หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

วิกหนังเมืองสงขลา ตอน 1
18 สิงหาคม 2560 | 20,125

เราพักเรื่องเครียด ๆ เอาไว้ก่อน วันนี้ลุงก้อยและพี่ส้มจี๊ด จะมาบอกเล่าเรื่องราวความบันเทิงของชาวสงขลาในอดีตกันดีกว่า

สมัยก่อนโลกยังไม่มี Smart Phone และ Internet ไม่มีเครื่องเล่นสวนสนุก โทรทัศน์แต่ละบ้านก็มีไม่มาก ชาวสงขลาและหาดใหญ่จึงหาความบันเทิงได้เพียงไม่กี่อย่าง ตัวผู้เขียนเองโชคดีที่เกิดทันยุคเช่าวีดีโอ ยุคต่อมาก็เป็น VCD และถ้ามีสตางค์หน่อยก็จะเดินไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ สมัยก่อนนั้นโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะเป็นอาคารแยกเดียว ๆ (stand alone) แต่ในปัจจุบันโรงภาพยนตร์ไปอยู่ในห้างสรรพสินค้า เมื่อพูดถึงโรงภาพยนตร์ในสมัยก่อน หลาย ๆ คนที่เกิดทันในยุคนั้น คงจะจำกันได้ว่าเราเรียกโรงภาพยนตร์ว่า "วิก" หรือ "วิกหนัง" (ไม่ใช่วิกผมปลอมแต่อย่างใด) เชื่อว่ามีหลายคนคงมีคำถามค้างคาอยู่ในใจมานานแสนนาน ว่าทำไมเราถึงเรียกโรงภาพยนตร์ว่า "วิกหนัง"

ทำไมต้องเรียกโรงภาพยนตร์ว่า "วิกหนัง"

คำว่า "วิกหนัง"นั้น ไม่ใช่แค่คนหาดใหญ่หรือคนสงขลาเท่านั้นที่เรียก แต่คนไทยทั้งประเทศก็มีการใช้คำสั้น ๆ คำนี้ เรียกแทน "โรงหนัง" หรือ "โรงภาพยนตร์" ทำไมต้องเรียกว่า "วิก" ค้นดูมันเป็นต่างประเทศ (อังกฤษ) มาจากคำว่า "WEEK" แน่นอนครับว่ามันแปลว่า "สัปดาห์" นั่นเอง ทำไมต้องใช้คำว่า "WEEK" ลุงก้อยได้บอกว่า..สมัยก่อนโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยนั้น มีการฉายหนังสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเท่านั้น เพราะหนังมีไม่พอที่จะเปิด กว่าจะมาสักเรื่องต้องรอ หนังส่วนใหญ่ก็นำเข้ามาจากต่างประเทศ บางครั้งคนแก่เขาจะเรียกว่า "หนังญี่ปุ่น" เนื่องจากต้องการเรียกให้แตกต่างจากหนังตะลุงหรือหนังควน บางคนก็จะเรียกหนังฉาย คนมักจะพูดว่า "วิกนี้จะฉายเรื่องอะไร" มันจึงหมายถึง สัปดาห์นี้จะฉายเรื่องอะไร นั่นเอง

วิกหนัง เริ่มเมื่อไหร่

ในอดีต คนที่จะดูภาพยนตร์ในวิกหนังได้ต้องมีเงินอยู่พอตัว แต่ในช่วงรัชกาลที่ 7 ชาวบ้านธรรมดา ๆ ก็สามารถชมได้ในราคาที่ไม่แพงมาก มีภาพยนตร์หรือหนังหลาย ๆ เรื่อง เข้ามาในประเทศไทยในตอนนั้น ตอนแรกจะฉายในกระโจมหรือฉายในลานกว้าง มีลักษณะเป็นหนังกางแปลง คนที่จะได้ดูในยุคแรกต้องอยู่แต่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ภาพยนตร์ที่ฉายในยุคนั้นส่วนใหญ่จะเป็นหนังจีนกำลังภายในและหนังฝรั่งคาวบอย

ฉายหนังด้วยฟิล์มและระบบดิจิตอล

ภาพยนตร์ในสมัยก่อนสักเมื่อราว ๆ 10 กว่าปีที่แล้ว ยังคงฉายด้วยฟิล์ม ถ้าใครเกิดทันยุคนั้นจะประสบปัญหาฟิล์มขาด ภาพมืด ซึ่งสร้างความหัวเสียใจให้กับเราอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกวันนี้การฉายหนัง ฉายด้วยระบบดิจิตอลและการเข้ารหัส ซึ่งมีประสิทธิภาพทั้งคุณภาพเสียงและภาพที่ดีเยี่ยม ฟิล์มไม่ไหม้ ไม่ขาด ไม่ทำลายอรรถรสของผู้รับชม

โรงหนังแต่แรก...สงขลา ถึง หาดใหญ่

ภาพเก่าที่สุดเท่าที่ค้นพบ สำเริงสถานหรือบันเทิงสถานนั้น ตั้งอยู่ที่อำเภอหาดใหญ่ "หาดใหญ่สำเริงสถาน" ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นโรงหนังที่เก่าแก่ที่สุดในจังหวัดสงขลา มีลักษณะเป็นโกดังขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีลานจอดเกวียน ผูกม้าด้วย ถ้าเป็นในสมัยนี้ก็คงต้องเรียกว่า ลานจอดรถ ส่วนที่อำเภอเมืองสงขลามี "สำราญทัศนา" เจอจากหลักฐานทางข้อเขียนของโกช่อง อีกทั้งพลเอกเปรมฯ เคยเขียนข้อเขียนบอกเล่าในหนังสือที่ระลึกโรงเรียนมหาวชิราวุธ กล่าวถึง "โรงหนังหวังดี" ซึ่งหลายคนก็ไม่รู้ว่าวิกนี้ตั้งอยู่บริเวณใด บางคนเองก็ไม่เคยรู้ว่ามีโรงหนังแห่งนี้อยู่ด้วย แต่ลุงก้อยได้ไปพบหลักฐานจากบันทึกอัตชีวประวัติของ คุณลุงมาซาโอะ เซโตะ ลูกชายของจารชนชาวญี่ปุ่น คุณหมอไคเซ ผู้เข้ามาจารกรรมข้อมูลในสงขลา คุณลุงมาซาโอะบอกว่าแกอาศัยอยู่แถวแยกวัดดอนรัก ใกล้ ๆ มีโรงภาพยนตร์อยู่แห่งหนึ่ง ไม่ได้ระบุว่าชื่ออะไร แต่ป๋าเปรมฯ ได้บอกว่าโรงหนังหวังดีอยู่ตรงข้ามสมาคมรัฐธรรมนูญ สมาคมรัฐธรรมนูญเคยตั้งอยู่ที่ถนนเพชรคีรี ต่อมาก็ย้ายมาอยู่ตรงห้องสมุดประชนสงขลา ถนนรามวิถี ตรงข้ามเป็นโรงน้ำแข็งและโรงเรียนกวดวิชาสงขลาสมาร์ทเซ็นเตอร์ และบริเวณตรงนี้เอง ในอดีตคือที่ตั้งของ "โรงหนังหวังดี"

 

หลังจากยุคโรงหนังหวังดี ก็มีโรงลิเก และโรงงิ้วแบบมาตรฐาน ถ้าเราเคยไปกินก๋วยเตี๋ยวใต้โรงงิ้ว บริเวณศาลหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม ย่านชาวจีน โรงงิ้วแห่งนี้แหละเป็นโรงงิ้วที่มีอายุเก่าแก่ ใช้แสดงถวายเจ้าพ่อหลักเมืองมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ส่วนโรงลิเกก็อยู่ฝั่งตรงข้ามถนนโรงงิ้ว ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ปัจจุบันก็แปรเปลี่ยนเป็นแมนชั่นชื่อว่า "วิภาแมนชั่น" หลังจากโรงลิเกลาโรงไป บริเวณโรงลิเกก็เปลี่ยนเป็นโรงหนัง "หวนรัตนงาม" และเปลี่ยนเป็น "โรงหนังศรีเพชร" เพราะเจ้าของเป็นคนเพชรบุรี (ชาวบ้านเรียกโรงแห่งนี้ว่าโรงเก้าห้อง)

วิภาแมนชั่น (ปัจจุบัน)

หลังจากนั้นก็มีโรงหนังเกิดขึ้นมาอีกหนึ่งโรงในช่วงปี พ.ศ. 2493 ตั้งอยู่ในย่านชุมชนมุสลิม บริเวณถนนพัทลุง (บ้านบน) หันหน้าเข้าหามัสยิด หรือตรงข้าม "โรตีอาม่า" ในปัจจุบัน โรงภาพยนตร์แห่งนี้มีชื่อว่า "วิกบน" หรือ "สงขลาภาพยนตร์" โรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นมาเป็นวิกโดยตรง ไม่ได้แปลงมาจากไหน ปัจจุบันยังมีโครงอาคารให้เราได้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ และจาก "สงขลาภาพยนตร์" ก็เปลี่ยนเป็น "สหภาพยนตร์" อีกโรงภาพยนตร์หนึ่งตั้งอยู่แถวสวนหมาก ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยอาคารใด ๆ ให้เห็น เนื่องจากมีการสร้างเป็นบ้านจัดสรรหมดแล้ว แต่คงมีซุ้มประตูสีแดง (ลักษณะเป็นเสา 2 ต้น) หลงเหลืออยู่ ซึ่งเป็นทางเข้าโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า "วิกคิงส์" หรือ "วิกแกรนด์" ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "โรงหนังเจริญชัย" ผู้ที่สานกิจการต่อ คือ คุณชัยเจริญ สุดยอดนักพากย์หนังภาคใต้ ที่วัยรุ่นยุคนั้นต้องยกนิ้วให้เลย โดยเฉพาะหนังฝรั่ง

ย้อนกลับมาที่ "โรงหนังศรีเพชร" ภายหลังได้เปลี่ยนมือและเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงหนังหลักเมือง" เพราะตั้งอยู่หน้าศาลหลักเมือง แต่ก็กระท่อนกระแท่น เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจ มีการปิดปรับปรุงอยู่หลายครั้งหลายครา และก็มาถูกกระแส "ร้านเช่าวีดีโอ" ซัดเข้าเต็ม ๆ ทำให้วิกหนังแห่งนี้ถึงคราวอวสานไปในที่สุด และตามด้วยวิกอื่น ๆ อีกมากมาย เพราะคนหันมาเช่าวีดีโอดูกันมากกว่า ช่วงนั้นที่ดัง คือ "กระบี่ไร้เทียมทาน" และ "ดาบมังกรหยก" แต่โรงสหภาพยนตร์ก็ยังคงเปิดฉายได้ตามปกติ ลุงก้อยได้เปรียบโรงแห่งนี้ว่า "แมว 9 ชีวิต"

วิกคิงส์ สงขลา

โรงภาพยนตร์ติดแอร์แห่งแรก

โรงภาพยนตร์ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นโรงหนังแนวระนาบเดียว เป็นโรงไม้และมีสองชั้น ส่วนโรงหนังที่ติดแอร์แห่งแรกของสงขลา เรียกว่า "โรงหนังเพรสซิเดนท์" ตั้งอยู่บริเวณบ่อยาง เป็นโรงภาพยนตร์แนวใหม่และมีมาตรฐานมากที่สุดในยุคนั้นของอำเภอเมืองสงขลา โรงภาพยนตร์แห่งนี้สร้างเป็นแนวลาดเอียง วันแรกที่เปิดให้บริการ มีการฉายภาพยนตร์เรื่อง "แฟน" นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตร และ เนาวรัตน์ ยุกตะนันท์ โรงหนังเพรสซิเดนท์มีศูนย์การค้าอยู่ด้านล่างชื่อว่า "ศูนย์การค้าคุณแม่สมบูรณ์ประธานราษฎร์นิกร" และ "ศูนย์การค้าสยาม" เป็นจุดเริ่มต้นของดิสโก้เธคของอำเภอเมืองสงขลา ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็น "ลีเจ็ด" หรือ "ลีเพรสซิเดนท์" ถนนพัทลุงและสงขลา ยังมีอีกหนึ่งโรงที่เปิดไล่เลี่ยกับเพรสซิเดนท์ นั่นคือ "เฉลิมทอง" บริเวณสถานีรถไฟสงขลา หลังโรงเรียนอนุบาล ปัจจุบันยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ โรงภาพยนตร์เฉลิมทอง ทราบว่าเป็นเจ้าเดียวกับ "เฉลิมไทย" เมืองหาดใหญ่ โรงภาพยนตร์ใหญ่ ๆ ในอำเภอเมืองสงขลาที่ปิดตัวไปก่อนโรงแรก คือ "เฉลิมทอง" ต่อมาก็เป็น "เพรสซิเดนท์" และสุดท้ายก็เป็น "สหภาพยนตร์" ฉายเรื่องสุดท้าย คือ  GTO ครูซ่าปราบขาโจ๋

 

วิกเฉลิมทองในปัจจุบัน

ลีเจ็ด

ขอขอบคุณข้อมูลและเรื่องราวดี ๆ: ลุงก้อยและพี่ส้มจี๊ด เล่าเรื่องเมืองสงขลา
เรียบเรียงใหม่: Hatyaifocus หาดใหญ่โฟกัส
รูปภาพ: Pantip / web thaifilm / คนใต้ดอทคอม / Peoplecine

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง