หลายคนคงรู้ว่า ตระกูล ณ สงขลา เป็นตระกูลสำคัญของเมืองสงขลา แต่น้อยคนจะรู้ว่าตระกูลนี้มีความสำคัญอย่างไร สร้างความเจริญอะไรให้กับเมืองบ้าง นับย้อนกลับไปสามร้อยปี มีชายชาวเมืองเจียงจิ้วหู้ มณฑลฮกเกี้ยน ประเทศจีน นามว่าเหยี่ยง แซ่เฮา เดินทางเข้ามาตั้งรกราก ณ เมืองสงขลา
เริ่มต้นทำมาหากินด้วยอาชีพเกษตรกรรมแล้วจึงขยายตัวทำการประมง กระทั่งเติบโตเป็นคหบดี รู้กันในหมู่ราษฏรว่า “ตั้วแปะ” ต่อมาได้เริ่มรับราชการเป็นนายอากรรังนก เกาะสี่เกาะห้า ด้วยความจงรักภักดีและความสามารถอันโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับโปรดเกล้าฯ จากพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็น ‘หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ’ มีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาคนที่ 1 บทบาทของตระกูล ณ สงขลา แห่งเมืองสงขลาเริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น
ย้อนไปช่วงที่สุลต่านสุไลมานตั้งตัวเป็นกบฏ แข็งเมืองต่อกรุงศรีอยุธยา ไม่ยอมรับอำนาจของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พร้อมสถาปนารัฐสุลต่านที่หัวเขาแดง ฝั่งอยุธยาฯ ทนไม่ได้จึงส่งกองกำลังมาปราบปรามจนกลายเป็นเมืองร้าง ไม่นานฝั่งอยุธยาฯ แต่งตั้ง ‘พระยาวิไชยคีรี’ และย้ายเมืองมายังฝั่งแหลมสน
หากนับจากช่วงสมัยธนบุรีจวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เชื้อสายตระกูลสงขลา ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสงขลามาหลายชั่วอายุคน รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 126 ปี นับจากพระยาสุวรรณคีรีสมบัติ (เหยี่ยง แซ่เฮา) พ.ศ.2318 - 2327 , เจ้าพระยาอินทรคีรี (บุญหุ้ย) พ.ศ.2327 - 2355 , พระยาวิเศษภักดีฤทธิ์(เถี้ยนจ๋ง) พ.ศ.2355 - 2360 , พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) พ.ศ.2360 - 2390 , เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) พ.ศ.2390 - 2408 , เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) พ.ศ.2408 - 2427 , พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม) พ.ศ.2427 - 2431 จวบจนกระทั่งเจ้าเมืองพระยาวิเชียรคีรี (ชม) พ.ศ.2431 - 2444
ภายใต้การปกครองของผู้นำของตระกูล ณ สงขลา มีการรับอิทธิพลศิลปะวิทยาการใหม่ ๆ จากปีนัง และ สิงคโปร์ เมืองสงขลากลายเป็นเมืองท่าที่เจริญขึ้น ภายใต้การพัฒนาเมือง สมัยของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสัง) เป็นช่วงที่บ้านเมืองปลอดจากศึกสงขลา ส่งผลให้การค้าขายกับต่างชาติมีความเฟื่องฟู เกิดย่านการค้า มีการก่อสร้างถนนจากสงขลาไปไทรบุรี เพื่อเชื่อมระหว่างไทย - มาเลเซีย เป็นสายแรก ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองสงขลาเติบโตขึ้น
ความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเมืองสงขลา ส่งผลให้ศิลปกรรมในยุคแรก ๆ ได้รับอิทธิพลจากจีน ทั้ง จวนเจ้าเมือง บ้านเรือนราษฏร ซุ้มประตูเมือง ตลอดจนสถาปัตยกรรมทั้งวัดต่าง ๆ รวมไปถึงการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมจีนผสมตะวันตกจำนวนสี่หลัง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2421 เพื่อเป็นคฤหาสน์แก่บุตร
16 ปีต่อมา ทางราชการได้ใช้อาคารหลังนี้เป็นจวนสำหรับข้าหลวงพิเศษจากกรุงเทพฯ เวลาเดินทางมาตรวจราชการที่สงขลาและนครศรีธรรมราช ต่อมาจีงใช้เป็นศาลาว่ากลางจังหวัดสงขลา จนมาเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา ส่วนบุคคลในสายสกุล ณ สงขลา ล้วนสร้างความเจริญให้บ้านเมืองจนทางฝั่งกรุงเทพฯ พระราชทานนามสกุล ณ สงขลา พระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน (ฑิต) เป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล "ณ สงขลา" เขียนเป็นอักษรโรมันว่า "Na Sonkla" (ปัจจุบันสะกด Na Songkla) ขณะที่ดำรงบรรดาศักดิ์พระพฤกษาภิรมย์ ตามประกาศครั้งที่ 2 ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พุทธศักราช 2450 เป็นลำดับที่ 108 ของประเทศนั่นเอง
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา , Dr. J. Baum
เรียบเรียง : HatyaiFocus
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 303จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 277บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 336ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 265พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 1,004รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 797เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 655ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 931