เขานางชี ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งข่า ตำบลพนมวังก์ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เขานางชีเป็นเขาหินปูนในหมวดหินชัยบุรี ถือกำเนิดขึ้นในช่วงยุคไทรแอสซิกซึ่งมีอายุราว 210 - 245 ล้านปีมาแล้ว
เขานางชีมีตำนานเล่าต่อกันว่า เขานางชีมีถ้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของนางชีซึ่งเป็นคนธรรพ์ ทำหน้าที่ดูแลมนุษย์ และทอผ้ารอถวายพระศรีอาริย์ ทุกวันขึ้นและวันแรม 15 ค่ำ จะได้ยินเสียงดังคล้ายเสียงคนกำลังทอผ้าลอยแว่วมา
ในสมัยก่อนเมื่อเด็กเลี้ยงวัว นำวัวมาเลี้ยงใกล้ถ้ำ นางชีจะหย่อนอาหารถาดทองเหลืองให้เด็กๆได้กินเป็นประจำ แต่เนื่องจากความซุกซนของเด็กซึ่งไปร้องเพลงว่า "...แม่ชี แม่ชี หมียิก แล่นขึ้นปลายจิก หมียิกแม่ชี..." และมีเด็กคนหนึ่งถ่ายอุจจาระใส่ถาดทองเหลืองของแม่ชี ทำให้แม่ชีไม่พอใจ จึงปิดประตูถ้ำ และไม่ออกมาทอผ้า และนำอาหารออกมาให้เด็กๆกินอีกเลย
บริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกค่อนไปทางใต้ ปรากฏ "ถ้ำพระเขานางชี" มีลักษณะเป็นถ้ำหินปูน ภายในถ้ำประกอบด้วยคูหาถ้ำ 2 คูหาซึ่งมีทางเชื่อมต่อกัน คูหาแรกมีปากถ้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ปากถ้ำกว้างประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 10 เมตร และมีความลึกถึงก้นถ้ำประมาณ 43 เมตร ส่วนคูหาที่สองมีปากถ้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันตก ปากถ้ำกว้างประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร มีความลึกถึงจุดเชื่อมต่อภายในถ้ำประมาณ 10 เมตร
ภายในถ้ำพระเขานางชีพบภาพจิตรกรรมบนผนังจำนวน 10 จุด เขียนภาพด้วยสีแดง เหลือง และตัดเส้นด้วยสีดำ ภาพเหล่านี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเขียนขึ้น แต่มีปรากฏมาตั้งแต่ก่อนรุ่นปู่ย่าตายายแล้ว จากการศึกษาพบว่าภาพที่ปรากฏเหล่านี้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตพุทธเจ้า และพระไสยาสน์ ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลของศิลปะพม่าสมัยอังวะตอนปลาย ซึ่งร่วมสมัยกับสมัยอยุธยาตอนกลาง ที่ผนังถ้ำพระเขานางชี พบจารึกอักษรไทย ภาษาไทย สมัยอยุธยาเขียนคำว่า “โนกรรม” ซึ่งสันนิษฐานว่าย่อมาจากคำว่า “มโนกรรม” ซึ่งเป็นหลักธรรมใน “กุศลกรรมบถ” และคำว่า “พระพุทธเจ้าห่อนรู้ผู้ชำนะมาร”
พ.ศ.2564 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานเขานางชี นับเป็นโบราณสถานที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนพร้อมกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานแห่งล่าสุดของจังหวัดพัทลุง
ภาพ/ข้อมูลบทความ : -สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
-สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เหตุอัศจรรย์ระหว่างการก่อสร้าง ธรรมสถานพระโพธิสัตว์กวนอิม (เขาเทียมดา)
12 มกราคม 2568 | 92เปิดตำนาน...ปู่เจ้าเขาเขียวแห่งสิงหนคร
12 มกราคม 2568 | 106ในหลวงรัชกาลที่9 กับการพัฒนาจังหวัดสงขลา
12 มกราคม 2568 | 102ย้อนประวัติจวนเจ้าเมืองสงขลา สมัยธนบุรี - รัตนโกสินทร์
5 มกราคม 2568 | 156พาชมพระสยามเทวาธิราชจำลอง 1 ใน 5 หัวเมือง ประดิษฐานอยู่ที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา
5 มกราคม 2568 | 141คนสงขลากับความเชื่อเรื่องทวด ที่ปรากฎในโองการทวดอารักษ์ศักดิ์สิทธิ์จังหวัดสงขลา
5 มกราคม 2568 | 172ศาลาทวดสะบ้าย้อย ความศรัทธาสู่สิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวสะบ้าย้อย
15 ธันวาคม 2567 | 281ที่มา...ชื่อบ้านสำนักขาม (สะเดา)
15 ธันวาคม 2567 | 251