หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ตำนานเขารูปช้าง และ พระเจดีย์ประจำเมืองสงขลา
11 กันยายน 2560 | 23,776

"เมืองสงขลา" เมืองท่าโบราณที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มีเรื่องราวมากมายถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น หาดใหญ่โฟกัสจะมาบอกเล่า ถึง "ชุมชนเขารูปช้าง" ชุมชนเก่าแก่อีกชุมชนหนึ่งของเมืองสงขลา หากเราย้อนเวลาไปในอดีต ชุมชนบ้านเขารูปช้างนั้น แต่เดิมมีหมู่บ้านขึ้นอยู่เป็นหย่อม ๆ ประกอบด้วย บ้านในบ้าน บ้านสวนขี้กวาง บ้านสวนเจ้ากล้อง เดิมหมู่บ้านเหล่านี้ตั้งอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยทักษิณ ส่วนบ้านโคกปรักแรด แต่เดิมตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ห่างออกไปไม่ไกลนักเป็นหมู่บ้านสะพานยาวและหมู่บ้านยวน

"เขารูปช้าง" มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองสงขลา นั่นคือ "พ่อทวดช้าง" แต่เดิมพื้นที่เขารูปช้างเป็นป่ารกชัฏ มีต้นไม้ใหญ่อย่างต้นตะเคียนและต้นแคร์ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น จึงเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่านานาชนิด อาทิ เสือโคร่ง แรด หมูป่า ส่งผลให้ไม่ค่อยมีใครคิดกล้าย่างกรายเข้ามาพื้นที่แห่งนี้เท่าไหร่นัก หากจะพูดถึง "พ่อทวดช้าง" คงจะต้องอ้างอิงถึงเรื่องเล่าของคนในชุมชนที่เล่าว่า...เมื่อนานมาแล้วพญาหลักเก้าได้นำพาบริวารมาจากดินแดนทางตอนใต้ (มิอาจทราบชื่อเมืองได้) โดยมีความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะนำทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทอง ไปร่วมสร้างพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อเดินทางมาถึงพื้นที่เขารูปช้าง เกิดพายุใหญ่ขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ และต้องหยุดพักไพร่พล ณ บริเวณนี้ และช้างสองเชือกที่มีนามว่า "พลายแก้ว" และ "แม่พังงา" ได้ตายลงบริเวณนี้ ร่วมกับควาญช้างอีกสองคน พญาหลักเก้าจึงจัดการฝังศพช้างทั้งสองพร้อมด้วยควาญช้างและทรัพย์สมบัติเงินทอง และมีการวางรกรากอาศัยอยู่ ณ บริเวณนี้ จนเวลาล่วงเลยมาพอสมควร เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้น เมื่อมีหินสองก้อนผุดขึ้นมามีรูปร่างคล้ายช้าง ชาวบ้านต่างเชื่อว่า หินทั้งสองก้อนเกิดขึ้นมาจากช้างพลายแก้วและแม่พังงา ชาวบ้านจึงเรียกเขาลูกนี้ว่า "เขารูปช้าง" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

อีกตำนานหนึ่งของเขารูปช้างเล่าไว้ว่า...นายแรง (คนเดียวกับตำนานหัวนายแรง) ประกอบอาชีพทำไร่ทำสวนอยู่ที่อำเภอกระแสสินธุ์ วันหนึ่งช้างป่าโขลงใหญ่ลงมาจากเทือกเขาบรรทัด เหยียบย่ำและกัดกินพืชผลของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านเดือดร้อนไปทั่ว เมื่อนายแรงรู้ข่าว จึงอาสาไปปราบช้างโขลงดังกล่าว ผลปรากฏว่านายแรงสามารถไล่ช้างโขลงนี้กลับขึ้นไปบนเขาได้สำเร็จ และจัดการทุ่มจ่าฝูงช้างโขลงนี้ไปตกยังเมืองสงขลากลายเป็น "เขาลูกช้าง" ภายหลังเพี้ยนมาเป็น "เขารูปช้าง" ในที่สุด และต่อมานายแรงก็กลายเป็นเศรษฐีใหญ่

รูปวาดนายแรง

นอกจากนี้ในสมัยของรัชกาลที่ 4 "พระวิเชียรคีรี" เจ้าเมืองสงขลามีการสร้างองค์พระเจดีย์ประจำเมืองสงขลาบนยอดเขาลูกช้าง เป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง สร้างด้วยอิฐและปูน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 มีเรื่องเล่าจากชาวบ้านถึงอภินิหารขององค์เจดีย์ประจำเมืองว่า...หลายครั้งชาวบ้านมักจะมองเห็นดวงไฟขนาดเท่าศรีษะมนุษย์ 2 ดวง ลอยออกมาจากองค์พระเจดีย์ แล้วมาตกลงที่ต้นเลียบบริเวณตีนเขารูปช้าง ปรากฏการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงวันพระหรือแรม 15 ค่ำ

ชาวบ้านเชื่อว่า...สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ญี่ปุ่นบุกสงขลา) คนในชุมชนบ้านเขารูปช้างอยู่รอดปลอดภัยได้ มาจากบารมีศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระเจดีย์ประจำเมืองและพ่อทวดเขารูปช้างนั่นเอง

น้ำตกสวนตูลส่วนหนึ่งของเขารูปช้าง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง