หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

อูรักลาโว้ย ชาติพันธุ์อีกหนึ่งกลุ่มในพื้นที่ภาคใต้
28 มกราคม 2567 | 4,134

อูรักลาโว้ย เป็นชาวเลกลุ่มใหญ่ มีถิ่นฐานในภาคใต้ของประเทศไทย ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย มีภาษาที่แตกต่างกับกลุ่มมอแกนและมอแกลน แม้จัดอยู่ในตระกูล ออสโตรนีเชียนเช่นเดียวกัน พิธีกรรมสำคัญของอูรักลาโวยจคือ การลอยเรือ "ปลาจั๊ก" เพื่อกำจัดเคราะห์ร้ายออกไปจากชุมชน

อูรักลาโว้ย มีความหมายว่า "คนทะเล" มีตำนานของชาวอูรักลาโว้ยที่เล่าขานว่า ในช่วงที่มาเลเซียมีการสร้างเมือง ผู้ชายชาวเลที่เร่ร่อนหากินอยู่ในน่านน้ำ บริเวณช่องแคบมะละกาลงไป มักถูกจับไปเป็นทหาร ส่วนผู้หญิงก็ถูกจับไปทำพันธุ์ จึงพากันอพยพแยกย้ายออกไปหลายสาย เป็นต้นว่า หนีขึ้นมาในเขตประเทศไทย บริเวณหมู่เกาะลันตาเป็นชาวเลออรัง ลอตา หรืออูรักลาโว้ย บางส่วนหนีขึ้นไปบริเวณหมู่เกาะชายแดนไทย-เมียนมา เป็นชาวเล มอเก็นปูเลา อีกพวกหนึ่งถูกจับได้ทิ้งเรือว่ายน้ำหนีขึ้นบก เป็นชาวเล มอเก็นตามับ มอเก็นปูเลา 

ชาวอูรักลาโว้ยยังชีพด้วยการท่องเรือตามหมู่เกาะ กลุ่มละ 5-6 ลำ บางครั้งพวกเขาก็จะขึ้นเกาะมาเพื่อหาของป่า แต่ส่วนใหญ่จะล่าสัตว์ทะเลด้วยเครื่องมือง่าย ๆ อย่าง ฉมวก สามง่าม เบ็ดพวกเขามีความสามารถในการดำน้ำทะเลลึกเพื่อแทงปลาหรือจับกุ้งมังกรด้วยมือเปล่าและดำน้ำเก็บหอยจากก้นทะเล

ตามตำนานเล่าว่าชาวอูรักลาโว้ยเคยมีบรรพบุรุษเดียวกับชาวมอแกนและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เร่ร่อนในทะเลมานาน พวกเขาใช้ภาษาอูรักลาโว้ยเป็นภาษาพูด พวกเขาเชื่อกันว่าเกาะลันตาเป็นสถานที่แรกที่ชาวอูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐาน เปรียบเสมือนเมืองหลวงของพวกเขาเลยทีเดียว แต่พวกเขาก็ยังอพยพเร่ร่อนอยู่เรื่อย ๆ โดยโยกย้ายไปตามหมู่เกาะต่าง ๆ และตั้งถิ่นฐานที่เกาะนั้น ๆ และกลับมาที่เดิม แต่ทุกกลุ่มยังคงมีความสัมพันธ์ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ถือว่าเป็นสังคมเครือญาติใหญ่

ปัจจุบันพวกเขาตั้งบริเวณเกาะสิเหร่ หาดราไวย์ แหลมหลาเหนือ และบ้านสะปำ ในจังหวัดภูเก็ต เกาะพีพี เกาะจำ เกาะปู เกาะไหว และเกาะลันตาใหญ่ ในจังหวัดกระบี่ ไปจนถึงเกาะอาดัง เกาะหลีเป๊ะ เกาะบุโหลน และเกาะราวี จังหวัดสตูล นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศมาเลเซีย

ชาวอูรักลาโวยจใช้ชีวิตครอบครัวแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยฝ่ายชายจะเข้าอยู่กับครัวเรือนฝ่ายหญิงชั่วคราว ก่อนแยกเป็นครอบครัวเดี่ยวเมื่อถึงเวลาสมควร ชาวอุรักลาโว้ยนั้นนับถือผีบรรพบุรุษ และสิ่งเหนือธรรมชาติว่ามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต "โต๊ะหมอ" จะเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมต่างๆ เช่นพิธีลอยเรือ พิธีแก้บน เป็นต้น

ทุกครึ่งปีในเดือนหกและเดือนสิบเอ็ด ไม่ว่าชาวอูรักลาโว้ย จะกระจัดกระจายอยู่ที่ใด พวกเขาก็จะกลับมายังถิ่นฐานเดิมเพื่อเข้าร่วมในพิธีลอยเรือ หรือ "เปอลาจั๊ก" ในวันนั้นที่ชายหาดจะมีการบรรเลงรำมะนา เสียงเพลง การร้องรำ การเล่นรองเง็ง ตลอดจนการดื่มฉลองพิธีการในวาระอันสำคัญของชาวอูรักลาโว้ย 

อุรักลาโว้ย

ในปัจจุบัน ชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร หันมาประกอบอาชีพประมงชายฝั่ง รับจ้างทำสวน และอาชีพอื่น ๆ ซึมซับวัฒนธรรมไทยมากขึ้น และเรียกขานตัวเองว่า ไทยใหม่ และใช้นามสกุลพระราชทานเหมือนกันหมด เช่น ชาวเลอูรักลาโว้ยที่อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กลุ่มบ้านหัวแหลม ใช้นามสกุล “ทะเลลึก” กลุ่มบ้านไร่ และคลองดาว ใช้นามสกุล “ช้างน้ำ” ที่จังหวัดภูเก็ต กลุ่มเกาะสีเหร่ และราไวย์ ใช้นามสกุล “ประมงกิจ” กลุ่มเกาะหลีเป๊ะ เกาะบูโหลน ในจังหวัดสตูล ใช้นามสกุล “หาญทะเล” เป็นต้น

ภาพ/ข้อมูลบทความ -เทคโนโลยีชาวบ้าน
                              -มูลนิธิไทยรักษ์ป่า
                                        -วิกิพีเพีย สารานุกรมเสรี
                                 -Phuketindex.com

เรื่องที่เกี่ยวข้อง