หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ประเพณีของชาวใต้เผาผี (ศพ) ในสมัยก่อน
4 กันยายน 2565 | 5,866

การตายเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ปรารถนาแต่เป็นสิ่งที่ทุกคนหนีไม่พ้นทุกคนเกิดมาแล้วย่อมดับสูญไป ตามสภาพ เป็นธรรมดาร่างที่ตายไปแล้วเรียกว่าศพ สังคมแต่ละเชื้อชาติปฏิบัติต่อซากศพแตกต่างกันไป ตามวัฒนธรรมของตนเอง ชาวพัทลุงมีความเชื่อว่าการตายเป็นเรื่องของวิญญาณที่ละทิ้งร่างกายเดิมเพื่อไปจุติในภพใหม่ หากผู้ตายทำกรรมดีก็จะได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี

หากทำกรรมชั่ววิญญาณก็จะวนเวียนไม่สามารถไปภพใดได้ เมื่อตายไปแล้วญาติๆ ก็จะจัดงานศพตามประเพณี สำหรับประเพณีงานศพของชาวมุสลิมนั้น เมื่อมีผู้เสียชีวิตในหมู่บ้านหรือชุมชนมุสลิม ทุกคนต้องรีบเร่งจัดการกับศพ (มัสยิด) ของผู้ตายอย่างรวดเร็ว ด้วยการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา แล้วนำไปฝังที่กุโบว์โดยเร็วที่สุด

เรื่องราวต่อไปนี้ เป็นเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดผ่านคุณ Mot Phatthalung ที่ไม่ใช่เรื่องเล่า ประเพณีของชาวใต้เผาผี(ศพ) ในสมัยก่อน สถานที่ ที่นำไปเผาแถวบ้านผมเรียกว่า "เปลว" (ป่าช้า)

ชาวบ้านทั้งที่เป็นญาติและไม่ใช่ญาติ ช่วยกันหามศพและแบกฟืนคนละดุ้นเพื่อเอาไปช่วยเผาผี ยุคนั้นไม่มีรถ ทั้งชาวบ้านทั้งพระเดินอย่างเหนื่อยกว่าจะเผาจนเสร็จค่ำมืดพอดี ยุคนี้มีเงินอย่างเดียว..จบแค่ในพริบตา

ส่วนการเผาศพ การเลือกวันเผาศพจะถือเอาวันขึ้นแรมเป็นสำคัญคือ ข้างขึ้นห้ามเผาวันเลขคี่ ข้างแรมห้ามเผาวันเลขคู่ เช่น วันขึ้น 1 ค่ำ 3 ค่ำ หรือ แรม 2 ค่ำ 4 ค่ำ 6 ค่ำ เหล่านี้จะเผาศพไม่ได้ เชื่อว่าเป็น "วันผีหามคน” แต่ถ้าเป็นวันขึ้น 2 ค่ำ 4 ค่ำ 10 ค่ำ หรือวันแรม 1 ค่ำ 3 ค่ำ เหล่านี้เผาได้ เชื่อเป็นว่า "วันคนหามผี” แม้จะตรงกับวันพระ วันอาทิตย์ วันศุกร์ หรือวันใด ๆ ก็ไม่ห้าม ในการนำศพออกจากบ้านต้องทำ "ประตูพราง” คือ เอาไม้ 4 อัน ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทาบไว้ที่ประตูข้างนอกที่จะเอาศพออกไป ประตูพรางนี้ เมื่อนำศพออกไปแล้วให้เอาออกทิ้งเสีย ศพที่นำออกไปนั้นต้องให้เท้าออกกก่อนและต้องลบรอยเท้าของคนหามเพราะเชื่อว่าผีจะกลับบ้านถูก

แล้วจัดขบวนแห่ศพ มีพระภิกษุนำหน้า เรียกว่า "พระเบิกทาง” มีการโปรยข้าวตอกไปตลอดทาง เครื่องไทยทานสำหรับถวายพระเบิกทางมี เสื่อ หมอน มุ้ง ตะเกียง ถ้วยชาม และผ้าไตร นอกจากนี้จัดเตรียมของถวายพระนักเทศน์ พระสวดบังสุกุล ประกอบด้วย ผ้าบังสุกุล ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องขอขมาศพ หมากพลู บุหรี่ เครื่องดื่ม ของต้อนรับแขกก็ต้องเตรียมไปให้พร้อมด้วย

เมื่อนำศพไปถึงป่าช้า ก่อนเผาต้องหามศพเวียนที่เผาไปทางซ้ายมือ 3 รอบ แล้ววางโลงให้ศพหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก ลูกหลานต้องนำ "ข้าวบอก” ซึ่งประกอบด้วย ข้าวปากหม้อ ปลามีหัวมีหาง เงิน ใส่ถ้วยไปเซ่นสังเวยเจ้าเปรว (เจ้าป่าช้า) ที่ชื่อว่า ยายกาลี ตากาลา แต่ชาวบ้านเรียกกลับกันเป็น ยายกาหลา ตากาหลี เพื่อบอกกล่าวฝากฝังวิญญาณผู้ตาย สมัยก่อนที่เผาศพมักทำเป็นการชั่วคราว ใช้เสาปักไว้ 4 ต้น มีเพดานเรียกว่า "สามส้าง” ปัจจุบัน ที่เผาศพทำเป็นเชิงตะกอนหรือเมรุอย่างถาวร

และการดับธาตุ หลังจากเผาศพเสร็จแล้วในวันรุ่งขึ้นประมาณ 6 โมงเช้า จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาเพื่อดับธาตุ โดยลูกหลานจะเก็บอัฐิรวบรวมกับกระดูก เถ้าถ่านทำเป็นรูปคนนอนหันหัวไปทางทิศตะวันตกรดด้วยน้ำอบไทย แล้วเอาผ้าขาวคลุมไว้ นิมนต์พระสงฆ์มาชักผ้าบังสุกุล

หลังจากนั้นแปรเถ้าถ่านให้หัวหันไปทางทิศตะวันออก เก็บกระดูกใส่ผ้าขาวนำไปเก็บไว้ในบัวหรือสถูป ส่วนเถ้าถ่านที่เหลือจะนำไปฝังหรือลอยกลางแม่น้ำหรือทะเลต่อจากนั้นจึงมีการทำบุญตักบาตรเมื่อครบ 7 วัน 30 วัน และ 100 วัน

ขอบคุณภาพ : Mot Phatthalung , นางจำเป็น เรืองหิรัญ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง