หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ประวัติถนนกำแพงเพชร เมืองเก่าสงขลาฝั่งบ่อยาง
7 กุมภาพันธ์ 2564 | 6,840

กำแพงเมืองสงขลาที่บ้านบ่อยางครอบคลุมบริเวณด้านตะวันออก-ตก ยาวประมาณ 30 เส้น จากแนวด้านตะวันตกคือถนนนครนอก และแนวด้านตะวันออกคือถนนรามวิถี ด้านทิศเหนือ-ใต้ กว้างประมาณ 25 เส้นด้านเหนือคือแนวถนนจะนะ จากถนนตัดลงทะเลที่มุมตะวันตกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองไปจดแนวถนนรามวิถี และที่มุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพง ยังมีหลักฐานถึงถนนแหลมทรายซึ่งปัจจุบันเรียกถนนสุขุม ตรงขึ้นไปยังเขาตังกวนอีกด้วย แนวกำแพงเมืองด้านใต้คือถนนกำแพงเพชร เมืองเก่าสงขลาฝั่งบ่อยาง

การสร้างสวนปิดทับทางรถไฟยังทำให้ร่องรอยประวัติศาสตร์ของทางรถไฟสายใต้อันยาวนานเกือบหนึ่งร้อยปีหายไปอย่างน่าเสียดาย กำแพงเพชรเป็นชื่อถนนที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสงขลา แยกออกจากถนนรามวิถีที่ด้านใต้ของวัดโพธิ์ปฐมาวาส ตัดผ่านถนนไทรบุรี ไปจรดถนนนครนอกบริเวณหน้าท่าเรือรถไฟเก่า

ถนนสายนี้เคยเลียบทางรถไฟขนส่งสินค้า ที่แยกออกจากทางรถไฟสายสงขลา-หาดใหญ่บริเวณด้านหลังของวิทยาลัยพยาบาลสงขลา แล้ววาดโค้งมาถึงริมทะเลสาบแต่เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยยกเลิกการเดินรถไฟสายนี้ใน พ.ศ. 2521 ถนนกำแพงเพชรก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นเพียงถนนที่เชื่อมระหว่างถนนรามวิถีสายกลางเมืองกับถนนนครนอกบริเวณชุมชนมุสลิมที่เรียกว่าบ้านบน บริเวณเส้นทางรถไฟเก่าด้านข้างวัดโพธิ์นั้น เทศบาลได้จัดสร้างเป็นสวนสาธารณะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนแถบนี้ แต่สภาพในปัจจุบันไม่ได้รับการบำรุงรักษาเท่าที่ควร ทั้งการสร้างสวนปิดทับทางรถไฟยังทำให้ร่องรอยประวัติศาสตร์ของทางรถไฟสายใต้อันยาวนานเกือบหนึ่งร้อยปีหายไปอย่างน่าเสียดาย

ท่าเรือรถไฟสงขลานั้น ปัจจุบันเข้าใจว่าการรถไฟฯ ได้ให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อเป็นท่าเรือเอนกประสงค์ เรียกว่าท่าเรือสะพานเหล็ก (เงิน-ทอง) ไว้ขนถ่ายสินค้ายังมีร่องรอยรางรถไฟให้เห็นบริเวณร้านน้ำชาที่หัวมุมถนนกำแพงเพชรตัดกับถนนนครนอก หน้าทางเข้าท่าเรือนั่นเองสิ่งที่อดสงสัยไม่ได้คือที่มาของชื่อถนนกำแพงเพชรแห่งนี้

ในวัยเด็กเมื่อหลายสิบปีก่อน หากขึ้นรถโพธิ์ทองจากหาดใหญ่เพื่อมาลงย่านวชิราหรือถนนทะเลหลวงนั้น พ่อแม่ผมจะบอกกระเป๋ารถ (ชาวบ้านเรียกว่าลูกน้องรถ คู่กับนายหัว ซึ่งหมายถึงคนขับรถ) ให้จอดหลังวัดโพธิ์ หรือไม่อย่างนั้นก็จอดก่อนถึงเล็กน้อย ตรงหน้าคิวรถโนด (อู่ของบริษัทระโนดเดินรถ ซึ่งอยู่ทางด้านใต้ของทางรถไฟ) เพื่อรอรถตุ๊กตุ๊กหรือรถเมล์รอบเมือง (เลิกกิจการไปนานแล้ว)

ทราบจากป้ายชื่อถนนเลียบทางรถไฟแห่งนี้ว่าชื่อถนนกำแพงเพชร แต่ที่มาของชื่อนั้นยังเป็นปริศนาอยู่จนบัดนี้ ขอท่านผู้รู้ช่วยคลายข้อสงสัยให้ทราบด้วยตอนเด็กก็คิดเล่นๆ ว่า เป็นเพราะเลียบกำแพงวัดโพธิ์ เลยตั้งชื่อตามนั้น แม้จะค้านในใจว่าไม่เห็นว่ากำแพงจะทำด้วยเพชร หรือว่ามีประกายวับวาวแบบแก้วที่ประดับผนังโบสถ์แต่อย่างใด ในหนังสือที่รฦกแห่งการเปิดทางรถไฟหลวงสายใต้ 2459 นั้น กล่าวไว้ว่า ...สงขลานั้นตั้งอยู่ริมทะเลสาบตอนที่ติดต่อกับทะเลใหญ่ แลท่าจอดเรือที่สุดทางรถไฟ ในทะเลสาบที่สงขลานี้ นับว่าเปนท่าจอดเรืออย่างวิเศษที่เปนเอง ด้วยตามฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรนี้ ตั้งแต่กรุงเทพฯ ลงไปยังเมืองสิงคโปร์นั้น นอกจากที่สงขลานี้แล้วก็ไม่มีท่าจอดเรือดีเลย...

ชื่อถนนจึงอาจตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟไทยก็เป็นได้ แต่ชื่อกำแพงเพชร ยังเป็นชื่อเก่าก่อน พ.ศ. 2480 ของอำเภอรัตภูมิ เช่นเดียวกับชื่อถนนปละท่า ซึ่งใช้ชื่อเก่าของอำเภอสทิงพระ นอกจากนี้ในตัวเมืองสงขลายังมีถนนเทพา ถนนจะนะ ถนนนาทวี ถนนสะเดาอีกด้วย

เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่หากผ่านมาแถวนี้ น่าแวะชมจิตรกรรมฝาผนังในวัดโพธิ์ ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตชุมชนสงขลาในสมัย ร.4 แม้จะเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็ก แต่ก็อยู่ท่ามกลางความหลากหลายของศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งไทยพุทธ มุสลิมและชาวไทยเชื้อสายจีนแถบถนนนครนอก-นครใน อันน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

ขอบคุณข้อมูล :นายพุทธพร ส่องศรี

เรื่องที่เกี่ยวข้อง