จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในอดีต ชุมชนตลาดปริกเป็นศูนย์กลางของตำบลปริกในอดีตก่อนสมัยรัชการที่ 5 จัดตั้งขึ้นเมื่อปีใดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่นับได้ว่าเป็นชุมชนที่เก่าแก่ของตำบลปริกชุมชนหนึ่งในยุคต้นๆของประวัติศาสตร์ตำบลปริก
ทั้งนี้เนื่องจากชุมชนตลาดปริกเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีผู้คนทั้งชาวไทยชาวจีนที่อพยพจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งถิ่นฐานทำมาหากิน ซึ่งต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีการกำหนดหัวเมืองให้ตลาดปริกเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการมีฐานะเป็นกิ่งอำเภอปริก ขึ้นตรงกับอำเภอเหนือ(อำเภอหาดใหญ่ในปัจจุบัน) กิ่งอำเภอปริกครอบคลุมพื้นที่ตำบลปริก และตำบลพังลาบางส่วน มีแนวเขตชนแดนระหว่างเมืองสงขลากับเมืองไทรบุรีที่บ้านหัวถนน(หมู่ที่ 8 ต.ปริกในปัจจุบัน) ก่อนจะมีการยกดินแดนไทรบุรี(รัฐเปอร์ลิสและรัฐเคดะห์) ให้กับประเทศมาลายู(มาเลเซีย)
ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีที่ตั้งของอำเภอสะเดา ดังนั้น ที่ตลาดปริก หรือกิ่งอำเภอปริกจึงเป็นที่ตั้งของโรงสาย(ที่ทำการไปรษณีย์) โรงพัก(สถานีตำรวจ) ต่อมาประเทศไทยได้ยกดินแดนไทรบุรีให้กับประเทศมาเลเซียตามข้อตกลงกับอังกฤษ ประเทศไทยมีการปักปันแนวเขตแดนใหม่ มีชายแดนติดกับประเทศมาเลเซียที่ควนไม้ดำหรือบ้านด่านนอกในปัจจุบัน จึงมีการตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้นที่ตำบลสะเดา และได้ยุบกิ่งอำเภอปริก ไปขึ้นกับอำเภอสะเดา ต่อมาได้มีการย้ายไปรษณีย์และสถานีตำรวจตามมาตั้งยังที่ตั้งใหม่ในตำบลสะเดา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ตลาดปริกยังคงมีความเป็ นศูนย์กลาง ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องมา เป็นตลาดที่มีผู้คนมาแลกเปลี่ยนสินค้า มีการชักลากไม้ จากป่าควนออก และควนตก ผ่านเส้นทางตลาดใต้ และหลังตลาดปริกซึ่งเมื่อก่อนนั้นนตัวตลาดจะตั้งอยู่ทางฝั่งทิศตะวันออกของถนนสงขลา-ไทรบุรี (หรือ ถนนกาญจนวนิช ในปัจจุบัน) เพื่อไปส่งที่โรงเลื่อยจักรหมอเส้งที่ตลาดคลองแงะ ชุมชนตลาดปริกเป็นที่ตั้งของโรงเรียนบ้านปริก(กุก่องวิทยาคาร) ที่ทำการกำนันตำบลปริก และมีตลาดที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้า ทำให้มีผู้คนมาติดต่อราชการ จับจ่ายใช้สอย หลังจากเสร็จภารกิจก็จะนั่งคุยกันที่ร้านน้ำชา ตามวิถีของคนในอดีต นอกจากนั้นตลาดปริกจะมีวิค /โรงฉายหนัง (หรือโรงภาพยนต์) ตั้งอยู่อีกด้วย
(ภาพประกอบ : เพจหลาดต้นปริก)
ชุมชนตลาดปริก ในอดีตจะมีตลาดนัดทุกวันพุธ ต่อมามีอยู่ช่วงหนึ่งที่มีการปราบปรามโจรคอมมิวนิสต์ โดยชาวบ้านบางส่วนมีการติดต่อกับพวกโจรหรือบางครั้งพวกโจรลงมาขออาหารชาวบ้าน ทางการไม่พอใจคิดว่าชาวบ้านเป็นสายให้กับพวกคอมมิวนิสต์ ต่อมามีทหารมาตั้งฐานอยู่ที่ด้านหลังชุมชน มีการประกาศเคอร์ฟิวและให้ทุกครัวเรือนปิดบ้านตอน 3 ทุ่ม
(ภาพ : อาคารสหกรณ์เก่าของชุมชน)
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนในพื้นที่บางส่วนถูกจับตัวไปและถูกฆ่า บางส่วนต้องอพยพออกจากพื้นที่ทำให้เศรษฐกิจในชุมชนตกต่ำลง และต่อมาตลาดดังกล่าวได้ปิดลงหลังจากเหตุการณ์สงบประชาชนที่อพยพไป บางส่วนก็กลับมาตั้งรกรากใหม่และคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน
ภาพ/ข้อมูล : เทศบาลตำบลปริก
เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 91เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 105ในหลวงรัชกาลที่9 กับการพัฒนาจังหวัดสงขลา
12 มกราคม 2568 | 101ย้อนประวัติจวนเจ้าเมืองสงขลา สมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์
5 มกราคม 2568 | 156พาชมพระสยามเทวาธิราชจำลอง 1 ใน 5 หัวเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
5 มกราคม 2568 | 139คนสงขลากับความเชื่อเรื่องทวด ที่ปรากฎในโองการทวดอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์จังหวัดสงขลา
5 มกราคม 2568 | 171ศาลาทวดสะบ้าย้อย ความศรัทธาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวสะบ้าย้อย
15 ธันวาคม 2567 | 279ที่มา...ชื่อบ้านสำนักขาม (สะเดา)
15 ธันวาคม 2567 | 248