บัว คือชื่อเรียกสิ่งก่อสร้างทางสถาปัตยกรรมรูปแบบหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นปูชนียบุคคลเช่น พระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา และจะไม่นำอัฐิของผู้ที่ตายโหงมาบรรจุบัว
นิยมสร้างเป็นอาคารเรือนยอดอย่างเจดีย์ โดยรูปแบบที่เป็นที่นิยมคือ ทรงยอดมณฑป ส่วนเหตุที่เรียกว่า “บัว” นั้น ด้วยเหตุว่า แต่เดิมนิยมทำรูปดอกบัวตูมไว้เหนือเรือนอัฐิ ซึ่งเป็นไปตามคติที่ว่าเอาวิญญาณของเจ้าของอัฐินั้นเป็นพุทธบูชา ถ้าทำเป็นบัวยอดทรงมณฑปก็จะทำรูปดอกบัวไว้ ณ จุดศูนย์กลางของพื้นเรือนยอดที่วางอยู่บนฐานสูง ถ้าทำบัวเป็นทรงยอดเจดีย์ก็จะทำรูปดอกบัวไว้ที่ปลายยอด แต่ในเวลาต่อมาได้มีการดัดแปลงสร้างเป็นเรือนยอดแบบอื่นๆ ซึ่งในบางรูปแบบอาจไม่ปรากฏการทำรูปดอกบัวอีก แต่ก็ยังคงเรียกว่าบัวอยู่เช่นเดิม
ในบางท้องถิ่นอาจเรียก “บัว” ว่า “เขื่อน” ซึ่งเป็นการเรียกจำเพาะเจาะจงเฉพาะบัวที่ใช้บรรจุอัฐิของพระสงฆ์ที่เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดนั้นๆเช่น เขื่อนหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จังหวัดปัตตานี เขื่อนสมภารบัวราม วัดพญาขันธ์ จังหวัดพัทลุง เป็นต้น
ตามปกติบัว ๑ องค์ จะบรรจุอัฐิของคนเพียงบุคคลเดียว โดยเชื่อว่าวิญญาณของเจ้าของอัฐิ จะสถิตอยู่ที่บัวนั้น จึงเกิดคติทำบัวแฝด หรือทำเป็นบัว ๓ องค์ต่อเนื่องกัน สำหรับกลุ่มอัฐิของบุคคลที่มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิด แต่ในบางแห่งก็สามารถบรรจุอัฐิของสามีภรรยาในบัวองค์เดียวกันได้เช่นกัน
พิธีการในการบรรจุอัฐิในบัวจะเรียกชื่อตามภาษาถิ่นว่า “เอาดูกเข้าบัว” ซึ่งมักเลือกจัดพิธีในหน้าแล้งในช่วงที่ว่างจากการงานเพราะรวบรวมญาติมิตรได้ง่าย ก่อนวันบรรจุอัฐิ ๑ วัน ลูกหลานจะนำเอาอัฐิที่เก็บไว้มาประพรมน้ำมันจันทน์หอม ทาแป้ง แล้วบรรจุในโกศขนาดเล็ก ตกกลางคืน จะจัดให้มีการสวดพระอภิธรรม แสดงพระธรรมเทศนาแผ่ส่วนกุศลให้ผู้ตาย และอาจจัดให้มีมหรสพให้ชมตลอดคืนด้วย รุ่งเช้าจะทำการแห่โกศไปวัดทำบุญเลี้ยงเพล และมีการสวดมาติกาบังสุกุล จากนั้นจึงนำโกศไปบรรจุไว้ในบัว ขณะที่บรรจุโกศเข้าบัวนั้นพระจะสวดชยันโต จบแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี ในบางท้องถิ่นเช่นที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส จำทำพิธีเอาดูกเข้าบัวจะทำพร้อมกันปีละครั้ง ในช่วงเดือน ๖ ถึงเข้าพรรษา จึงจัดเป็นงานใหญ่ที่คนในหมู่บ้านได้มีโอกาสมาพบปะกันหมดครั้งหนึ่ง เป็นการเสริมสร้างสามัคคีธรรมได้อย่างดี
สำหรับอัฐิที่บรรจุบัวแล้ว ลูกหลานจะจัดให้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ปีละครั้งในช่วงเดือน ๕เรียกว่า “บังกุนบัว” หรือ “บังสุกุลบัว” ถือเป็นงานรวมญาติพี่น้องลูกหลานที่ไปประกอบอาชีพหรือไปอยู่ต่างถิ่น กลับมาบ้านเพื่อร่วมกันทำบุญ และด้วยเหตุที่จะมีการบังกุนบัวก็จะต้องไปทำความสะอาดตกแต่งบัวให้เรียบร้อยสวบงามเสียก่อนบางพื้นที่จึงเรียกประเพณีนี้ว่า “ทำบุญรดน้ำบัว”
ข้อมูลบทความ : นายสารัท ชลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ
ร่องรอยเจดีย์บนเกาะหนู โบราณสถานสำคัญสมัยอาณาจักรอยุธยา
11 พฤษภาคม 2568 | 86ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 389จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 322บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 412ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 311พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 1,075รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 871เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 706