วัดดีหลวงใน ตั้งอยู่ที่ตำบลชิงโค อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2220 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี และได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ (ช่วงรัชกาลที่ 4-5) เดิมชื่อ “วัดดีหลวง” ต่อมาในท้องถิ่นเดียวกันนั้นก็มีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งคือ “วัดดีหลวงนอก” ตั้งแต่นั้นมาวัดดีหลวงจึงได้รับชื่อเป็น “วัดดีหลวงใน” แต่ชาวบ้านมักจะเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดใน”
วัดดีหลวงในเป็นวัดที่มีความร่มรื่นและเงียบสงบแม้ว่าจะอยู่ติดถนนใหญ่ก็ตาม ภายในวัดมีพระอุโบสถที่มีรูปแบบศิลปกรรมแบบผสมผสานไทย-จีน โดยจะกับพบร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาบนคาบสมุทรสทิงพระมาตั้งแต่สมัยอยุธยา สังเกตได้จากวัดวาอารามที่เรียงรายอยู่ตลอด 2 ข้างทางถนนสายสงขลา-ระโนด ดังเช่น วัดดีหลวงใน และวัดอื่น ๆ อีกมากมาย วัดดีหลวงใน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดดีหลวงในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 102 ตอนที่ 128 วันที่ 17 กันยายน 2528 หน้า ๔๔๙๖ พื้นที่โบราณสถานประมาณ 2 ไร่ 1 งาน 2 ตารางวา
อุโบสถวัดดีหลวงในเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยต้นพุทธศตวรรษที่25 ตามแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่สืบทอดต่อกันมา โดยยึดแนวช่างหลวงแต่ปรับบางส่วนในเข้ากับรูปแบบท้องถิ่น โครงสร้างอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ลักษณะเป็นอุโบสถโถงสามารถเดินได้รอบ บริเวณหน้าบันตกแต่งด้วยลายปูนปั้นรูปเทวดาประทับนั่งในวิมาน
พระอุโบสถของวัดดีหลวงใน ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้ว หันหน้าทางทิศตะวันออก ผังพระอุโบสถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือระเบียงด้านนอกและส่วนภายในสำหรับประกอบสังฆกรรม มีบันไดขึ้นเฉพาะด้านหน้า ตรงส่วนฐานทำเป็นบัวคว่ำบัวหงาย ตัวอาคารทำเป็นช่องเปิดเป็นวงโค้งตามแนวเสาพาไล หน้าบันด้านหน้าทำเป็นลวดลายปูนปั้นเรื่องพระเวสสันดรชาดก โดยประธานภาพเป็นรูปฤาษีซึ่งเป็นพระเวสสันดรประทับนั่งในปราสาทเหนือปราสาทขึ้นไปเป็นภาพของรามสูรกับนางมณีเมขลา เบื้องขวาพระเวสสันดร เป็นรูปนางมัทรีหาบผลไม้และมีเสือขวางอยู่ เบื้องซ้ายเป็นรูปชูชก กัณหา ชาลีและชายแก่หัวล้านนุ่งผ้าขาวม้าขวางทางอยู่ พื้นหลังประดับด้วยลวดลายเครือเถาพรรณพฤกษาดอกพุดตาน และมักกะลีผลโดยมีเทวดาแย่งชิงเก็บมักกะลีผล ซึ่งเป็นพืชที่อยู่ในป่าหิมพานต์
หน้าบันทิศตะวันตกของอุโบสถ มีลักษณะอย่างเดียวกันกับด้านหน้า แต่แตกต่างกันที่เรื่องราว รูปทรงประธานภาพซึ่งเป็นเทวดาทรงวัว 3 เศียร ซึ่งหมายถึงพระอิศวรทรงโค ส่วนด้านล่างเป็นภาพคนและสัตว์ เช่น ลิง กวาง พื้นหลังของภาพเป็นลายเครือเถาพรรณพฤกษาลายดอกพุดตาน มีลิงและกระรอกไต่อยู่ตามเถาของพรรณพฤกษา ทำให้ลวดลายดูมีชีวิตชีวามากขึ้น เครื่องลำยองพระอุโบสถประดับด้วยช่อฟ้า หางหงส์ ใบระกา
จุดเด่นพิเศษของพระอุโบสถวัดดีหลวงในที่ไม่เหมือนกับวัดอื่น ๆ คือหางหงษ์ตรงส่วนหลังคาปีกนก ทำเป็นรูป ช้าง ม้า ฤาษี และยักษ์ ซึ่งต่างจากพระอุโบสถทั่ว ๆ ไป
ภาพ/ข้อมูลบทความ : ข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง
ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 180พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 190ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 221ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 391ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,359เที่ยววัดแหลมพ้อ ชมพระนอนเด่นเป็นสง่าคู่ทะเลสาบสงขลาและเชิงสะพานติณสูลานนท์
1 กันยายน 2567 | 293ปลากะพงสามน้ำ ของดีของหรอยคู่ทะเลสาบสงขลา
25 สิงหาคม 2567 | 296อาคารสโมสรจังหวัดสงขลา โบราณสถานแห่งความทรงจำของคนสงขลาแต่แรก
25 สิงหาคม 2567 | 421