หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ย้อนรอยเหตุการณ์ "ถีบลงเขา เผาถังแดง"
14 มกราคม 2567 | 7,095

นับตั้งแต่ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา เริ่มมีการเคลื่อนไหวของสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เช่น ตรัง หาดใหญ่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และพัทลุง 

การ “เผาลงถังแดง” คือ การที่เจ้าหน้าที่รัฐจับคนซึ่งต้องสงสัยว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” สมรู้ร่วมคิด หรือให้ความช่วยเหลือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พทค.) มาสอบสวนและสังหาร ด้วยวิธีการ คือ ตีให้สลบก่อน จากนั้นจะนำร่างไปใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ราดน้ำมัน (ส่วนใหญ่ถังน้ำมันชนิดนี้มี สีแดง ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า เผาลงถังแดง) แล้วจุดไฟเผา

ถังแดงคือเรื่องราวในความทรงจำของคนในชุมชนลำสินธุ์ จ.พัทลุง และชุมชนใกล้เคียง ที่เล่าขานเกี่ยวกับการจับกุมชาวบ้านและฆ่าชาวบ้านอย่างทารุณกรรม ในช่วงระหว่างปี 2508-2515 ด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์หรือรู้เห็นเป็นใจกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) โดยการจับเผาในถังน้ำมันสีแดง

เล่ากันว่าคนที่ถูกจับส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย โดยจับไปอยู่ในกองบัญชาการทหารชั่วคราวที่ตั้งอยู่ในชุมชน  เมื่อมีการสอบสวนผู้พันจะเป็นผู้สอบถาม หากผู้ต้องสงสัยปฏิเสธก็จะถูกทุบตีระหว่างการสอบปากคำ นายพันผู้สอบสวนจะแสร้งเล่นปากกาหรือไฟแช็คไปด้วย เมื่อสอบสวนไปสักระยะหนึ่งก็จะแกล้งทำของที่เล่นในมือตก และให้ผู้ต้องสงสัยก้มลงเก็บ ซึ่งหมายถึงสัญญาณให้นายทหารผู้คุมฉวยจังหวะใช้ท่อนเหล็กฟาดต้นคอผู้ต้องสงสัยให้สลบ จากนั้นจะนำไปแขวนคอให้ตาย แล้วนำไปเผา

การเผามักจะทำในถังน้ำมันสีแดงขนาด 200 ลิตร มีตะแกรงด้านบนและล่าง เมื่อราดน้ำมันเหยื่อแล้วก็จุดไฟเผา หากเหยื่อเกิดฟื้นขึ้นมาขณะเผาและกรีดร้องเจ้าหน้าที่ก็จะสตาร์ทรถจีเอ็มซีหลายคันพร้อมกันเพื่อกลบเสียงโหยหวนนั้น ชาวบ้านยังคงเล่าด้วยความแน่ใจถึงเรื่องเผาลงถังแดงว่า เมื่อได้ยินเสียงสตาร์ทรถยนต์ดังมากก็ปีนไปดูบนต้นไม้จึงเห็นแสงไฟวูบวาบมาจากค่ายทหาร คนที่ถูกจับตัวไปก็มักไม่ได้กลับออกมาเสมอ เมื่อเผาเสร็จก็จะนำเถ้าถ่านไปทิ้งที่แม่น้ำข้างๆค่าย ดังพบว่ามีคนหาปลาเคยเจอกะโหลกในน้ำด้วย

ความทรงจำเรื่องถังแดงของคนในชุมชนได้อ้างว่ามีผู้เสียชีวิตในลักษณะดังกล่าวกว่า 3,008 คน ขณะที่การสอบสวนของทางการตามข้อเรียกร้องของนักศึกษาในยุคหลัง 14 ตุลา 2516 ยืนยันว่ามีการเผาในถังแดงจริงแต่ตัวเลขไม่มากเช่นนี้และเห็นว่าผู้โดนเผาก็เข้าข่ายมีความผิดจึงไม่ควรรื้อฟื้นคดีเพื่อให้เจ้าหน้าที่เสียกำลังใจ

อย่างไรก็ตามแม้ความทรงจำเกี่ยวกับถังแดงจะกลายเป็นเรื่องเล่าที่สำคัญของชุมชนมากว่า 40 ปี แต่ก็พบว่าในชุมชนและพื้นที่โดยรอบยังมีความทรงจำชุดอื่นๆ เกี่ยวกับช่วงเวลาที่ พคท. กับเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตคนในหมู่บ้าน เช่น ความทรงจำของคนที่สูญเสียบิดาไปต่อหน้าด้วยฝีมือของคอมมิวนิสต์ในข้อหาเป็นสายลับให้ทางราชการ หรือ ความทรงจำของหญิงที่สูญเสียสามีซึ่งเป็นกำนันไปจากการสังหารของคอมมิวนิสต์ (ในขณะที่อดีตคอมมิวนิสต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันพยายามบอกหญิงดังกล่าวว่าเป็นการยิงผิดตัว) นอกจากนี้ยังมีความทรงจำของชาวบ้านที่ถูกรัฐจับตัวไปก่อนที่จะหันไปพึ่งอำนาจรัฐด้วยการร่วมเป็นฝ่ายรัฐ หรือแม้แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐที่เคยเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เอง ก็พยายามแสดงให้เห็นว่าเรื่องดังกล่าวสูญหายไปจากความทรงจำของตนหมดแล้ว

อนุสรณ์สถานถังแดงที่สร้างขึ้นในปี 2547 เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ถังแดง ในทางหนึ่งดูเหมือนเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความทรงจำร่วมของชุมชน แต่ในทางกลับกันก็เป็นอนุสรณ์สถานที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันแสนอิหลักอิเหลื่อของความทรงจำส่วนบุคคลปลีกย่อยทั้งฝ่ายรัฐ คอมมิวนิสต์ และชาวบ้าน

"บทเพลงจากเหตุการณ์ถังแดง"
ปังๆโวยว้าย เสียงเจ้านายรบกวน ค่ำมืดลมหวน เสียงมันชวนครางครัน
กระโดดลงใต้ถุนหลบกระสุนนาย กลิ่นควายตายโชยมา
เขาว่าพัทลุงสบาย ฉันว่าอันตรายแท้เชียว
จะไปทางไหนให้หวาดเสียว มันโกรธเรานิดเดียวก็ตาย
จับไปลงถัง ราดน้ำมันแล้วจุดไฟ ข้อหาคอมมิวนิสต์ มันคิดไป
จับเราใส่เตา แล้วเผาไฟ แล้วมันก็ป้ายสีแดง
บ้างเมียก็เสียผัว ถูกตัดหัวเสียบประจาน
มันขี้หกลูกหลาน ว่าสันดานเป็นคอมฯ
 

ข้อมูลบทความ -สถาบันพระปกเกล้า
                         -ประวัติศาสตร์สามัญชนไทบ(อ้างอิงจาก:จุฬารัตน์ ดำรงวิถีธรรม,ถังแดง: การซ่อมสร้างประวัติศาสตร์และความทรงจำหลอนในสังคมไทย)

ภาพ/บทความ  - สินธุ์แพรทองไทย
                        -ย้อนรอยอดีต เหตุการณ์ถีบลงเขา เผาถังแดง

                        - มีเรื่องมาเล่า

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง