หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ปลาพะยูน สู่ปากพะยูน จังหวัดพัทลุง
9 มิถุนายน 2567 | 4,311

ปากพะยูน เป็นอำเภอหนึ่งใน 11 อำเภอของจังหวัดพัทลุง เดิมชื่ออำเภอทักษิณ ต่อมาในปี พ.ศ. 2445ได้เปลี่ยนมาเป็นชื่ออำเภอปากพะยูน ตามชื่อที่ราษฎรในท้องที่เรียกขานกัน พื้นที่อาณาเขตเดิมของอำเภอปากพะยูน ครอบคลุมพื้นที่ของ 6 อำเภอในปัจจุบัน คืออำเภอเขาชัยสน อำเภอตะโหมด อำเภอบางแก้ว อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง รวมไปถึงเขตอำเภอรัตภูมิ และอำเภอควนเนียง ของจังหวัดสงขลา ซึ่งได้แบ่งแยกเขตการปกครองออกเรื่อยมา

(ภาพ : ที่ว่าการอำเภอปากพะยูน)

คำว่า "ปากพะยูน" หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ปากยูน" เป็นอำเภอเก่าแก่ ที่ตั้งขึ้นในยุคแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครองเดิมจากระบบจตุสดมภ์ หรือ ระบบกินเมือง เป็นระบบมณฑลเทศาภิบาล มีประชากรอาศัยอยู่น้อยต่อมาประชาชนที่เข้ามาอาศัย ได้ทำประมงจับสัตว์น้ำ ได้รับผลประโยชน์อย่างมากส่งผลให้ประชาชนจากถิ่นต่าง ๆ เริ่มอพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนตามริมฝังทะเลสาบมากขึ้น เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นมากแล้ว เจ้าเมืองพัทลุงจึงตั้งหัวหน้าคอยควบคุมดูแล เรียกว่า "หัวเมือง" มีหน้าที่ปกครองระงับทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนในเขตนี้ ทั้งมีหน้าที่เป็นนายด่านตรวจคนเข้าออกระหว่างเมืองพัทลุงกับเมืองสงขลา

(ภาพ : เทศบาลตำบลปากพะยูน จ.พัทลุง)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงตั้งมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้นประกอบด้วย เมืองนครศรีธรรมราช เมืองสงขลา เมืองพัทลุง และหัวเมืองแขก 7 หัวเมือง เมืองพัทลุงได้แบ่งการปกครองออกเป็น 3 อําเภอ คืออําเภอกลางเมือง อําเภออุดร และอําเภอทักษิณ 

(ภาพ : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน )

ต่อมาอําเภอทักษิณได้เปลี่ยนชื่อเป็นอําเภอปากพะยูน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2445 เมื่อเริ่มก่อตั้งอําเภอปากพะยูน มีอาณาเขตกว้างขวางมาก คือมีตําบลในการปกครองถึง 17 ตําบล ได้แก่ตําบลปากพะยูน ตําบลเกาะหมาก ตําบลเกาะนางคํา ตําบลฝาละมี ตําบลโคกทราย ตําบลป่าบอนเหนือ ตําบลป่าบอนต่ํา ตําบลท่ามะเดื่อ ตําบลนาปะขอ ตําบลตะโหมด ตําบลจองถนน ตําบลเขาชัยสน ตําบลคูหาใต้ ตําบลกําแพงเพชร ตําบลยางทอง ตําบลท่าชะมวง และตําบลห้วยลึก 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2477 ได้โอนตําบลท่าชะมวง ตําบลคูหาใต้ และตําบลกําแพงเพชร ไปขึ้นกับอําเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา และเมื่อมีการตั้งอําเภอเขาชัยสนในปี พ.ศ. 2496 จึงได้โอนตําบลจองถนน ตําบลนาปะขอ ตําบลท่ามะเดื่อ ตําบลตะโหมด และตําบลเขาชัยสน ไปขึ้นกับอําเภอเขาชัยสน ส่วนตําบลยางทองได้โอนไปขึ้นกับจังหวัดสงขลา (ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นปีใด) ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 ได้แยกตําบลป่าบอนเหนือ ตําบลป่าบอนต่ำ และตําบลโคกทราย ไปตั้งเป็นกิ่งอําเภอป่าบอน และ ยกฐานะเป็นอําเภอป่าบอนในเวลาต่อมา

(ภาพ : เทศบาลตำบลปากพะยูน จ.พัทลุง)

สำหรับคําว่า “ปากพะยูน” นั้นสันนิษฐานว่ามาจากคําว่า “ปลาพะยูน” ซึ่งเป็นสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม มีลักษณะคล้ายกับปลาวาฬ เพราะเชื่อกันว่าสมัยก่อนมีพะยูนอยู่มากในทะเลสาบส่วนนี้ แต่บางหลักฐานก็ว่ามาจากคําว่า “ปากพูน” ซึ่งแปลว่า “ปากน้ำ  เพราะถ้าพิจารณาโดยสภาพของอําเภอปากพะยูน อาจเหมือนกับอําเภอในชนบททั่ว ๆ ไป แต่หากได้พิจารณาอย่างถ่องแท้ไม่ว่าจะเป็นชัยภูมิ ที่ตั้ง ชื่อหมู่บ้าน ตําบล และชื่อเกาะต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวพันกับตํานานหรือนิทานปรําปราของชาวพื้นบ้านแทบทั้งสิ้น เช่น ตํานานเรื่องนางเลือดขาว เจ้าฟ้าคอลาย บ้านค่ายท่าทิศครู วัดทุ่งขุนหลวง เกาะบรรทม เป็นต้น ในประวัติศาสตร์ของเมืองพัทลุง ได้บันทึกไว้ว่า...พระยากุมารกับพระนางเลือดขาวได้ตั้งเมืองพัทลุงขึ้นครั้งแรกที่ “บ้านพระเกิด” (ซึ่งเป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งของตําบลฝาละมี อําเภอปากพะยูน) เมื่อราว ปี พ.ศ. 1832 ในสมัยกรุงสุโขทัย ก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่อําเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

(ภาพ : สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน )

เมืองปากพะยูน  มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมาแต่อดีต  สันนิษฐานว่ามาจากการค้ารังนกนางแอ่นส่งไปขายเมืองจีน ทำรายได้ให้แก่สยามมายาวนาน ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสหมู่เกาะในทะเลสาบสงขลาด้วยเรือกลไฟมายัง ‘เกาะรังนก’ หรือเกาะสี่  เกาะห้า  และประทับแรม ณ หมู่เกาะแห่งนี้ ดังพระราชหัตถเลขาตอนหนึ่งว่า….“พอขึ้นไปถึงกลางเกาะปราบ  บ่ายหัวเรือขึ้นเหนือจะไปตามน่าเกาะรังนก  ลมพัดโต้น่าจัด  น้ำก็ตื้น  เรือไปได้เพียงน่าเกาะยิโส  ซึ่งเปนเกาะที่สองหมู่เกาะสี่  เกาะห้า  ต้องปล่อยเรือกลไฟตีกระเชียงไปจนถึงพลับพลาซึ่งปลูกไว้ที่เกาะมวย  เข้าทางช่องหว่างเกาะมวยกับเกาะพระต่อกัน  เวลาค่ำจึงได้ถึง  หลวงอุดมภักดี เจ้าภาษีรังนกมาคอยรับตั้งเลี้ยงอยู่ในที่นี้  ที่ซึ่งปลูกพลับพลานี้เรียกว่า น่าเทวดา คือเปนศาลสำหรับพวกรังนกไหว้ก่อนที่จะลงมือทำรังนก พระมหาอรรคนิกรเปนผู้มาปลูก”  จากสภาพภูมิประเทศที่มีความงดงามและความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ  ปากพะยูนจึงมีคำขวัญประจำอำเภอว่า “ทะเลสาบงาม เมืองสามแผ่นดิน ถิ่นรังนกนางแอ่น แท่นพระนอนยอดเขา ภูมิลําเนาสัตว์น้ำกร่อย”

ข้อมูล : -วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง