ย้อนไปในช่วง 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ทางรถไฟสายสงขลายังมีขบวนรถไฟวิ่งอยู่นั้น ในวันที่อากาศดีทัศนวิสัยปลอดโปร่ง ถ้าไปยืนอยู่หน้าสถานีรถไฟสงขลา จากชานชาลามองตามแนวรางรถไฟไปทางทิศใต้จนสุดตา จะเห็นภูเขาลูกไม่ใหญ่โตนัก 2 ลูกอยู่ที่ริมขอบฟ้า
เขาลูกเตี้ยกว่าคือ เขารูปช้าง อันเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้าน ตำบลและเทศบาลนั่นเอง อยู่ข้าง ๆ มหาวิทยาลัยทักษิณ ส่วนเขาลูกที่สูงกว่าและอยู่ห่างออกไปอีกคือ เขาเทวดา หรือที่ชาวบ้านเรียกกันแบบสำเนียงใต้ว่า เขาเทียมดาแม้จะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก คือ 298 เมตร แต่เขาเทียมดาก็จัดเป็นเขาที่สูงที่สุดในอำเภอเมืองสงขลา เปรียบเทียบกับเขาตังกวนที่สูงไม่ถึง 100 เมตรแล้ว คิดว่าคงเหนื่อยเอาการทีเดียว ถ้าจะเดินไต่ขึ้นไปให้ถึงบนยอด
เขาเทียมดาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเทือกเขาของอำเภอเมืองสงขลา ที่ประกอบด้วยเขารูปช้าง เขาน้ำกระจาย เขาแก้ว เขาเกาะโมง ควนตีน ในท้องที่ตำบลเขารูปช้าง พะวง เกาะแต้วและทุ่งหวัง ยอดเขาเทียมดาอยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาราว 8 กิโลเมตร สภาพเป็นป่า และมีการทำเกษตรกรรม ทำสวนยาง สวนผลไม้บริเวณเชิงเขา เนื่องจากมีแหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์
เทือกเขาแห่งนี้ยังเป็นต้นน้ำของคลองธรรมชาติหลายคลอง ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา คือ คลองบางดาน คลองน้ำกระจาย คลองสวนตูล คลองเขาแก้ว คลองตะเคียน นำความชุ่มชื้นมาสู่พื้นที่ราบลุ่มทะเลสาบสงขลาที่อยู่เชิงเขา แต่ในฤดูน้ำหลาก บางครั้งปริมาณน้ำจำนวนมากจากเขาเทียมดาก็ไหลลงมาท่วมบริเวณรอบ ๆ สร้างความเสียหายได้เหมือนกัน เขาเทียมดาอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนต่างถิ่น เมื่อเทียบกับเขาตังกวน เขาน้อยที่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสงขลา แต่ก็มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคมและทัศนียภาพ
บริเวณแถบนี้คงเคยเป็นชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะด้านฝั่งตะวันออกของเขาด้านที่หันออกสู่ทะเลอ่าวไทย มีการขุดพบพระพุทธรูปโบราณที่เชิงเขาใกล้วัดแช่มอุทิศ และกล่าวกันว่ายังมีร่องรอยของอาคารบัญชาการรบของทหารในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
ด้านตะวันออกของเทือกเขามีน้ำตก อ่างเก็บน้ำสวนตูล เป็นพื้นที่อนุรักษ์ป่าและต้นน้ำลำธาร สมัยเรียนมัธยม มีเรียนนักศึกษาวิชาทหาร หรือ รด.ด้วย ผมขึ้นรถตุ๊กตุ๊กจากตัวเมืองสงขลามาเรียนที่กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 5 (ป.พัน 5) หรือค่ายพระปกเกล้า ครูฝึกยังเคยเกณฑ์นักศึกษาวิชาทหารไปช่วยกันปลูกต้นไม้ ปลูกป่าบริเวณรอบ ๆ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้
ตั้งแต่ได้ปลูกต้นไม้คราวนั้น และจบการศึกษาไป ผมก็ไม่มีโอกาสเข้าไปเยือนอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อีก ได้แต่หวังว่าต้นไม้ที่ปลูกไว้คงจะเจริญงอกงาม รักษาความชุ่มชื้นให้กับป่าแถบนี้ได้อีกนานรถไฟสายสงขลาหยุดเดินไปแล้วกว่า 30 ปี วันนี้ ถ้าไปยืนหน้าสถานีสงขลา มองไปทางใต้คงไม่ได้เห็นเขาเทียมดาแล้ว เพราะถูกอาคารเก็บสินค้าและบ้านเรือนบดบังหมดสิ้น อยากเห็นคงต้องขึ้นไปบนเขาตังกวน หรือรอโครงการรถไฟขนส่งมวลชนหาดใหญ่-สงขลา ที่จะสร้างใหม่ตามแนวทางรถไฟเดิม โครงการนี้เป็นความหวังและอนาคตที่ชาวสงขลารอคอย
ขอบคุณข้อมูลภาพ : คุณพุทธพร ส่องศรี ,บ้านสวนเขาเทียมดาโฮมสเตย์
ย้อนชมภูมิปัญญาการทำขวัญข้าว สู่การสร้างวงเวียนพระแม่โพสพ ศูนย์รวมจิตใจชาวระโนด
8 มิถุนายน 2568 | 748เปิดที่มาชุมชนประวัติศาสตร์ บ้านควนจง (นาหม่อม)
8 มิถุนายน 2568 | 1,007วิถีมุสลิมบ้านดอนขี้เหล็ก "ประเพณีการทูนพานอาหาร" ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี
8 มิถุนายน 2568 | 672เปิดตำนาน...ที่มาชื่อบ้านบ่อแดง อ.สทิงพระ
25 พฤษภาคม 2568 | 1,410ของดีของหรอยท่าเลออก ตลาดริมทางของผู้สัญจรผ่าน ณ สามแยกบ่อทราย (ปากรอ)
25 พฤษภาคม 2568 | 3,709ตำนานทวดเข้...ทวดขุนดำ-ทวดแขนลาย แห่งสายน้ำคลองท่าม่วง อ.ควนเนียง
25 พฤษภาคม 2568 | 2,260ร่องรอยจากอดีต พิพิธภัณฑ์วัดท่าช้าง(บางกล่ำ)
18 พฤษภาคม 2568 | 977เจ้าบ่าวน้อยแห่งควนเขาสูง : วีรบุรุษชุมชนท้องถิ่น บ้านพรุเตาะ ต.ทุ่งใหญ่
18 พฤษภาคม 2568 | 2,473