หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

หับ โห้ หิ้น | โรงสีแดงแห่งเมืองสงขลา
9 ตุลาคม 2560 | 27,966

"หับโห้หิ้น" โรงสีแดงแห่งเมืองสงขลา
เดินดุ่ม ๆ ไปตามย่านเมืองเก่าของสงขลา ผู้เขียนพยายามเดินไปเรื่อยๆ ชื่นชมกับบรรยากาศบ้านเรือนและร้านค้าตลอดสองข้างทาง แลเห็นสถาปัตยกรรมในสไตล์ชิโนยูโรเปี้ยน โดยประวัติความเป็นมาของย่านนี้นั้น ส่วนตัวผู้เขียนพอทราบมาบ้างอย่างคร่าว ๆ เสน่ห์ของที่นี่เราจะพบเมื่อเดินผ่านร้านค้า ร้านอาหาร และตึกราบ้านช่องต่าง ๆ แต่สิ่งที่ชวนหลงใหลที่ส่วนตัวชื่นชอบที่สุดคงเป็นการหยุดอยู่ตรงสถานที่ ที่เขาว่ากันว่า หากมาเยี่ยมเยือนเมืองสงขลา แล้วไม่ได้แวะมาถ่ายรูปตรงจุดนี้ ถือว่ายังมาไม่ถึง เรากวาดสายตามองดูสถานที่แห่งน้ไปรอบๆ มันเป็นเหมือนโกดังขนาดใหญ่ ถูกทาด้วยสีแดงสดไปทั้งหลัง ใช่แล้ว!! มีป้ายหน้าประตูแผ่นสีขาวมีตัวอักษรเขียนว่า "หับ โห้ หิ้น" หรือที่ใครหลายคนในที่นี่เรียกว่า "โรงสีแดง" เป็นสถานที่ ที่บรรดาเหล่านักท่องเที่ยวจะชอบมาถ่ายรูปหมู่ ถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก บางทีก็มาถ่ายรูปรับปริญญา แล้วที่นี่มันมีเสน่ห์ตรงไหน...มาหาคำตอบกัน

เริ่มกันที่ตัวอาคารอันเก่าแก่ ให้ความรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่ในยุคคุณตาคุณยาย ซึ่งโดยรวมแล้วโรงสีแดงแห่งนี้จะดึงสายตาของผู้ที่ผ่านไป-มา ดังนั้นถ้าถามว่าสเน่ห์ของที่นี่อยู่ที่ไหน ก็คงตอบได้ว่า อาจเป็นเพราะความเก่าของตัวอาคาร และสีสันที่สะดุดตานั่นเอง ยิ่งตั้งอยู่ภายในย่านเมืองเก่า ก็ยิ่งทำให้โรงสีแดง สะกดตาสะกดใจนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นไปอีก อีกทั้งทางฝ่ายปกครองยังเข้ามาโปรโมทการท่องเที่ยวให้กับสถานที่แห่งนี้ คงจะเพียงพอ ที่จะทำให้โรงสีแดงดังเป็นพลุแตกในเวลาอันรวดเร็ว จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์คู่บ้านคู่เมืองชาวสงขลา อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยแบบที่ผู้เขียนกำลังสงสัยว่า แล้วความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้มีประวัติอย่างไร วันนี้หาดใหญ่โฟกัสมีมาบอก

"หับ โห้ หิ้น" คือ โรงสีข้าวเก่าแก่ในย่านเมืองเก่าของสงขลา ตัวอาคารทาด้วยสีแดงแรงฤทธิ์ มีความขลังแบบคลาสสิก ตั้งอยู่บนถนนนครนอก หากย้อนไปในอดีต "เมืองสงขลา" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยกลุ่มคนเชื้อสายจีนหลายตระกูล อาทิ ณ สงขลา , รัตรสาร , รัตนปราการ เมืองสงขลาได้ทำการค้าขายกับเมืองปีนัง รวมทั้งมีกิจการโรงสี เพื่อรองรับผลผลิตข้าว จากกลุ่มลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

จากต้นตระกูลเสาวพฤษ์ (ขุนราชกิจจารี) ได้ร่วมหุ้นกับตระกูลโคนันทน์ จัดตั้ง "หับ โห้ หิ้น" ขึ้นราวปี พ.ศ.2454 แต่ภายหลังหลาน ๆ ของขุนราชกิจจารี ได้ซื้อกิจการทั้งหมด และมีการปรับปรุงพัฒนาโรงสีข้าว มีการเปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์พลังงานไอน้ำ ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิง โดยซื้อเครื่องยนต์นี้มาจากประเทศอังกฤษ จากไอเดียที่แหวกแนวนี้ ทำให้ดำเนินกิจการไปด้วยดี และแนวคิดของท่านผู้นี้ คือ นายสุชาติ รัตนปราการ หนุ่มนักเรียนปีนัง โดยต้นสกุล "รัตนปราการ" เป็นคนจีนฮกเกี้ยน แต่เดิมใช้สกุลว่า "แซ่ก๊วย" ซึ่งได้อพยพมาจากเมืองจีน มาตั้งรกรากอยู่ที่สงขลา ราวปี พ.ศ.2250 (สมัยพระเจ้าเสือ แห่งอาณาจักรอยุธยา)

"หับ-โห้-หิ้น" ชื่อนี้ได้แต่ใดมา... คำว่า "ก๊วย" ในภาษาจีนแปลว่า "กำแพงเมือง" นั่นเอง จาก "แซ่ก๊วย" ก็เปลี่ยนมาเป็นภาษาไทย คือ "รัตนปราการ" ซึ่งแปลว่า "กำแพงแก้ว" ส่วนชื่อ "หับ-โห้-หิ้น" ก็เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนเช่นเดียวกัน ซึ่งแปลว่า "เอกภาพ" "ความกลมกลืน" และ "ความเจริญรุ่งเรือง" อาจารย์สุขสันต์ วิเวกเมธากร กล่าวว่า "หับ" ในภาษาจีนฮกเกี้ยน ตรงกับคำว่า "ฮะ" ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ที่แปลว่า "สามัคคี" ส่วนคำว่า "โห้" น่าจะตรงกับคำว่า "ฮ่อ" หมายถึงความดีและความเจริญรุ่งเรือง คำว่า "หิ้น" อาจหมายถึง สวน หรือ สถานที่ที่ผู้คนมารวมตัวชุมนุมกัน แปลโดยรวม "หับ-โห้-หิ้น" ก็แปลว่า "สวนสมานฉันท์อันเจริญรุ่งเรือง"

กิจการโรงสี หับ โห้ หิ้น ดำเนินการไปได้ด้วยดี รับข้าวเปลือกจากระโนด พัทลุง บรรจุลงเรือล่องมาทางทะเลสาบสงขลา มาเทียบท่าเรือด้านหลังโรงสี ข้าวที่สีเสร็จจะถูกส่งไปขายยัง นราธิวาส มาเลเซีย แต่หลังจากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องยกเลิกกิจการไป ก่อนจะกลับโด่งดังเป็นพลุแตก เมื่อกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และการจัดงาน

 

 

 

 

เล่าเรื่องเรียบเรียงใหม่: หาดใหญ่โฟกัส
ข้อมูลดีๆและภาพ: Bigfew / บล็อคหับโห้หิ้น / Lookkeaw / Museum Thailand / น้อง PATTY เทศบาลนครสงขลา

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง