หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

แม่ย่านางเรือ : ความเชื่อชาวประมงจังหวัดสงขลา
12 กันยายน 2560 | 32,019

ทุกคนคงจะเคยได้ยินความเชื่อเกี่ยวกับ "แม่ย่านางเรือ" กันอยู่แล้ว แต่มีน้อยคนนักที่จะเข้าใจความหมายของความเชื่อเรื่อง "แม่ย่านางเรือ" วันนี้หาดใหญ่โฟกัสขอนำเสนอ ความเชื่อของชาวประมงในจังหวัดสงขลาเกี่ยวกับองค์เทพ ผู้คอยพิทักษ์ปกป้องพาหนะเลี้ยงชีพของพวกเขา

"เมืองสงขลา" เมืองท่าเก่าแก่เป็นเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของอารยประเทศเมื่อครั้งโบราณ เมืองแห่งนี้จึงมีความสัมพันธ์กับน้ำและเรือมาอย่างยาวนาน ไม่เว้นแม้แต่ชาวประมงพื้นบ้าน ซึ่งเลี้ยงชีพด้วยการออกเรือหาปลาในท้องทะเล ความเชื่อเกี่ยวกับ "แม่ย่านางเรือ" ถูกสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน (เริ่มต้นขึ้นเมื่อไหร่มิอาจทราบได้) ชาวประมงในสงขลาเขาเชื่อกันว่า "แม่ย่านาง" เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สัมภเวสีที่คอยปกป้องรักษาต้นไม้ภายในป่า เมื่อนำไม้ในป่ามาสร้างเป็นเรือ ก็เหมือนนำแม่ย่านางมาสิ่งสถิตบนเรือด้วย เรียกกันโดยทั่วไปว่า "แม่ย่านางเรือ" นั่นเอง

"แม่ย่านางเรือ" คือ ที่พึ่งทางใจของชาวประมงในการออกเรือทุกครั้ง เพราะเชื่อว่าการบูชาแม่ย่านางเรือ จะทำให้แคล้วคลาดต่อภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในท้องทะเลได้ อีกทั้งความเชื่อเรื่อง "แม่ย่านางเรือ" ชาวประมงชาวสงขลาใช้เพื่อบนบานศาลกล่าวให้สามารถจับปลาและสัตว์น้ำได้เป็นจำนวนมาก ๆ

ชาวประมงจะมีการบูชาแม่ย่านางเรือ โดยการนำผ้าสีมาผูกตรงบริเวณหัวเรือหาปลาหรือเรือนำเที่ยว เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเคารพบูชา การประกอบพิธีบูชาแม่ย่านางเรือก่อนออกทะเล ชาวประมงจะนำอาหารคาวหวานมาตั้งบูชา ส่วนใหญ่จะเป็นขนมในท้องถิ่นนั้น ๆ ในสงขลาที่พบเห็นบ่อย ๆ คงจะเป็นข้าวเหนียวมูนสีเหลือง (ราคา 3 - 5 บาทในตลาด ห่อด้วยใบตอง) น้ำชา และผลไม้ ชาวประมงและนักเดินเรือชาวใต้ มีการตั้งกฏข้อห้ามข้อบังคับขึ้น เพื่อไม่มีผู้ใดลบหลู่แม่ย่านางเรือ อาทิ ห้ามผู้หญิงมีประจำเดือนขึ้นเรือ ผู้ชายก่อนลงเรือต้องอาบน้ำล้างตัวให้สะอาด ไม่เหยียบโขนเรือหรือหัวเรือ ไม่ร่วมเพศบนเรือ เป็นต้น

ก่อนออกเรือ...ชาวประมงไทยพุทธมีการไหว้บูชาแม่ย่านางด้วยธูปและเครื่องเซ่นต่าง ๆ ที่หาได้ง่ายในชุมชน เชื่อว่าแม่ย่านางเรือจะดลบันดาลให้สามารถจับปลาได้คราวละมาก ๆ ชาวประมงพื้นบ้านยังเล่าต่อไปอีกว่า "สัมภเวสีชอบคนพูดจริงทำจริง แม่ย่านางมีประวัติต้นกำเนิดมาจากต้นไม้ตะเคียน ก่อนจะตัดมาสร้างเรือ ต้องมีการทำพิธีอัญเชิญ การค้นหาต้นไม้ต้องใช้พรานป่า อีกทั้งบางทียังต้องใช้ชาวเซมัง ซาไก ในจังหวัดพัทลุงด้วย เพราะบางครั้งต้องเข้าไปหาไม้ตะเคียนป่าถึงอำเภอตะโหมด ในอดีตมักจะกำหนดขนาดของเรือประมาณ 7 วา และ 10 วา"

ทุกวันนี้ความเชื่อเกี่ยวกับ "แม่ย่านางเรือ" ยังคงซึมอยู่ทุกอณูของชาวประมงแดนใต้ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ยึดเหนี่ยว ในรูปแบบลักษณะของสัมภะเวสี ที่มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ วิถีชีวิต และความปลอดภัย

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง