"วัดมัชฌิมาวาส วรวิหาร" หรือ "วัดมัชฌิมาวาสฯ" วัดโบราณเก่าแก่แห่งเมืองสงขลา วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครสงขลา ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา อันเป็นวัดที่ใครหลายๆคนไม่รู้จัก แต่หากจะพูดถึง "วัดกลาง" หลายๆคนคงร้องอ่อออกมาดังๆ วัดมัชฌิมาวาสมีอายุมายาวนานมากกว่า 10 แผ่นดิน
วัดมัชฌิมาวาสฯ เป็นวัดที่บรรดาโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดสงขลา มักจะพาเด็กนักเรียนและนักศึกษามาทัศนศึกษา เนื่องจากวัดแห่งนี้เปรียบได้เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติก็ว่าได้ บนเนื้อที่กว่า 11 ไร่ วัดแห่งนี้มีโบราณวัตถุมากมาย ที่ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี หากจะย้อนไปถึงจุดกำเนิดของวัดแห่งนี้ เราต้องย้อนไปราวๆ 300 กว่าปี เพราะวัดแห่งนี้มีการจดบันทึกว่า ได้สร้างขึ้นในช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2231-2310) พูดไปแล้วขนลุกซู่ สงขลาบ้านเรามีวัดอายุเก่าแก่ขนาดนี้ด้วยหรือ
ผู้สร้างวัดวัดมัชฌิมาวาสฯ นั่นคือ นางศรีจันทร์ ต่อมาชาวบ้านจึงเรียกวัดแห่งนี้ว่า "วัดยายศรีจันทร์" หลังจากนั้นมีการสร้าง "วัดเลียบ" ขึ้นทางทิศเหนือของวัดมัชฌิมาวาสฯ ส่งผลให้ "วัดยายศรีจันทร์" ตั้งอยู่ตรงกลางระหว่าง วัดเลียบกับวัดโพธิ์ปฐมาวาส ชาวบ้านจึงพากันเรียกวัดยายศรีจันทร์ว่า "วัดกลาง" และในพ.ศ.2431 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาเมืองสงขลา และทรงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดมัชฌิมาวาส" และเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงโปรดเกล้าฯ ยกฐานะวัดมัชฌิมาวาส ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี และมีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดมัชฌิมาวาส วรวิหาร"
จากการที่วัดแห่งนี้เป็นวัดที่เก่าแก่ จึงต้องมีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบันทึกกล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองสงขลา ซึ่งได้สรุปช่วงบูรณะไว้ดังนี้
- สมัยรัชกาลที่ 1 เจ้าพระยาอินทคีรี (บุญหุ้ย) ได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมัชฌิมาวาสครั้งใหญ่ โดยมีการสร้างพระอุโบสถ และพระวิหารขึ้นมาใหม่
- สมัยรัชกาลที่ 2-3 พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ได้จัดทำหนังสือผูกลาน 66 คัมภีร์, พระอภิธรรม 87 คัมภีร์ และตู้พระไตรปิฏกจำนวน 8 ตู้ และเมื่อย้ายเมืองสงขลาจากฝั่งหัวเขาแดงมายังบ่อยาง จึงใช้วัดมัชฌิมาวาสฯแทนวัดสุวรรณคีรี ในการประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาสืบม
- สมัยรัชกาลที่ 3-4 เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ได้สร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่เป็นแบบไทยจีน สร้างพระวิหาร สร้างหมู่กุฏิเป็นคณะ หอไตรพระจอม ศาลาฤาษี ก่อกำแพงแก้ว และสร้างซุ้มประตูทั้ง 4 ด้าน เป็นซุ้มแบบยอดมงกุฏ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความจงรักภักดี
- สมัยรัชกาลที่ 5 ระยะที่ครูวิสุทธิโมลี (จันทร์ทอง) เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ.2438 - 2453) เนื่องจากในปี พ.ศ.2439 เกิดลมพายุพัดแรงและฝนตกหนัก ทำให้ต้นมะขามล้มโค่นลงมาทับประตูหน้าวัดพังเสียหาย พระครูวิสุทธิโมลี (เจ้าอาวาส ณ ขณะนั้น) ได้ไปเจริญพรขอช่างต่อพระยาวิเชียรคีรี (ชม) เจ้าเมืองสงขลาในสมัยนั้น เพื่อบูรณะซุ้มประตู พระยาวิเชียรชมจึงได้ทำถวายซุ้มประตูแบบศิลปะฝรั่งเศสและจีน (แบบเดิมคือยอดมงกุฏ) ต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จมาเยี่ยมวัดมัชฌิมาวาสฯ พระครูวิสุทธิโมลีได้ต้อนรับภายในพระอุโบสถ ทรงเห็นว่าหลังพระอุโบสถชำรุดมาก ทำให้รูปฝาผนังอันสวยงามเสียหาย จึงทรงรับสั่งให้พระยาสุขุมวินิตกับเจ้าอาวาสร่วมกันบูรณะ
เห็นได้ว่า "วัดมัชฌิมาวาสฯ" อยู่คู่เมืองสงขลามาอย่างยาวนาน เป็นหนึ่งในสถานที่ต้อนรับเหล่าเชื้อพระวงศ์อยู่เรื่อยมา โดยผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านการบูรณะมาหลายต่อหลายครั้ง และทุกวันนี้วัดแห่งนี้ก็ยังคงตั้งตระหง่าน อยู่บริเวณใจกลางเมืองสงขลาอยู่เช่นเดิม เปิดให้ประชาชนและนักเรียนนักศึกษา ได้เข้ามาศึกษาถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรม ผ่านวัดแห่งนี้ นับว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ อันเป็นมรดกของชาติ และพี่น้องชาวสงขลามากว่า 300 ปี
CR: กรมศาสนา / หอจดหมายเหตุ / คนสร้างภาพ / กรมศิลปากร
เขียน: หาดใหญ่โฟกัส
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 275จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 250บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 310ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 263พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 975รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 770เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 627ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 904