาดสดหรือนางเงือกที่แหลมสมิหลากันแน่"
"เมื่อแรกเริ่มนั้นมีถนนสายหลักคือถนนไทรบุรี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 ราว พ.ศ. 2405 จากริมกำแพงวัดไทรงามไปยังเมืองไทรบุรี ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการตัดถนนรามวิถีตามแนวกำแพงเมืองสงขลาด้านทิศตะวันออก ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสร้างทางรถไฟมาถึงสงขลาในปี พ.ศ. 2456 ถนนรามวิถีนี้ไปบรรจบกับถนนไทรบุรีที่บริเวณหน้าวัดหัวป้อมนอกเป็นอันสิ้นสุด ส่วนถนนไทรบุรีนั้น เมื่อข้ามคลองสำโรง ออกนอกเขตเทศบาลสงขลาแล้ว ก็ตั้งชื่อว่าถนนกาญจนวนิช เพื่อเป็นเกียรติแก่พระยาประกิตกลศาสตร์ (ประกิต รณชิต กาญจนวณิชย์) อดีตนายช่างด้านสงขลา ถนนเส้นนี้ผ่านสามแยกคอหงส์ ไปถึงอำเภอสะเดาไปสิ้นสุดที่คลองพรวน ชายแดนไทย-มาเลเซีย รวมระยะทางทั้งสิ้นตั้งแต่ตัวเมืองสงขลาถึงชายแดน 84 กิโลเมตร"
"เดิมจุดเริ่มต้นหรือกิโลเมตรที่ศูนย์ของเมืองสงขลานั้น อยู่ที่หลังสถานีรถไฟสงขลา คนเก่าแก่เล่าให้ฟังว่าเคยมีหลักกิโล 0 อยู่ที่นี่ด้วย แต่ต่อมาคงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม สะดวกในทางวิศวกรรม การซ่อมแซมบำรุงทาง จึงให้กิโลเมตรที่ศูนย์ เริ่มต้นจากสี่แยก ตรงจุดที่ถนนรามวิถีตัดกับถนนจะนะและถนนปละท่า"
เมื่ออ่านประวัติเมืองสงขลา (29) กิโลเมตรที่ศูนย์ ของนายพุทธ ส่องศรีจบ ตอนนี้คำถามในวัยเด็กก็ถูกคลี่คลายลงไปทันที
ขอบคุณข้อมูลดี ๆ : นายพุทธ ส่องศรี
ภาพ : Arm Bo Ra
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 237จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 220บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 277ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 257พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 946รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 739เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 596ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 873