วันที่ 31 สิงหาคม 2500 ถือเป็นวันที่ชาวมาเลเซีย เรียกกันว่า Merdeka Day หรือ วันชาติมาเลเซีย นั่นเอง ดินแดนแห่งนี้เคยตกเป็นประเทศในปกครองของอังกฤษ หลังได้รับเอกราชคืนมาจึงประกาศให้วันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปีเป็นวันชาติ ช่วงเวลาสำคัญอย่างนี้ HatyaiFocus อยากพาทุกคนมาพบกับเรื่องราวความสัมพันธ์ของไทยกับมาเลเซียกัน
ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไทยกับมาเลเซีย ย่อมต้องใกล้ชิดและมีประวัติศาสตร์ร่วมกันเป็นธรรมดา หลายคนมักได้ยินว่า ก่อนกำเนิดรัฐชาติ (ในที่นี้คือประเทศไทย) บางส่วนของมาเลเซียคือพื้นที่ของประเทศไทย คำกล่าวนี้จริงหรือไม่ จำเป็นต้องศึกษาจากงานหลายชิ้น แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องจริงคือบางส่วนของมาเลเซีย อย่าง เกดาห์ เปอร์ลิส กลันตัน และตรังกานู เป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่ยุคโบราณ งานเขียนบางชิ้นระบุว่า ดินแดนเหล่านี้เดิมอยู่ในอาณาจักรศรีวิชัย และอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) รัฐตอนเหนือของมาเลเซียบางส่วน บางเวลาอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของไทยตั้งแต่สุโขทัย แต่สถานะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยากับหัวเมืองมลายู บางครั้งก็ไม่แน่ชัดว่าเป็นอย่างไร
งานวิจัยของอาจารย์พรชัย นาคสีทอง ชี้ให้เห็นภาพภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองมลายูกับรัฐไทย หลักฐานชิ้นสำคัญคือ ต้นไม้เงินต้นไม้ทอง (บุหงามาส) ซึ่่งเจ้าเมืองมลายูต้องมอบให้กษัตริย์ไทย สิ่งนี้มีกลายนัยยะซึ่งยังไม่มีใครตีความได้แน่ชัดว่าการมอบต้นไม้เงินต้นไม้ทอง เป็นการแสดงถึงอะไร บางส่วนบอกว่าเป็นการแสดงความจงรักภักดี เป็นสถานะความสัมพันธ์ในลักษณะของเมืองประเทศราช หรือ แสดงความหมายแห่งมิตรภาพ
ต้นไม้เงิน ต้นไม้ทอง
ข้อมูลอีกชิ้นชี้ให้เห็นว่า ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทย อพยพเข้ามาเลเซียตั้งแต่ 300 - 500 ปีที่แล้ว ด้วยหลักฐานจากการที่กองทัพสยามยกทัพไปตีเมืองปาหังของมลายู ผู้ที่ติดตามกองทัพสยามตั้งรกรากอยู่ในปาหังอย่างกระจัดกระจาย รวมไปถึงสมัยพระบรมไตรโลกนาถ เคยมีการยกทัพมาตีมะละกา กองบริวารบางส่วนอาจตั้งถิ่นฐานบริเวณภาคเหนือของมาเลเซียในปัจจุบัน
หากวาร์ปมาที่ช่วงเวลาใกล้ตั้งรัฐชาติ เมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว (พ.ศ. 2452) หลังสยามทำสนธิสัญญายก ไทรบุรี ปะลิส กลันตัน และตรังกานูให้อยู่ในความดูแลของอังกฤษ ทำให้เกิดเส้นแบ่งพรมแดนที่ชัดเจน หากแต่ไม่สามารถแยกเอาผู้คนและวัฒนธรรมที่เคยอยู่ติดที่ในดินแดนเหล่านั้นออกจากกันอย่างชัดเจนได้ จึงทำให้มีคนมาเลเซียเชื้อสายไทยที่นับถือทั้งพุทธและมุสลิมหลงเหลือ
ช่วงเวลานั้นแม้จะมีการประกาศให้คนไทยที่อยู่ในมาเลเซีย มารายงานตัวว่าต้องการฝั่งไหนที่ชายแดนไทย - มาเลเซีย แม้จะเลยกำหนดเส้นตายไปแล้ว คนไทยส่วนมากไม่ทราบข่าวสารและไม่สนใจ เพราะบางคนมีหลักแหล่งที่ดินทำมาหากินหรือครอบครัวอยู่ที่นั่นแล้ว ดังนั้น ในบางหมู่บ้านมาเลย์จะมีชื่อแบบไทย ๆ ว่าบ้านควนขนุน บ้านต้นพยอม บ้านสัก เป็นต้น และตามข้างทางจะเห็นวัดไทยปะปนอยู่ตามหมู่บ้าน
เด็กมาเลเซียเชื้อสายไทยต้องสวดมนต์ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทย
วัดไทยในกลันตัน
สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณรัฐตอนเหนือ แม้จะมีสัดส่วนน้อย เช่น รัฐเกดาห์แบ่งการปกครองออกเป็น 11 เขต 27 หมู่บ้าน 50 วัด มีจำนวนชาวไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 คน บางส่วนของชาวไทยได้รับสถานะการเป็นภูมิบุตราแล้ว แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทย มีโรงเรียนสอนภาษาไทย วัด สำหรับการพบปะกันในหมู่คนไทย การจัดงานประเพณีวัฒนธรรม เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง ทุกวันนี้ชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยยังคงมีญาติอยู่ในผืนแผ่นดินไทย และยังไปมาหาสู่กันตลอด เป็นสายสัมพันธ์ที่ยังดำเนินอยู่ภายใต้ เรื่องราวที่เกิดขึ้นบนผืนแผ่นดินไทย - มาเลเซีย
เกาะหมาก หรือ ปีนัง เมืองที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกับสยามมายาวนาน
*เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไม่มีข้อสรุปที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการตีความโดยใช้หลักฐาน บางครั้งเราจึงพบว่าประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ทันทีที่มีการค้นพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใหม่
ขอบคุณภาพ/ข้อมูล : “ประวัติศาสตร์” “ความทรงจำ” และ “อัตลักษณ์ไทย (พุทธ) สยาม” ในมาเลเซีย : กรณีชุมชนบางแซะ (Teresek) รัฐกลันตัน - พรชัย นาคสีทอง , AEC Movement : เชื้อสายไทยในมาเลเซีย , thestar , ravio , malaysiahistory , kosmo , ณัฐภาวี สุศิวะ , วารสารปัญญาภิวัฒน์
เขียนและเรียบเรียง : HatyaiFocus
ตำนานทวดเข้...ทวดขุนดำ-ทวดแขนลาย แห่งสายน้ำคลองท่าม่วง(ควนเนียง)
25 พฤษภาคม 2568 | 30ร่องรอยจากอดีต พิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง(บางกล่ำ)
18 พฤษภาคม 2568 | 438เจ้าบ่าวน้อยแห่งควนเขาสูง : วีรบุรุษชุมชนท้องถิ่น บ้านพรุเตาะ ต.ทุ่งใหญ่
18 พฤษภาคม 2568 | 452หรางเมืองสงขลาในอดีต ครั้นย้ายเมืองสงขลามาฝั่งบ่อยาง
18 พฤษภาคม 2568 | 475บัวของคนภาคใต้...ที่ไม่ได้หมายถึงดอกบัว
11 พฤษภาคม 2568 | 449ร่องรอยเจดีย์บนเกาะหนู โบราณสถานสำคัญสมัยอาณาจักรอยุธยา
11 พฤษภาคม 2568 | 811ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 1,207จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 717