พระครูโกวิทธรรมสาร หรือพ่อท่านกลาย โกวิโท เกิดในสกุล “มะรุท” เมื่อวันจันทร์ที่ 4ธันวาคม พ.ศ. 2476 ณ หมู่บ้านชายคลอง เลขที่ 53 ม.3 ต.กำแพงเพชร อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เข้าพิธีอุปสมเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดห้วยหลาด เมื่อ พ.ศ. 2496 โดยมีพระครูรัตตภูมิคณานุรักษ์ หรือ หลวงพ่อซุ้น อมโร วัดบางทีง อดีตเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิในขณะนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวีรโสภน วัดเขาตกน้ำ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา (อดีตเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิต่อจากหลวงพ่อซุ้น) เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอธิการขาว ติสสวังโส วัดห้วยหลาด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา พระกลาย โกวิโท ท่านได้หมั่นเพียรในการศึกษาเล่าเรียนปริยัติธรรมและพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด สามารถสอบนักธรรมตรี โท และเอก จนสำเร็จ
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒ พระอธิการเขี้ยว เตชวโร เจ้าอาวาสวัดห้วยหลาดได้มรณภาพลง ทางวัดว่างเว้นเจ้าอาวาสเป็นเวลานาน พุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์ และเจ้าคณะจังหวัดสงขลาได้แต่งตั้งพระกลาย โกวิโท ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2505 นับเป็นเจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดห้วยหลาด ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระอธิการกลายโกวิโท จนถึง พ.ศ. 2526 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูสัญญาบัตรพัดยศที่พระครูโกวิทธรรมสาร (กลาย โกวิโท) และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลคูหาใต้ พระครูโกวิทธรรมสาร (กลาย โกวิโท) ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิรูปต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2536 จนถึงปื พ.ศ. 2547 ทางมหาเถรสมาคมได้ประชุมพิจารณาคัดเลือกพระครูสัญญาบัตรที่ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการบริหารคณะสงฆ์ มีมติเห็นสมควรเลื่อนพระครูโกวิทธรรมสาร (กลาย โกวิโท) ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกเป็นชั้นพิเศษ และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิเรื่อยมาจนถึง ปี พ.ศ.2556 วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557 พระครูโกวิทธรรมสาร (กลาย โกวิโท) ได้รับพระบัญชายกฐานะเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอรัตภูมิ จวบถึงวันมรณภาพอย่างสงบด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว เมื่อวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2559 เวลา 03.22 น. ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อายุ 83 ปี พรรษา 63
พ่อท่านกลายได้ศึกษาพระธรรม และวิชาอาคมจากหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท ผู้สร้างวัดห้วยหลาด ช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อครั้งหลวงปู่สีมั่น ธุดงค์ลงมาจาก จังหวัดเพชรบุรี และสร้างวัดห้วยหลาดขึ้น ณ ที่ตั้งปัจจุบัน จนกาลเวลาล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2496 – 2499 หลวงปู่สีมั่น ได้มาประทับทรงร่างพระอาจารย์ขาว ติสสวังโส ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดห้วยหลาดในขณะนั้น เป็นเวลากว่า 3 ปี เพื่อเทศนาสั่งสอนพระสงฆ์ ประชาชน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของจังหวัดสงขลา และใกล้เคียงในขณะนั้นหลายท่าน ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารสุขจังหวัด นายทหารอากาศกองบิน 56 นายอำเภอ เป็นต้น
โดยหลวงปู่สีมั่นได้มอบวิชาอาคมขณะประทับร่างทรงพระอธิการขาว ให้แก่ลูกศิษย์ชื่อดังมากมายซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่กล่าวขานอยู่จวบจนปัจจุบัน อาทิ ขุนพันธรักษ์ราชเดช และอาจารย์ชุม ไชยคีรี อันเป็นการบำเพ็ญบารมีครั้งสุดท้ายก่อนไปจุติบนสรวงสวรรค์ ซึ่งขณะนั้นพ่อท่านกลาย ยังเป็นพระลูกวัดห้วยหลาด
พ่อท่านกลายได้สนใจศึกษาพระธรรมคำสอน และวิชาอาคมต่าง ๆ จากคำบอกกล่าวขณะประทับทรงโดยการจดบันทึกแล้วนำมาฝึกฝนปฏิบัติด้วยความวิริยะอุตสาหะ เนื่องด้วยพ่อท่านกลายมีความแม่นยำทั้งในหลักธรรมและอักษรบาลี ส่งผลให้มีความเชี่ยวชาญในสรรพวิชาตามตำราของหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท อย่างแตกฉาน จึงถือได้ว่าท่าน คือพระเกจิผู้สืบสานสรรพวิชาอาคมสายหลวงปู่สีมั่น เทพอินโท หรือปู่หลวงวิสุทธิเทพ วัดห้วยหลาด อย่างแท้จริง
พ่อท่านกลายได้ร่ำเรียนพระธรรมและวิชาอาคมเพิ่มเติม พ่อท่านมีการแลกเปลี่ยนวิชาอาคมกับผู้เป็นสหธรรมิก ด้วยติดตามธุดงค์กันไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทางภาคใต้ เช่น จังหวัดชุมพร ตรัง และพัทลุง กับพระอธิการขาว ติสสวังโส ผู้เป็นพระอาจารย์
จากการที่พ่อท่านกลายได้ฝึกฝนวิชาอาคมจนแก่กล้า มีความชำนาญบวกกับจริยาวัตรและปฏิปทาอันงดงาม เหมาะแห่งการเคารพบูชากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ ท่านจึงเป็นเกจิที่ได้รับการเคารพจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งในพื้นที่ ในต่างจังหวัด และต่างประเทศจากมาเลเซีย แวะเวียนมาพบหา สนทนาธรรม กราบไหว้ขอพร อีกทั้งวัตถุมงคลของท่านที่จัดสร้างมีจำนวนไม่มากและได้แจกจ่ายออกไปยังลูกศิษย์ ทั้งวัตถุมงคลหลวงปู่สีมั่นทุกรุ่น ตั้งแต่รุ่นแรก ปี 2509 – 2556 และวัตถุมงคลของท่านเอง ตั้งแต่ผงว่านกลมรูปเหมือนรุ่นแรก ปี 2550 โดยส่วนใหญ่หลายรุ่นท่านจะปลุกเสกเดี่ยว ตามวลีที่ได้เอ่ยกับลูกศิษย์ว่า “ของฉัน ฉันเสกเองได้” เมื่อหลายคนได้นำไปบูชา ต่างล้วนพบเจอกับประสบการณ์ ทั้งด้านเมตตา โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี และมหาอุด เรียกได้ว่าพุทธคุณครอบจักรวาล ส่งผลให้ท่านมีกิจนิมนต์พุทธาภิเษกอย่างต่อเนื่องมิขาดสายทั่วภาคใต้ จวบจนวาระสุดท้าย
ข้อมูลบทความ : IKai.guru
ของดีของหรอยท่าเลออก ตลาดริมทางของผู้สัญจรผ่าน ณ สามแยกบ่อทราย (ปากรอ)
25 พฤษภาคม 2568 | 28ตำนานทวดเข้...ทวดขุนดำ-ทวดแขนลาย แห่งสายน้ำคลองท่าม่วง อ.ควนเนียง
25 พฤษภาคม 2568 | 46ร่องรอยจากอดีต พิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง(บางกล่ำ)
18 พฤษภาคม 2568 | 439เจ้าบ่าวน้อยแห่งควนเขาสูง : วีรบุรุษชุมชนท้องถิ่น บ้านพรุเตาะ ต.ทุ่งใหญ่
18 พฤษภาคม 2568 | 452หรางเมืองสงขลาในอดีต ครั้นย้ายเมืองสงขลามาฝั่งบ่อยาง
18 พฤษภาคม 2568 | 476บัวของคนภาคใต้...ที่ไม่ได้หมายถึงดอกบัว
11 พฤษภาคม 2568 | 450ร่องรอยเจดีย์บนเกาะหนู โบราณสถานสำคัญสมัยอาณาจักรอยุธยา
11 พฤษภาคม 2568 | 811ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 1,207