หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เรือนพระยาสุนทรานุรักษ์ สู่อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลาในปัจจุบัน
7 กรกฎาคม 2567 | 4,710

"เรือนพระยาสุนทรานุรักษ์" หรืออาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่ายิ่งด้านศิลปกรรม มีความโดดเด่นและสวยงาม โดยเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมตะวันตกที่ได้รับอิทธิพลด้านรูปแบบศิลปะจากทางตอนใต้ของจีน อีกทั้งเป็นสถานที่รวบรวมและจัดแสดงไว้ซึ่งโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่บอกเล่าเรื่องราวและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีฐานะเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหลักของจังหวัด นอกจากนี้ยังนับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งต่อประวัติศาสตร์โบราณคดีเมืองสงขลา ด้วยมีบทบาทการใช้งานในฐานะศูนย์กลางเมืองมาตลอด 140 ปี 

โดยก่อนที่อาคารหลังนี้โดดเด่นอยู่ใจกลางเมืองสงขลาในฐานะแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งานหลายครา

ราวพุทธศักราช 2421 – 2437 : คฤหาสน์ตระกูล ณ สงขลา "เรือนพระยาสุนทรานุรักษ์" สร้างขึ้นโดยพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยเจ้าเมืองสงขลา ในราวปี 2421 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แรกเริ่มสร้างขึ้นเพื่อเป็นคฤหาสน์ของตระกูล ณ สงขลา 

ปรากฏการหลักฐานกล่าวถึงครั้งแรกในบันทึกทางประวัติศาสตร์ “ชีวิวัฒน์” พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชในคราวประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ พุทธศักราช 2427 ระบุว่า “…ที่มุมเมืองนอกกำแพงด้านเหนือตะวันตก มีตึกหมู่หนึ่งหันหน้าลงน้ำ ไกลน้ำประมาณ 4-5 เป็นตึก 2 ชั้น วิธีช่างทำทำนองตึกฝรั่งยังทำไม่แล้ว ข้างในเป็นตึก 2 ชั้น 3 หลัง วิธีช่างทำทำนองจีนแกมฝรั่ง ทำสำเร็จแล้ว มีกำแพงบ้านก่ออิฐเป็นบริเวณ บ้านตึกหมู่นี้เป็น บ้านหลวงอนันตสมบัติ  บุตรพระยาสุนทรา บิดาได้ทำไว้ค้างอยู่…”

พุทธศักราช 2438 – 2448 : ที่พำนักข้าหลวงเทศาภิบาล กระทั่งในระหว่างปีพุทธศักราช 2438 – 2439 หรือในช่วงปลาย ร.ศ. 114-115 อันเป็นระยะเตรียมจัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เมื่อยังเป็นพระวิจิตรวรสาส์นเป็นข้าหลวงพิเศษ ตรวจราชการเมืองสงขลา ปรากฏหลักฐานว่ามีการเช่าอาคารหลังนี้เพื่อใช้เป็นที่พักของข้าหลวงพิเศษ ซึ่งต่อมาได้เป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล โดยในเอกสารรายงานพระวิจิตรวรสาสน์ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 114 – เมษายน ร.ศ. 115 ระบุสถานที่ทำการเป็น “ที่พักข้าหลวงเมืองสงขลา” จึงเป็นหนึ่งในหลักฐานแสดงถึงการใช้งานอาคารหลังนี้เป็นที่ทำการหรือที่ว่าราชการควบคู่กันไป  

ครั้งเมื่อประกาศตั้งมณฑลเทศาภิบาลนครศรีธรรมราช อาคารหลังนี้ยังคงเป็นที่พักรับรองของข้าหลวงเทศาภิบาลสืบต่อมา ในขณะเดียวกันมีการใช้งานเป็นที่ว่าการมณฑลนครศรีธรรมราชเป็นการชั่วคราวนับจนถึงเดือนสิงหาคม ในพุทธศักราช 2440 
ภายหลังดำเนินการย้ายที่ว่าการมณฑลไปตั้งทำการในจวนเจ้าเมืองเก่า พบว่าบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสเมืองสงขลาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้กล่าวถึงอาคารหลังนี้เรื่อยมาจนถึงพุทธศักราช 2448 ในนาม “ที่พักข้าหลวงเทศาภิบาล” โดยมีบทบาทเป็นหนึ่งในสถานที่ประทับและเสวยพระกระยาหารกลางวัน 

ต่อมาในพุทธศักราช 2448 ปรากฏหลักฐานระบุว่าการสร้างอาคาร “สัณฐาคาร” แล้วเสร็จ และถูกใช้งานเป็นจวนข้าหลวงเทศาภิบาลแห่งใหม่สืบต่อมา อาคารทรงเก๋งจีนหลังนี้ก็ยังคงได้รับการกล่าวถึงในเอกสารการเสด็จประพาสเมืองสงขลา ร.ศ. 124 หรือ พ.ศ. 2448 ในนามที่พักข้าหลวงเทศาภิบาลเช่นเดิม 

ประมาณพุทธศักราช 2453 – 2496 : ศาลารัฐบาลและศาลากลางจังหวัดสงขลา หลังจากนั้น ปรากฏหลักฐานกล่าวถึงอาคารหลังนี้อีกครั้งในเอกสารข่าวเสด็จพระราชดำเนินประพาสทางทะเลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เดือนเมษายน ร.ศ. 130 หรือในปี พ.ศ. 2454 ในนาม “ศาลารัฐบาล” ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2476 และประกาศจัดตั้งเทศบาลเมืองสงขลาในอีก 2 ปีถัดมา  พบว่ายังคงระบุที่ตั้งเรือนพระยาสุนทรานุรักษ์ในแผนผังเทศบาลเมืองสงขลา พุทธศักราช 2478 ว่า “ศาลารัฐบาล มณฑลนครศรีธรรมราช” ยืนยันด้วยภาพโปสการ์ดจากร้านบ้วนเฮงในช่วงประมาณพุทธศักราช 2480 ระบุภาพอาคารหลังนี้ในชื่อเดียวกัน ก่อนจะมีการเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ศาลากลางจังหวัดสงขลา” ในเวลาต่อมา โดยปรากฏหลักฐานชัดเจนในแผนผังแบบก่อสร้างที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขและบ้านพัก พุทธศักราช 2495 อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่มีการย้ายจากที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลาไปอยู่ ณ ถนนราชดำเนินในปัจจุบัน อาคารหลังนี้ได้ถูกทิ้งร้างเป็นเวลาหลายปี  

พุทธศักราช 2516 - ปัจจุบัน :  ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานและบูรณะปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ภายหลังที่อาคารทรุดโทรม บางส่วนของอาคารพังทลายไปเพราะขาดการบูรณะ กรมศิลปากรพิจารณาเห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของจังหวัด ลักษณะทางสถาปัตยกรรมทรงคุณค่าทางศิลปะ ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม จึงประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2516 โดยการบูรณะซ่อมแซมในช่วงแรก ดำเนินการระหว่างพุทธศักราช 2517 - 2518 เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จได้ใช้เป็นที่ทำการหน่วยศิลปากรที่ 9 สงขลาอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาจึงดำเนินการบูรณะปรับปรุงอาคารเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา แล้วเสร็จในวันที่ 10 สิงหาคม พุทธศักราช 2520

เมื่อการบูรณะปรับปรุงอาคารแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2520 จึงมีการรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ที่ได้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตลอดจนมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับมอบจากประชาชนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ โดยได้รับการประกาศจากกระทรวงศึกษาธิการกำหนดเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2521

ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2525 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้งานเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดสงขลา นับตั้งแต่นั้นมาจวบจนปัจจุบัน

ขอบคุณภาพ/ข้อมูลบทความ : ธีรนาฎ มีนุ่น ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง