"ประเพณีสารทเดือนสิบ" ถือได้ว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมาก ๆ สำหรับพี่น้องชาวใต้ ประเพณีสารทเดือนสิบ คนใต้เรียกว่า "วันชิงเปรต" ประเพณีดังกล่าวได้สะท้อนความรู้สึกและวิถีชีวิตเก่าแก่ของชาวใต้อย่างแท้จริง ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูขบวนแห่วันสารทเดือนสิบที่ควนลังและท่าเคียน เป็นขบวนแห่ที่สนุกสนาน แต่มีอย่างหนึ่งที่สะดุดตาเป็นที่สุด นั่นคือ "ทองสูง" มันเป็นหุ่นที่ทำขึ้นด้วยกระดาษ มีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว ลักษณะรูปร่างสูงใหญ่ คล้ายเปรต
ชาวบ้านเล่าว่า... เมื่อนานมาแล้ว "ทองสูง" จะนิยมทำขึ้นใกล้ ๆ วันชิงเปรต จะไปทำกันในวัด โดยที่ไม่ให้ชาวบ้านทั่วไปรับรู้ พอถึงเวลางาน ก็จะนำหุ่นทองสูงออกมาร่วมเดินขบวนแห่ เปรียบหุ่นทองสูงเป็นเสมือน ผีปู่ย่าตายาย หรือ ญาติพี่น้อง ที่ได้ล่วงลับไปแล้วกลายสภาพเป็นเปรต มาร่วมขอส่วนบุญส่วนกุศล ประเพณีแห่หุ่นทองสูงได้ห่างหายไปนานมาก ก่อนที่จะนำกลับมาอีกครั้ง เมื่อไม่นานมานี้
หุ่นทองสูงทำมาจากไม้ไผ่ กระดาษหนังสือพิมพ์ และสี อาจจะตกแต่งด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ แตกต่างกันไป สมัยก่อนการแห่หุ่นทองสูงนั้น สามารถแห่กันอย่างสนุกสนานได้ทั้งวัน เนื่องจากคนรุ่นก่อนแข็งแรง ปัจจุบันนั้นแห่ได้เพียงชั่วโมงหรือสองชั่วโมงเท่านั้น หุ่นทองสูงในปัจจุบันมีการตกแต่งล้อเลียนสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน
พออนุมานได้ว่า "ทองสูง" คือหุ่นเชิดขนาดใหญ่ โดยคนที่เชิดต้องไปอยู่ภายในตัวหุ่น ที่วัดม่วงค่อม หมู่ที่ 5 ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานประเพณีของบรรพบุรุษชนิดนี้อยู่ จะมีทองสูงอยู่ 2 ตัว ได้แก่ ทองสูงชาย ชื่อว่า "ไอท่อม" และทองสูงหญิง ชื่อว่า "ทองแจ่ม" ทองสูงทั้งสองตัวถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี ภายในวัดม่วงค่อม เล่ากันว่า...ทองสูงทั้งสองตัวนี้ (โดยเฉพาะส่วนหัว) ปู่เนียม นวลจันทร์ ปู่ของนายหนังแนบ นวลจันทร์ และญาติมิตรชาวม่วงค่อม เป็นคนแกะจากไม้ทองหลาง เมื่อราว 70 ปีที่แล้ว
ทองสูงผู้ชาย หรือ ไอ้ท่อม จะแต่งแต้มด้วยสีดำให้ดูน่ากลัว ส่วนทองแจ่มซึ่งเป็นทองสูงผู้หญิง ก็ใช้สีที่สวยงามให้สมกับที่เป็นผู้หญิง ทั้งนี้ทองสูงทั้งสองตัวนี้เปรียบได้กับผีเปรต ที่อยากจะมีส่วนร่วมในงานบุญของหมู่บ้าน เรียกได้ว่างานบุญประจำปีของชาวม่วงค่อม แม้ผีเปรตก็ยังขอมีส่วนร่วม กล่าวกันว่าไอ้ท่อมและทองแจ่ม เป็นทองสูงที่ชาวม่วงค่อมให้ความเคารพนับถือ จะต้องเก็บหัวทองสูงทั้งสองไว้ในห้องที่มิดชิด ห้ามมิให้ใครข้ามโดยเด็ดขาด ปีหนึ่ง ๆ ไอ้ท่อมกับทองแจ่ม จะมีโอกาสออกมากระโดดโลดเต้น ระบำรำฟ้อน สนุกสนานกับลูกหลานได้เพียงครั้งสองครั้ง โดยเฉพาะงานสารทเดือนสิบเท่านั้น
เขียนและเรียบเรียง: หาดใหญ่โฟกัส
CR: สามัญชนคนควนลัง / RAVIO
ชมภาพเก่าเมื่อ 89 ปีก่อน โรงงานแป้งสาคู ณ บ้านคลองแงะ (สะเดา)
13 กรกฎาคม 2568 | 200กว่า 161 ปี สุเหร่าบ้านพรุหมาก มัสยิดแห่งแรกของอำเภอเทพา
13 กรกฎาคม 2568 | 160ย้อนประวัติเรือพัทลุง เรือที่ใช้ติดต่อราชการระหว่างเมืองสงขลา-เมืองพัทลุง
13 กรกฎาคม 2568 | 166กัปตันวอสเบียน : ผู้ให้กำเนิดจักรยานพ่วงข้างคันแรกของปักษ์ใต้ ณ เชิงเขาตังกวน (สงขลา)
6 กรกฎาคม 2568 | 2,131ที่มาชื่อบ้านท่าช้าง อ.บางกล่ำ ย้อนรอยชม "เสาหงส์" ครั้งพม่ายกทัพตีหัวเมืองภาคใต้
6 กรกฎาคม 2568 | 408ย้อนตำนานเมื่อครั้งอดีต วงเวียนแยกหลาลุงแสง 3 ยุคสมัย 3 รูปแบบ
6 กรกฎาคม 2568 | 6,338ย้อนชมภูมิปัญญาการทำขวัญข้าว สู่การสร้างวงเวียนพระแม่โพสพ ศูนย์รวมจิตใจชาวระโนด
8 มิถุนายน 2568 | 1,303เปิดที่มาชุมชนประวัติศาสตร์ บ้านควนจง (นาหม่อม)
8 มิถุนายน 2568 | 1,406