เรื่องราวต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของปลัดผดุงเดิมชื่อผอมเพราะเมื่ออายุ 7-8 เดือนเคยเป็นโรคบิดเกือบจะตายมิตายแหล่บังเอิญแม่ไปพบจีนแก่คนหนึ่งที่บ้านระวะ จีนให้ยามากินจนหายวันหายคืน
แต่ร่างกายผอมมาก คนแก่จึงเรียกอ้ายหมาผอม และเป็นชื่อเรียกมาจนโตเพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็นผดุงเมื่อ พ.ศ.2487 ตอนได้เป็น “ปลัดอำเภอประจำตำบล” ตะเครียะ อ.ระโนด (ตำแหน่งนั้นแปลกมากสำหรับสมัยนี้)อายุ 7-8 ขวบ ไปอยู่ขนำกับคุณตาที่ชื่อนายมาก ช่วยปลูกแตงโม ปลูกผัก เป็นที่รักของตามาก ต่อมาตามากก็พาเด็กชายผอมไปฝากกับหลวงพ่อวัดพังตรีซึ่งชอบพอกัน
ผอมเคยอยู่กับ “หลวงน้าซ้อน” วัดจะทิ้งพระซึ่งภายหลังสึกไปเป็นกำนัน (ผมเชื่อแน่ว่าคือพ่อของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี)ถึง พ.ศ.2463 ก็ไปเรียนชั้นมัธยมที่ ร.ร.มหาวชิราวุธ ในตัวเมืองสงขลาเรียนแค่ชั้น ม.3 ก็ต้องออกไปเป็นครูประชาบาลที่สทิงพระเพราะไม่มีเงินเรียนต่อชั้นม.4-6
ระหว่างนั้นก็ได้บวชเณร และมีโอกาสตามพระอาจารย์ไปเที่ยวกรุงเทพฯด้วย โดยลงเรือกลไฟจากเกาะหนูเกาะแมวแทนนั่งรถไฟ เพราะค่าโดยสารถูกกว่า
ปลัดผดุงทำพิธี... ไม่ทราบรายละเอียด ภาพถ่ายโดย นายแพทย์สวนันท์ ธาระวานิช
พ.ศ.2467 ทางการยกระโนดขึ้นเป็นอำเภอ ผอมสมัครใจไปเป็นครูที่ระโนดด้วย สมัยนั้นสทิงพระกับระโนดยังไม่มีถนน จึงใช้วิธีลงเรือมาทางทะเลสาบแทนจากระโนดต่อมาก็ย้ายไปสอนแถวพังยางถิ่นเกิด
พ.ศ.2469 บวชและแต่งงานกับนางสาวอ่วม พวงสอน มีลูกด้วยกัน 7 คน
พ.ศ.2477 ขอไปเรียน ร.ร.ฝึกหัดครูมูลที่ท่าชะมวง อ.รัตภูมิ (ต่อมาเป็น ร.ร.เกษตรกรรม) มีเพื่อนฝูงมากมายจากนั้นก็ไปสอนหนังสือที่หนองจิก ปัตตานีอยู่พักหนึ่ง แล้วจึงกลับมาแถวบ้านเกิดอีก
ตอนนี้ครูผอมได้คิดสร้างอาคารเรียนถาวรที่ ต.วัดสน จึงจัดทอดกฐินได้เงินมาสร้างอาคารเรียนสมปรารถนา
พ.ศ.2485 ทางการรับครูไปเป็น “ปลัดอำเภอประจำตำบล” ครูผอมเลือกไปอยู่ ต.ตะเครียะ อ.ระโนด ต่อมาก็ขอโอนมาทำงานสหกรณ์ระโนด รวมทำงานสหกรณ์นาน 16 ปีจนเกษียณเมื่อ 1 ต.ค.2508
ระหว่างนั้น “ปลัดผดุง” ได้อุทิศกำลังช่วยงานสังคมมากมายนายอำเภอสิน สุวรรณ กล่าวว่าตนเป็นรุ่นน้องของครูผอมสมัยเรียนที่รัตภูมิ พี่ผอมเป็นพี่ที่ทุกคนนับถือเพราะมีเมตตา ไม่เอาเปรียบใคร พี่ผอมมีลูกศิษย์ลูกหาและคนรู้จักมากมาย
พี่ผอมชอบแสดงละคร และมักได้รับบทตัวพ่อของพระเอกหรือนางเอกเสมอ ละครครูไปเล่นที่ไหน คนตามไปดูกันแน่นไม่แพ้ดูหนังตะลุง
นายอำเภอสิน สุวรรณ เมื่อพ.ศ 2506 ถ่ายโดยช่างภาพช่วง เวชประสิทธิ์
พ.ศ.2503 สินได้มาดำรงตำแหน่งนายอำเภอระโนด จึงร่วมกันวางแผนกับปลัดผดุงพัฒนาระโนดซึ่งยังล้าหลังด้านการคมนาคม ไม่มีถนนไปสงขลา เวลาจะไปสงขลาก็ต้องนอนในเรือไป 1 คืน ระโนดยุค2500 ยังมีบ้าน ร้านค้าและ “เรือนแพ” หน้าที่ว่าการอำเภอซึ่งนายอำเภอสินเห็นว่ารกรุงรัง กีดขวางการจราจรทางน้ำ
นายอำเภอคนอื่นๆไม่สามารถดำเนินการรื้อถอนได้เพราะเจ้าของบ้านส่วนใหญ่เป็นผู้มีฐานะบังเอิญปลัดผดุงไปซื้อบ้านหลังหนึ่งแถวนั้น เมื่อมีโอกาสเหมาะ น.สินจึงปรารภเรื่องนี้กับปลัดผดุง “พี่ผดุงเข้าใจและมองเห็นโดยแจ่มชัด พี่ผดงุจึงนำความอันนี้ไปปรึกษาหารือกับเจ้าของบ้านและเรือนแพ ทุกคนเชื่อพี่ผดุง จึงพร้อมใจกันให้ความร่วมมือ โดยตกลงทำการรื้อถอนโดยไม่มีการบังคับ ค่าใช้จ่ายในการื้อถอนก็ไม่ได้เรียกร้องเอากับทางอำเภอพี่ผดุงเป็นคนแรกที่ทำการรื้อถอนบ้านของตน รายอื่นๆก็รื้อถอนตามกันไปจนหมด ทำให้ลำคลองกว้างขึ้น ไม่บังสถานที่ราชการ” นี่คืออิทธิฤทธิ์ของปลัดผดุง หากปลัดผดุงไม่เสียสละ และไม่คิดช่วยเหลือ บ้านเมืองก็จะรกรุงรังอยู่อย่างนั้น
งานนี้ไม่มีใครเดือดร้อน รายไหนยังไม่มีที่อยู่ น.สินก็จัดที่ราชพัสดุให้ปลูกบ้านอาศัยชั่วคราวไปก่อนจากนี้ น.สินกับปลัดผดุงก็วางแผนตัดถนนสายระโนด-สทิงพระเมื่อตกลงกันแน่ขัดแล้ว น.สินก็จัดประชุมกรรมการอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยใช้วัดเป็นที่ประชุม ให้ปลัดผดุงเป็นพิธีกร
เริ่มต้นให้พระเทศนาหนักไปทางการพัฒนาสาธารณประโยชน์เสียก่อนจากนั้นปลัดผดุงก็พูดปลุกใจคน ให้ตำรวจและศึกษาธิการพูดว่าถนนมีส่วนในการปราบโจรผู้ร้าย และทำให้เด็กเดินทางไปเรียนหนังสือได้สะดวกขึ้นน.สินพูดปิดท้ายว่าคนสมัครเป็นผู้แทน พูดว่าจะสร้างถนนแล้วก็ไม่เห็นทำตามคำพูด คำพูดนี้ได้รับเสียงปรบมือจากที่ประชุมทุกแห่งถนนจะสำเร็จได้ก็ด้วยพวกเรากันเองนี่แหละ ผมกับพี่ผดุง และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะยืนโรงสร้างถนนให้สำเร็จ พวกเราจะว่ากันอย่างไร
ขุดดินทำถนน จากระโนดไปสทิงพระ ราวพ.ศ. 2504? ภาพถ่ายโดยน.พ.สวนันท์ ธาระวานิช
พอปลัดผดุงขอมติที่ประชุม ทุกคนก็เฮฮายกมือกันพรึ่บ!!จากนั้นคณะสำรวจก็ออกดูเส้นทาง คำนวณกำลังแรงงาน และแบ่งหน้าที่ให้คนแต่ละตำบลรับกันไปโดยไม่ให้เสียการงานอาชีพของเขามีการเตรียมหยูกเตรียมยาเผื่อใครเจ็บป่วย มีการนิมนต์พระมาจำวัดริมถนนเพื่อให้กำลังใจซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการใช้จิตวิทยามวลชนที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งและแล้วเมื่อถึงกำหนดนัด ทุกคนก็ลงมือขุดดินทำถนนตามระยะที่กำหนดไว้ตลอดสาย เป็นระยะทาง 36 กิโลเมตรพร้อมกัน เพียง 3 วันเท่านั้น...ถนนทั้งสายก็ปรากฏแก่สายตาอย่างน่าอัศจรรย์ใจ...
ถนนช่วงไหนยังไม่เรียบร้อยก็นัดทำจนเสร็จภายใน 2 เดือนชาวบ้านทุกคนพากันยิ้มแย้มแจ่มใส ปลื้มเปรมใจ แล้วทุกคนก็นัดเอาข้าวหม้อแกงหม้อมาร่วมรับประทานเฉลิมฉลองกัน น.สินกล่าวในตอนท้ายว่า ปลัดผดุงชอบงานสังคม เป็นคนรักเกียรติและชื่อเสียง ไม่ชอบคนกลับกลอก
เป็นผู้เสียสละตนเพื่อท้องถิ่น และเสนอตัวรับใช้สังคมเสมอเป็นผู้เชื่อมประสานกับเพื่อนฝูงและญาติมิตร ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ เมื่อกินดื่มก็มีแต่สร้างความสนุกสนานเวลาจะพูด พี่ผดุงชอบกระแอมเสียก่อนทุกที จึงได้ชื่อพี่แอมอีกชื่อถนนรอบอำเภอระโนดไปหัวไทร ควนชะลิก เชิงแส ฯลฯ ดังกล่าวเมื่อตอนแรก มาจากการเรียกร้องให้ปลัดผดุงเป็นผู้นำสำคัญคนหนึ่งในการร่วมแรงกันทำทั้งสิ้น ภายหลังถนนเหล่านี้ได้รับการปรับปรุงและขยายออกจนได้มาตรฐานยามใดที่ผู้ที่ใช้รถ ใช้ถนนผ่านถนนแถบนี้ ขอได้โปรดน้อมรำลึกถึงปลัดผดุง นายอำเภอสิน สุวรรณ
และชาวบ้าน บรรพชนทุกคนที่ร่วมกันเสียสละที่ดิน และหยาดเหงื่อ สร้างความสะดวกให้แก่เราจนถึงทุกวันนี้และจงตั้งคำถามว่าเราได้ทำอะไรเพื่อแผ่นดินบ้างแล้วหรือยังปลัดผดุง ร่วมกับนายอำเภอสิน นำชาวบ้านตัดถนนจนสำเร็จ
หลัดดุง หรือ หลัดผอม เป็นชาวระโนด รุ่นคุณพ่อ(สวัสดิ์ ชมเชย) ซึ่งผมเองก็รู้จักคุ้นเคย กับท่านและกับคนในครอบครัวนี้ทุกคนเป็นอย่างดีท่านเป็นคนอารมณ์ดีมากๆคุยสนุก ลูกเล่นแพรวพราว สมัยผมเป็นเด็ก ในวันขึ้นปีใหม่ท่านหลัดผอม จะเป็นหัวหน้าทีม ร่วมกับคณะครู 7 - 8 คน ชาวบ้านในตลาดรักสนุก จะไปนั่งคุยกันสนุกสนาน ที่บ้านท่านหลัดผอมพอเวลาใกล้จะเที่ยงคืน จะรวมตัวกันเดินไป เคาะประตูบ้าน ในตลาดออก เป็นบ้านคหบดีใหญ่ ครูอาวุโส ข้าราชการผู้ใหญ่ และคนสนิทชิดเชื้อ ...จะร้องเพลงประสานเสียง พร้อมเคาะถัง กะละมัง หม้อ เนื้อความ จำได้แม่น
ซุ้มเมื่อครั้งทำพิธีเปิดสะพานบนถนนสายระโนด- หัวไทร เมื่อพ.ศ. 2505 ถ่ายโดยนายแพทย์สวนันท์ ธาระวานิช
สวัสดีครูคืนนี้ ขอให้มีแต่ความสุข อย่าได้มีความทุกข์ มีแต่สุข ทุกวันก็เวลาสิ่งใดที่ใจท่านหวัง ขอให้สมหวังดังเจตนา พวกเราทุกคนที่ได้มา ปรารถนาอวยพร ปรารถนาอวยพร จบ แล้วไชโยๆๆๆ ปรบมือกันเกรียวกราว ครับ...เจ้าบ้านก็กล่าวขอบคุณ อวยพรกลับ บางท่านจัดขนม น้ำดื่ม มาแจก บางบ้านแจกเหล้า ฯ ตามอัทธยาศัย รวมๆ แล้วประมาณ 30 - 40 หลังคาเรือนทีเดียว เพราะบ้านมีทั้งที่ตลาดออก กับตลาดตก และบริเวณอำเภอ โรงพัก ตั้งอยู่ตรงกลาง 2 ตลาดและบ้านพักนายอำเภอตั้งหลังอำเภอครับ
ภาพถ่ายยุค2490 เรือนร้านริมสะพานไม้หน้าที่ว่าการอำเภอระโนดซึ่งในปี2503 ปลัดผดุง ได้ชักชวนเจ้าของบ้านทุกหลังรื้อออก เพื่อความเป็นสง่าราศีของพื้นที่จนสำเร็จ ภาพจากห้องสมุดเอนก นาวิกมูล
ทั้งนี้พวกเราเด็กๆ ก็ตามหลังไปกับผู้ใหญ่ช่วยประสานเสียงแจ้วๆ ด้วยสนุกดี ครับ...จะเห็นได้ว่าท่านหลัดดุงท่านเป็นผู้บริหาร เป็นผู้นำที่ได้ใจประชาชนมากจริงๆ
เอนก นาวิกมูล เขียนบ่าย 16.00 น. อังคาร 10 พ.ค. 2565 หมายเหตุ-เพิ่มเติมจากพี่กัมพล ชมเชย จากพี่กัมพล ชมเชย พุธ 11 พ.ค.2565
ขอบคุณภาพข้อมูลบทความ : Anake Nawigamune
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 303จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 277บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 336ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 265พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 1,004รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 797เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 655ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 931