หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

พิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง(ร.5) ของชาวจังหวัดพัทลุง
4 สิงหาคม 2567 | 4,524

พิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง ที่บริเวณหัวแหลมบ้านเขาชัน หมู่ ๗ ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง เป็นเป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นมาช้านาน (ปี 2567 ครบ 135 ปีที่พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสและประทับแรม ณ หมู่เกาะสี่เกาะห้า ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง)

จากที่หมู่เกาะสี่เกาะห้าเป็นแหล่งของรังนกนางแอ่น ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ เป็นแหล่งรายได้ของประเทศ ดังนั้นก่อนจะมีการเก็บรังนกทุกครั้ง ก็จะมีพิธีกรรมบวงสรวงเทวดา เจ้าเขา เจ้าควน ไหว้เทวดา เจ้าที่เจ้าทางตาโส ยายสา ที่อาศัยอยู่ภายในเกาะ รวมไปถึงการบวงสรวงที่เป็นการรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) โดยก่อนจะขึ้นเก็บรังนกแต่ละครั้ง บริษัทผู้รับสัมปทานจะมีพิธีกรรมบวงสรวงโดยผู้ที่จะทำการเก็บรังนกเป็นผู้ทำพิธีกรรม เพื่อเป็นการขอพรและเป็นการบนบานให้การเก็บรังนกสมบูรณ์ครบถ้วน ให้แคล้วคลาดปลอดภัยและราบรื่นไปด้วยดี 

ซึ่งเมื่อก่อนการเก็บรังนกจะมีการเก็บทั้งหมด 3 ครั้งต่อปี โดยครั้งแรกจะเก็บประมาณเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เก็บครั้งที่ 2 ประมาณเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม และครั้งที่ 3 ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งหลังจากเก็บรังนกเสร็จสิ้นในแต่ละครั้งนั้น ก็จะปิดเกาะประมาณ 3-4 เดือน 

และครั้งสุดท้ายหลังจากการเก็บรังนกเสร็จ ก่อนจะมีการออกเกาะก็จะมีพิธีบวงสรวงใหญ่อีกครั้ง โดยจะมีการตั้งบวงสรวงเครื่องเซ่นไหว้ มีการทำพิธีด้วยหมอ ชาวบ้าน และนิมนต์พระมาทำพิธีในการบวงสรวง ซึ่งจะมีการทำพิธี 2 วัน 1 คืน จะมีการละเล่นหนังตะลุง มโนราห์ เป็นการแก้บนที่ได้ทำการจัดเก็บรังนกที่ผ่านมาได้ราบรื่น ครบสมบูรณ์ แคล้วคลาดปลอดภัย เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่าง ๆ ก็จะมีการออกจากเกาะ หลังจากนั้นจะมีการเข้าเกาะมาเก็บรังนกอีกครั้งในประมาณเดือนมกราคมของปีถัดไป

จากบทความของชาลิสา ทองขาวเผือก (2565) กล่าวว่า รังนกอีแอ่นหรือนางแอ่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อหัวเมืองปักษ์ใต้ ของราชอาณาจักรไทยมาช้านาน นับตั้งแต่สมัยอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ จากประวัติศาสตร์ของเจ้าเมืองสงขลา (ต้นตระกูล ณ สงขลา) ซึ่งมีความดีความชอบจากการคุมเงินส่วนรังนกและอากรรัง ในปี พ.ศ. 2367 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทางราชการกำหนดให้การมีสัมปทานรังนกขึ้น โดยหมู่เกาะสี่เกาะห้าก็ถูกกำหนดให้อยู่ในเขตสัมปทานรังนกด้วย 

ต่อมาทางราชการได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเกาะที่นกอีแอ่นทำรังอยู่ตามธรรมชาติเป็นเขตห้าม นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติรังนกอีแอ่น พุทธศักราช 2540 จังหวัดพัทลุง เป็นท้องถิ่นหนึ่งที่ได้รับผลประโยชน์จากอากรรังนกอีแอ่น

พิธีบวงสรวงพระพุทธเจ้าหลวง เป็นพิธีสักการะพระบรมรูปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่บนหน้าผาเทวดา หมู่เกาะสี่เกาะห้า ตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จากเหตุการณ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๒ (ร.ศ. 108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จประพาสทะเลสาบ และหมู่เกาะสี่ เกาะห้า เมื่อวันที่ 22-24 กรกฎาคม 2432 พระองค์ท่านได้ประทับแรมที่พลับพลาหน้าเขาเทวดา เกาะมวย และเสด็จถ้ำในเกาะต่าง ๆ เช่น ถ้ำหลี ถ้ำแรงวัว ถ้ำเสือ ถ้ำแรด ถ้ำลูชิม และเขาชัน การเสด็จครั้งนั้นได้ทรงจารึกอักษร "จ.ป.ร. ศักราช 108” ไว้ที่หน้าผาเขาหน้าเทวดา (เกาะมวย)

พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานอยู่หน้าเพิงผาจารึกอักษรพระนาม (หน้าเทวดา) บนเกาะมวย มีลักษณะเป็นพระบรมรูปหล่อด้วยโลหะ  ต่อมาอำเภอปากพะยูนได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อที่ 14 สิงหาคม 2538  และได้ประกอบพิธีประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 องค์การบริหารบริหารส่วนตำบลเกาะหมาก ร่วมกับหน่วยงานราชการ รวมทั้งพสกนิกรในตำบลเกาะหมาก อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง จึงได้พร้อมใจกันจัดงานย้อนรอยประวัติศาสตร์ "ตามรอยพระพุทธเจ้าหลวง”  ในระหว่างวันที่ 23-26 กรกฎาคม ของทุก ๆ ปี ซึ่งได้เริ่มจัดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2547 เป็นปีแรก จนถึงปีปัจจุบัน 

ภาพ/ข้อมูลบทความ : - ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาสงขลานครินทร์
- สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง