หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

รู้จัก...จับปิ้ง อาภรณ์นุ่งห่มของเยาวสตรีในอดีต
8 ธันวาคม 2567 | 6,178

จับปิ้ง หรือ ตะปิ้ง เป็นเครื่องประดับสำหรับเด็กประเภทหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ ใช้สำหรับสวมใส่เพื่อปกปิดอวัยวะเพศของเด็ก โดยใช้ผูกไว้ที่บั้นเอว ธรรมเนียมการใช้จะปิ้งเป็นเครื่องประดับสำหรับเด็ก สันนิษฐานว่าน่าจะแพร่หลายเข้ามาในดินแดนบริเวณคาบสมุทรมลายูในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย โดยใช้สวมใส่ให้กับเด็กเมื่อสามารถยืนหรือเดินได้ และเชื่อกันว่าจะปิ้งเป็นเครื่องรางที่ใช้ปกป้องคุ้มครองผู้สวมใส่จากวิญญาณร้ายและอันตรายต่าง ๆ 

(ภาพ : https://th.wikipedia.org/wiki/)

ในประเทศไทยธรรมเนียมการสวมใส่จะปิ้งมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด การสวมใส่จะปิ้งในประเทศไทยจะสวมใส่ให้กับเด็กผู้หญิง ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำจะปิ้งจะใช้วัสดุที่หลากหลายตามฐานะของผู้สวมใส่ โดยนิยมทำด้วยโลหะที่ไม่เป็นสนิม จะปิ้งสำหรับเจ้านาย และบุตรหลานขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มักจะทำด้วยทองคำ ส่วนจะปิ้งของเด็กผู้หญิงทั่วไปมักจะทำด้วยเงินและนาก ส่วนผู้ที่มีฐานะยากจนจะใช้จะปิ้งที่ทำจากกะลามะพร้าว โดยจะสวมใส่จะปิ้งให้กับเด็กหลังจากที่โกนผมไฟ จนกระทั่งเมื่ออายุประมาณ 10-12 ขวบ หรือจนกระทั่งเมื่อโกนจุกจึงจะเลิกสวมใส่จะปิ้งเปลี่ยนไปเป็นนุ่งห่มเสื้อผ้าตามฐานะแทน

ลักษณะของจะปิ้งที่พบในปะเทศไทยมีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ
1. จะปิ้งรูปทรงทะนาน หรือรูปทรงใบโพธิ์ เป็นจะปิ้งที่มีขนาดประมาณครึ่งฝ่ามือ เพื่อที่จะสามารถปกปิดอวัยวะเพศของผู้สวมใส่ได้มิดชิด 

2. จะปิ้งรูปทรงร่างแห เป็นจะปิ้งที่ถักด้วยเส้นโลหะขึ้นเป็นแผ่นค่อนข้างโปร่ง รูปร่างคล้ายกระเบื้องเกล็ดเต่า หรือรูปสี่เหลี่ยมชายแหลม ตอนบนจะมีห่วงไว้สำหรับใช้ร้อยสร้อยสำหรับผูกไว้กับบั้นเอว

ในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะปิ้งที่พบส่วนใหญ่เป็นจะปิ้งที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 25 รูปแบบที่พบมีทั้งที่เป็นจะปิ้งรูปทรงทะนาน หรือจะปิ้งรูปทรงใบโพธิ์ และจะปิ้งรูปทรงร่างแห วัสดุที่ใช้ทำจะปิ้งมีทั้งที่ทำจากทอง เงิน นาก และกะลามะพร้าว ส่วนลวดลายของจะปิ้งที่พบส่วนใหญ่เป็นลายพันธุ์พฤกษา ลายประจำยาม ลายกระจังตาอ้อย ลายกระจังปฏิญาณ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ และลายกระหนก       

นอกจากนี้ยังพบการเขียนภาพการสวมใส่จะปิ้งในงานจิตรกรรมฝาผนังที่พบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอีกด้วย เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดวัง อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง และภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นต้น

การที่มีการพบการเขียนภาพการสวมใส่จะปิ้งของเด็กผู้หญิงในงานจิตรกรรมฝาผนังที่พบในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่และการแต่งกายของผู้คนในบริเวณคาบสมุทรสทิงพระและบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในสมัยที่มีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขึ้นได้เป็นอย่างดี

ข้อมูล/ภาพบทความ : - กรมศิลปากร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
- พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์ โดยกรมธนารักษ์

เรื่องที่เกี่ยวข้อง