สมัยก่อนหากเราอยากรู้ว่าบ้านเมืองไหนเจริญให้ดูจาก ตลาด ซึ่งเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจสำคัญ การค้าขายของคนไทยสมัยก่อนนั้น เน้นทางน้ำเป็นหลัก ถือเป็นการคมนาคมหลักของคนไทย ซึ่งอาจจะเห็นได้จากการมีตลาดน้ำ (ที่ไม่ได้สร้างใหม่แบบสมัยนี้ได้ทั่วประเทศ) แต่หากเป็นจังหวัดสงขลา มีตลาดเก่าแก่ อาทิ ตลาดท่าหาดใหญ่ ตลาดท่านางหอม
หาดใหญ่ (หาดใหญ่ใน) ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเมืองสงขลา มาตั้งแต่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ สมัยรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2381 สิ่งสำคัญที่ทำให้เมืองหาดใหญ่เจริญเติบโต คือการเป็นเมืองท่าในทุกยุคสมัย ทั้งยุคการค้าทางเรือ ยุครถไฟ จนกระทั่งยุคปัจจุบัน คนที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไปจะรู้ว่า บริเวณหาดใหญ่ในคือในตัวเมือง เพราะเป็นบริเวณที่ตั้งของ “ที่ว่าการอำเภอเหนือหรืออำเภอหาดใหญ่” บริเวณที่ทำการประปาส่วนภูมิภาค ถนนราษฏร์เสรี สมัยนั้นยังไม่มีชื่อถนน เป็นอาคารไม้บังกะโลยกพื้นหลังคามุงจาก ฝากั้นไม้ไผ่สาน สถานีตำรวจ เรียกกันว่าโรงพักตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนเทศบาล 2 ถือเป็นศูนย์ราชการขนาดย่อม ๆ
HatyaiFocus พาทุกคนย้อนอดีตเรื่องราวผ่าน ประวัติศาสตร์ตลาดหาดใหญ่ แห่งแรก ๆ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ท่าหาดใหญ่ ผ่านหลักฐานสองชิ้นคือ บันทึกของหมอพลับ ไชยวงศ์ ซึ่งถือเป็นจดหมายเหตุท้องถิ่นชิ้นสำคัญ บันทึกเรื่องราวของชาวบ้านที่อยู่ร่วมสมัยยังเป็นท่าหาดใหญ่ และ คุณยายเฉลิม อ่อนเปลี่ยน อายุ 81 ปี ชาวหาดใหญ่โดยกำเนิด เกิดและเติบโตบริเวณ หลังอำเภอหาดใหญ่
ท่าหาดใหญ่ปัจจุบัน
หมอพลับ ไชยวงศ์ บันทึกไว้ว่า
หาดใหญ่มีคลอง มีท่าจอดเรือบรรทุกสินค้า
หาดใหญ่มีคลอง มีท่าเรือรับจ้าง ข้ามฟากไปมาจากตก - ออก
หาดใหญ่มีหาดทรายอยู่ด้านทิศใต้ปลายถนนสันติราษฏร
ต่อมาผ่านโรงงานย้อมผ้าสมัยหนึ่ง หาดใหญ่มีคลองคดเคี้ยวเลี้ยว ฤดูมรสุมต้นลำธารน้ำสายเหนือไหลสู่ทะเลสาบ กระแสน้ำพัดทรายมากองตามหาดทรายเป็นระยะ โดยเฉพาะหาดทรายท่าเรือหาดใหญ่ มีบริเวณท่าเรือประมาณ 1 ไร่เศษ สมัยนั้นมีอาณาเขตบริเวณบ่อประปาส่วนภูมิภาคมีบ้านเรือนประปราย
หาดใหญ่มีท่าเรือจอดเรือแจว เรือพาย เรือแจวมีพ่อค้าขายน้ำผึ้ง และ ขายหม้อดินกระเบื้อง ฯ จากเกาะยอ บ่อดาน บ่อโอ ชิงโค และบางเขียดนำสินค้าล่องใต้สู่หาดท่าเรือหาดใหญ่ จำหน่ายแลกเปลี่ยนสินค้าวันนัด (วันอาทิตย์)
คุณยายเฉลิม อ่อนเปลี่ยน เล่าให้ฟังในงานเสวนาย้อนอดีตนครหาดใหญ่ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2560 ที่สวนสาธารณะหาดใหญ่ ทำให้รู้ถึงบรรยากาศของผู้ที่อยู่ร่วมในสมัยนั้นว่า “ทั้งสองฟากถนนจะมีต้นมะเฟืองที่สูงให้ผลเป็นหลัก สมัยก่อนขนของมาทางเรือ ฝากไว้ที่บ้านของแม่เหลิม บนถนนราษฎร์เสรี ซึ่งยังมีบ้านเรือแค่ 30 - 40 ห้อง สินค้าที่มาขายทางเรือ เช่น น้ำตาลแว่น หม้อดิน เตาดิน น้ำตาลปิ๊ป น้ำตาลแว่น มาจากฝั่งสทิงพระ"
"ตลาดนัดหาดใหญ่ในจะเปิดทุกวันอาทิตย์ ตั้งเช้าตรู่ จนถึงเที่ยงวัน มีการออกขายตามหน้าบ้าน ขายตั้งแต่หัวถนนราษฎร์เสรี จนถึงบริเวณหลัง โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา ถนนราษฎร์เสรีสมัยนั้นเจริญมาก มีร้านขายทอง รับทำทองรูปพรรณ ร้านอาหาร ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายด้ายทอผ้า ขายน้ำชากาแฟ”
ถนนราษฎร์เสรีในปัจจุบัน
หาดใหญ่โฟกัส ลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านในละแวกนั่นได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า "ตนเกิดและอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิดจนปัจจุบันอายุ 50 กว่าปี คนรุ่นก่อนอายุ 80 ปีขึ้นไปชอบเล่าให้ฟังว่า บริเวณริมคลองอู่ตะเภาเคยเป็นท่าหาดทราย มีความสำคัญตรงที่เป็นท่าเรือเก่าแก่ ชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ มักมาแลกเปลี่ยนสินค้าจากแปลก ๆ หายาก"
เขียนและเรียบเรียง HatyaiFocus
ย้อนชมภูมิปัญญาการทำขวัญข้าว สู่การสร้างวงเวียนพระแม่โพสพ ศูนย์รวมจิตใจชาวระโนด
8 มิถุนายน 2568 | 841เปิดที่มาชุมชนประวัติศาสตร์ บ้านควนจง (นาหม่อม)
8 มิถุนายน 2568 | 1,042วิถีมุสลิมบ้านดอนขี้เหล็ก "ประเพณีการทูนพานอาหาร" ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี
8 มิถุนายน 2568 | 689เปิดตำนาน...ที่มาชื่อบ้านบ่อแดง อ.สทิงพระ
25 พฤษภาคม 2568 | 1,416ของดีของหรอยท่าเลออก ตลาดริมทางของผู้สัญจรผ่าน ณ สามแยกบ่อทราย (ปากรอ)
25 พฤษภาคม 2568 | 3,717ตำนานทวดเข้...ทวดขุนดำ-ทวดแขนลาย แห่งสายน้ำคลองท่าม่วง อ.ควนเนียง
25 พฤษภาคม 2568 | 2,270ร่องรอยจากอดีต พิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง(บางกล่ำ)
18 พฤษภาคม 2568 | 986เจ้าบ่าวน้อยแห่งควนเขาสูง : วีรบุรุษชุมชนท้องถิ่น บ้านพรุเตาะ ต.ทุ่งใหญ่
18 พฤษภาคม 2568 | 2,485