หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลาถึงขีดสุด...ณ เมืองสิงขระนคร เมืองท่าน่าทึ่ง
15 พฤศจิกายน 2560 | 18,333

เมืองสิงหนคร เมืองสิงขระนคร เมืองคชราชา

หากย้อนมองไปในอดีตช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 8 การค้าขายได้เปลี่ยนจากทางบก มาสู่การค้าขายทางทะเล โดยเฉพาะการค้าขายของชาวตะวันตกที่แล่นเรือทางทะเลมาค้าขายในทวีปเอเชีย (จีน,อินเดีย,ชวา,อยุธยา) แต่ขอบอกไว้ก่อนว่าการแล่นเรือในสมัยก่อน ไม่ได้รวดเร็วเหมือนสมัยนี้ จึงจำเป็นต้องมีการหยุดพักเป็นระยะ โดยอาศัยเมืองท่า เป็นจุดหยุดพัก เพื่อเติมเสบียงน้ำจืด และการซ่อมแซมเรือ เมื่อเราลองพิจารณา "ดินแดนทางภาคใต้ของสยาม" จะพบว่าเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งเส้นทางการค้าขาย คาบสมุทรสทิงพระเป็นอีกจุดหนึ่งที่เรือสินค้าของชาวตะวันตก มักจะใช้เป็นจุดพัก โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ว่า คาบสมุทรสทิงพระ เป็นศูนย์กลางอาณาจักรเซ็กโท ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียตรงในช่วงอาณาจักรศรีวิชัย เป็นระยะเวลาราวๆ 700 ปี อีกทั้งคาบสมุทรสทิงพระยังเป็นศูนย์กลางขอวดินแดนรอบๆ ทะเลสาบสงขลา ต่อมาเมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมลง หนึ่งในเมืองที่ยังคงอยู่ได้แก่ สิงขระนคร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชการที่5) ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยเอาไว้ว่า "สงขลา" เดิมชื่อว่า สิงหนคร (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) แต่มลายูอ่านออกเสียงยาก จึงเปลี่ยนมาอ่านว่า "สิง-คะ-รา" จนต่อมาเรียกกันว่า ซิงกอรา ดังที่เราได้ยินกัน

ตามบันทึกของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ มีการบันทึกเมืองสิงขระนครเอาไว้ในปี พ.ศ.2165 โดยมีการกล่าวถึงเจ้าเมืองสิงขระนครนามว่า ดาโต๊ะโมกอล จากบันทึกทำให้เราพอสรุปได้ว่าดาโต๊ะโมกอลเป็นผู้สร้างเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดงนั่นเอง จากประวัติของดาโต๊ะโมกอลเท่าที่ได้ศึกษามา เรื่องเริ่มต้นตรงที่ประเทศฝั่งตะวันตกล่าอาณานิคม ดาโต๊ะ โมกอล ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายๆคนเชื่อว่าท่านเคยปกครองเมืองสาเลย์ (เกาะชวา อินโดนีเซีย) ได้ล่องเรืออพยพหนีการล่าอาณานิคม มาหาทำเลที่เหมาะสมบริเวณหัวเขาแดง ท่านได้สร้สงบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ และยังมีการดัดแปลงพื้นที่บริเวณปากทางเข้าทะเลสาบสงขลา กลายเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ ที่สามารถจอดเรือสำเภาและเรือสินค้าได้ จนในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็กลายเป็นเมืองท่าที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก จนกระทั่งพระเจ้าทรงธรรมได้แต่งตั้งให้ ดาโต๊ะ โมกอล เป็นข้าหลวงใหญ่ของพระเจ้ากรุงสยามแห่งเมืองพัทลุง

ในระยะแรกเจ้าเมืองสิงขระนครยอมเป็นเมืองขึ้นกับอยุธยา โดยทำกิจการแลกเปลี่ยนสินค้าระดับนานาชาติ ทำการค้าขายกับประเทศมหาอำนาจอย่าง อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส จีน อินเดีย และฮอลันดา บันทึกประวัติศาสตร์ของหลายๆประเทศ ได้มีการกล่าวถึงเมืองสิงขระนครเอาไว้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ดินแดนแห่งนี้รุ่งเรืองถึงขีดสุด นานาประเทศหวังที่จะเข้ามาเป็นคู่ค้าแบบผูกขาดกับเมืองสิงขระนคร เมืองสิงขระนครได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาเดินหน้าอย่างรวดเร็ว และเพื่อสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจต่อผู้ค้านานาประเทศ เมืองสิงขระนครได้สร้างป้อมปราการที่แข็งแกร่งที่สุดขึ้น มีการสร้างกำแพงเมือง ป้อมปืนใหญ่ และประตูเมือง จนทำให้สิงขระนครได้ชื่อว่า เมืองท่าที่มีป้อมปราการแข็งแรงที่สุดในภาคใต้

ภายหลังจากความรุ่งเรือง ประกอบกับกรุงศรีอยุธยาเปลี่ียนแผนดิน สุลต่านสุไลมานจึงประกาศอิสรภาพจากกรุงศรีอยุธยา และสถาปนาตนเองเป็น "สุลต่าน" เป็นรามาธิบดีแห่งสิงขระนคร ในช่วงสมัยของพระเจ้าปราสาททอง โดยพระองค์ได้ส่งทัพมาตีเมืองสิงขระนครหลายครั้งหลายครา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากเมืองแห่งนี้มีป้อมปราการที่แข็งแรง และตั้งอยู่ชัยภูมิที่เหนือกว่า ดังหลักฐานจากข้อเขียนของ วัน วลิต (Van Vliet) ผู้แทนบริษัท Dutch East India Co., Ltd. ประจำกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเคยเดินทางมาเยือนเมือง สิงขระนคร เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2185 ได้เขียนรายงานไว้ว่า “พระเจ้าปราสาททอง ได้เคยส่งกองเรือจากกรุงศรีอยุธยามาร่วมกับกองทัพเมืองนครศรีธรรมราช (ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของสิงขระนคร) ทำการโจมตีสิงขระนครถึงสองครั้งในช่วงเวลาเพียง สองปี แต่ต้องประสพความพ่ายแพ้ไปทั้งสองครั้ง” แต่ในที่สุดเมืองแห่งนี้ก็ถูกตีแตกโดยกองทัพของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยมีพระบรมราชโองการยุบเมืองสุลต่าน ณ หัวเขาแดง กวาดต้อนกองกำลังและชาวบ้านลงเรืออพยพไป สิ้นสุดความรุ่งเรืองเมืองสิงขระนครในที่สุด

เกร็ดความรู้เมืองสิงหนคร

"เมืองสิงหนคร" เมืองโบราณอันเก่าแก่ของจังหวัดสงขลา เล่ากันว่าเมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองสร้างเมืองสทิงพระ ได้มีเมืองสิงหนครเป็นเมืองจัตวา มีนามว่า "เมืองคชราชา" เมื่อพูดถึงตำนานที่มาของชื่อเมืองก็มีเรื่องเล่าอยู่ว่า เมื่อครั้งเจ้าพระยากรุงทองได้เดินล่องป่าไปยังทิศใต้ ได้พบกับช้างลักษณะดี ตรงตามลักษณะพราหมณ์ จึงนำช้างเชือกนั้นมาผูกเป็นช้างประจำเมือง ต่อมามีการตั้งชื่อเมืองตามช้างเชือกนั้นว่า "คชราชา" ซึ่งแปลว่า "ช้างของพระราชา"

"เมืองสิงหนคร" ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1899 ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ไม่ปรากฏชื่อของเจ้าเมืองในยุคแรกเริ่ม แต่ปรากฏครั้งแรกในปีพ.ศ.2146 นั่นคือ ต่วนกูดะโต๊ะ โมกอลล์ (ดาโต๊ะ โมกอล) ที่ปกครองเมืองสิงขระนครในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2146 - 2163 ตามที่ได้มีการบันทึกในประวัติศาสตร์ของสยามและชาวต่างชาติ โดยมีการพูดถึงเจ้าเมืองสงขลาหัวเขาแดงว่าเป็นชาวมุสลิม จากดินแดนชวา

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง