หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 3,813

แหล่งเตาโบราณบ้านปะโอเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่บนพื้นที่ริมคลองปะโอ ตำบลม่วงงามและวัดขนุน อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 1,600 ตารางเมตร เป็นแหล่งผลิตภาชนะดินเผาสมัยโบราณเมื่อประมาณ 800-1,000 ปีมาแล้ว

จากการกำหนดอายุด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ลักษณะของเตาก่อด้วยดินดิบรูปเตาทรงกลมแบบเตาตะกรับ ระบายความร้อนแนวตั้ง แต่ละด้านเป็นทรงกลมมีช่องว่างคล้ายกับช่อกากบาทเป็นช่องเติมเชื้อเพลิง ส่วนหลังคาเตาสันนิษฐานจากร่องรอยผนังเตาที่พังลงมา คาดว่าก่อขึ้นเป็นรูปโดม แหล่งเตาแห่งนี้จัดเป็นแหล่งเตาโบราณที่พบหลักฐานการผลิตเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนแรกเริ่มประวัติศาสตร์เพียงแห่งเดียวในภาคใต้ ตั้งอยู่บนสันทรายบนคาบสมุทรสทิงพระ ริมฝั่งอ่าวไทย ไม่ไกลจากชุมชนเมืองท่าสำคัญในภาคใต้ที่มีการติดต่อกับชนต่างแดนตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11-19

ผลิตภัณฑ์จากแหล่งเตามีหลายประเภท เช่น จานแบน กระปุก หม้อกลม คณโฑ แต่ประเภทเด่นคือภาชนะดินเผาทรงหม้อน้ำแบบมีพวยหรือกุณฑี ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาในชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากอินเดีย เป็นที่ยอมรับกันว่ากุณฑีจากภาคใต้มีรูปทรงงดงามที่สุดในไทย และมีเทคนิคการผลิตเป็นเอกลักษณ์ คือผลิตด้วยดินขาว (Kaolin clay) คุณภาพดีผสมกับทรายละเอียดและดินเหนียว ทั้งนี้ ดินขาวเป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาคุณภาพดี เนื่องจากทำให้เนื้อละเอียด เป็นสีขาวนวลและประสานกันแน่น รวมทั้งผ่านการเผาด้วยเตาเผาที่ควบคุมอุณหภูมิได้ถึง 1,000 องศาเซลเซียส ทำให้ได้เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดิน (Earthenware) ที่มีความแกร่งและบาง แต่ยังเหมาะสมกับการใช้งานของชุมชน

สะท้อนถึงการผสมระหว่างวิธีการผลิตแบบท้องถิ่นและความก้าวหน้าจากภายนอก ประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีแหล่งวัตถุดิบทั้งทรายละเอียด ดินเหนียวจากปากรอ ดินขาวจากเกาะนางคำในทะเลสาบสงขลา ทำให้ภาชนะมีคุณภาพดี และมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบจนถึงปัจจุบัน ที่ตั้งของเตาที่เหมาะสมทั้งการลำเลียงวัตถุดิบ รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ รวมถึงตัวภาชนะเอง ที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ทั้งเนื้อดิน สี การตกแต่ง ซึ่งสวยงามและเหมาะสมกับการใช้งานมากกว่าภาชนะจากที่อื่น ๆ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ภาชนะดินเผากลุ่มนี้จึงได้รับความนิยมเป็นสินค้าส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าว ดังพบหลักฐานเศษภาชนะดินเผาจากแหล่งโบราณคดีต่าง ๆ เช่น แหล่งโบราณคดี Empress place ประเทศสิงคโปร์ เมือง‍โบราณบารุส ประเทศอินโดนีเซีย และพบไกลสุดถึงประเทศศรีลังกา แสดงให้เห็นถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนข้ามดินแดนของมนุษย์ตั้งแต่อดีต

แม้ว่าภาชนะจากแหล่งเตาปะโอจะมีคุณภาพดี สวยงาม รวมถึงส่งขนสะดวกแต่หมดความนิยมในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 จากการทิ้งร้างของเมือง คาดว่าอาจเพราะทางน้ำตื้นเขิน หรือการเกิดขึ้นของแหล่งผลิตภาชนะดินเผาแหล่งอื่นหลังจากการเสื่อมลงของแหล่งเตาปะโอจึงไม่พบการผลิตที่มีความเชื่อมโยงให้เห็น แม้จะพบชุมชนที่อาจใช้วัตถุดิบจากแหล่งเดียวกัน และมีการสืบทอดความรู้การผลิตภาชนะดินเผาที่บ้านสทิงหม้อซึ่งมีการผลิตภาชนะทรงกุณฑีอยู่ แต่ทักษะและความชำนาญยังไม่สามารถเทียบเท่ากับช่างจากแหล่งเตาปะโอ

แหล่งเตาเผาโบราณบ้านปะโอเป็นทรัพยากรวัฒนธรรมสำคัญที่แสดงเทคโนโลยีและสุนทรียภาพของมนุษย์ในอดีต รวมทั้งเป็นหลักฐานแสดงการติดต่อระหว่างชุมชนในอดีตด้วย

อ้างอิงข้อมูล : อภิชญา จันอุดร และอภิภัทร อังสนันท์."แหล่งเตาโบราณบ้านปะโอ".คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง