หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

โนราโรงครู
30 ตุลาคม 2560 | 17,279

หลายเดือนก่อน มีโอกาสได้ดูการรำมโนราห์แสดงความสามารถที่บริเวณศาลากลางน้ำที่สวนสาธารณะ เป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงความอ่อนช้อย แต่ก็ดูแข็งแรงไปในตัว เมื่อกลับบ้านก็เล่าให้แม่ฟังในเชิงโอ้อวดว่า "ได้ดูการแสดงมโนราห์ด้วย แม่อดดู" แม่ก็สวนกลับมาว่า "สมัยตอนแม่เด็ก ๆ แม่ดูบ่อยมาก ทั้งงานรื่นเริง ทั้งพิธีไหว้โนราโรงครู" ซึ่งส่วนตัวแล้ว ไม่เคยได้ดูโนราโรงครู เพราะเป็นคนกลัวสิ่งที่มองไม่เห็นเอามาก ๆ เพียงได้ยินผู้ใหญ่เล่าให้ฟังว่า คนใต้จะมีบรรพบุรุษเป็นโนรา เมื่ออยากหาผู้ที่สืบทอดการเป็นคนทรง ก็จะตั้งโนราโรงครูเพื่อหาตัวแทนคนต่อไป ด้วยความสงสัยถึงประวัติความเป็นมา จึงกดเข้าไปหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต วันนี้หาดใหญ่โฟกัสจึงอยากมาบอกเล่าเรื่องราว ความเป็นมา ของโนราโรงครู เผื่อมีคนสนใจแบบผู้เขียน ว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ภาพการแสดงโนราสมัยโบราณโดยในภาพจะมี โนรา และนายพรานบุญ  

ภาพคณะโนราพุ่ม เทวา รำท่าเขาควาย ในการแสดงรำโนรา

ว่ากันว่าการรำโนราโรงครูเป็นการแสดงเพื่อความบันเทิง และเป็นพิธีกรรมความเชื่อทางพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน  ซึ่งผสมผสานกับลัทธิพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องผีสางเทวดา รวมไปถึง เซ่นไหว้ บรรพบุรุษ การเข้าทรง มีความเคารพนับถือครูบาอาจารย์ กตัญญู มีเมตตาธรรม ช่วยคลี่คลายปัญหาทางด้านร่างกายและจิตใจ และมีส่วนสำคัญในการสืบทอดและรักษามรดกวัฒนธรรมด้านศิลปะการเล่นโนราเอาไว้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน  

 ภาพลูกคู่นักดนตรีโนราในการแสดงโนราขุนอุปถัมภ์นรากร

โนราขุนอุปถัมภ์นรากร หรือโนราพุ่มเทวา ถ่ายภาพร่วมกับลูกศิษย์

ในส่วนของประวัติความเป็นมานั้น โนราโรงครูคงมีมาพร้อมกับการกำเนิดโนรา ซึ่งบางท่านสันนิษฐานว่าเกิดในยุคศรีวิชัย ในตำนานโนราเขตพัทลุง กล่าวถึง การรำโนราโรงครูว่า เมื่อนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศไปอยู่เกาะชัง (เชื่อกันว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกาะใหญ่ในทะเลสาบสงขลา) นางได้อาศัยอยุ่กับตาพราหมณ์ ยายจันทร์ ครั้นพระยาสายฟ้าฟาดผู้เป็นบิดาให้รับนางคืนกลับเมือง นางได้รำโนราถวายเทวดาและตายายทั้งสอง เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อตายายที่ได้ช่วยเหลือ การรำโนราถวายเทวดาและบูชาตายายของนางนวลทองสำลีครั้งนั้น ถือว่า เป็นการรำโนราโรงครูครั้งแรก แต่ความเป็นมาของโนราโรงครูตามความเชื่อของจังหวัดสงขลา โนราวัดจันทร์เรื่อง ต.พังยาง อ.ระโนด เล่าว่า การรำโนราโรงครูครั้งแรกเป็นการรำของอจิตกุมาร ซึ่งเป็นบุตรของนางนวลทองสำลี ตอนเข้าเฝ้าพระยาสายฟ้าฟาด ในพิธีได้มีพระพี่เลี้ยงที่ขจัดพลัดพรายกันตอนถูกนางนวลทองสำลีถูกเนรเทศลอยแพ เมื่อพระพี่เลี้ยงกลับมาแล้ววรำถวาย โดยตั้งพิีธีโรงครู มีเครื่องสิบสองและของกินต่าง ๆ จัดพิธี 3 วัน 3 คืน ครั้งนี้พระยาสายฟ้าฟาดได้ประทานเครื่องต้นให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา เปลี่ยนชื่อ นางนวลทองสำลีเป็นศรีมาลา และเปลี่ยนชื่อเป็นอจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน

 

ความหมายของครูในโนรา คือ ผู้สอนวิชาการรำโนราแก่ตนเองหรือแก่บรรพบุรุษของตนเอง อีกความหมาย คือ บรรพบุรุษหรือผู้ที่ให้กำเนิดโนรา เช่น ขุนศรีศรัทธา นางนวลทองสำลี และแม่ศรีมาลาบรรพบุรุษ ตามความหมายนี้นั้น ยังเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตายายโนรา" ซึ่งตามความเชื่อ ชาวบ้านและคณะโนรา เชื่อว่าครูหมอสามารถติดต่อกับลูกหลานได้โดยผ่านศิลปินโนราโดยเฉพาะโนราใหญ่และการเข้าทรงในร่างของครูหมอโนราองค์นั้น ๆ ซึ่งครูหมอโนรา หมายถึง บรรพบุรุษของโนรา บางทีจะเรียกว่า "ครูหมอตายาย" คือ โนราจะนับถือครูหมอหรือครูโนราและนับถือบรรพบุรุษของตน ใครทำผิดจารีต หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เหมาะ ไม่ควร ก็จะถูกครูหมอกระทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ เวลาได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ ก็จะบนครูหมอ ให้พ้นจากความทุกข์ยากนั้น 

 

วัตถุประสงค์ในการแสดงก็มีความแตกต่างกันไป คือ การไว้ครูหรือไหว้ตายายโนราเป็นการปฏิบัติยึดถือกันเป็นธรรมเนียม เพราะศิลปินจะต้องมีครู การทำพิธีโนราโรงครูจึงเป็นการแสดงความกตัญญูต่อครู บางครั้งก็จัดพิธีขึ้นเพื่อแก้บน เมื่อมีเหตุเพทภัยเกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว หรือญาติมิตร ก็มักจะบนบานศาลกล่าวต่อบรรพชนเหล่านั้นให้มาช่วยขจัดปัดเป่าเหตุเพทภัยนั้น หรือบางครั้งบนบานศาลกล่าวขอให้ตนประสบโชคดี ซึ่งเมื่อสมประสงค์แล้วก็ต้องทำการแก้บนให้ลุล่วงไป ทางออกของโนราในกรณีนี้ก็คือการรำโนราโรงครู และบางครั้งเพื่อครอบเทริด ธรรมเนียมนิยมอย่างหนึ่งของศิลปินไทย คือ การครอบมือแก่ศิลปินใหม่ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมอันเป็นมิ่งมงคลยิ่งของชีวิตศิลปิน ซึ่งโนราก็หนีไม่พ้นธรรมเนียมนิยมนี้ แต่เรียกว่า " พิธีครอบเทริด "  " พิธีผูกผ้าใหญ่ " หรือ " พิธีแต่งพอก" หากพิธีนี้จัดขึ้นเมื่อใดก็ตาม จำเป็นต้องมีการรำโนราโรงครูทุกครั้ง 

แม้ผู้เขียนเอง จะไม่เคยเห็นการทำพิธีโนราโรงครู แต่ก็เชื่อว่า การแสดงโนราโรงครู เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ขนบธรรมเนียมประเพณีของคนใต้ยังคงอยู่ และเป็นการอนุรักษ์การแสดงท้องถิ่นอย่างโนราให้คงอยู่สืบไป   

 

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ และภาพประกอบ : ศาสตร์แห่งครู หมอโนรา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง