พูดถึง "อ่างศรีตรัง" บางคนอาจไม่รู้จัก เพราะ “อ่างศรีตรัง” คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “อ่างน้ำ ม.อ.” ทำหน้าที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของ ม.อ. ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งวิทยาเขตหาดใหญ่ เลยทีเดียว ถ้าไม่มีอ่างเก็บน้ำนี้ ม.อ.ก็เกิดไม่ได้ เพราะสมัยนั้นไม่มีประปามาให้บริการเหมือนเช่นปัจจุบัน อ่างศรีตรังจึงมีบุญคุณต่อ ม.อ. มาก (เรื่องราวต่อไปนี้ถูกเล่าโดย ผศ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ) ซึ่งมีการบอกเล่าว่า...
ผมเกิดริมแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากแม่น้ำไม่เกิน 100 เมตร อยู่ไกล้น้ำก็มีความผูกพันและมีความสุขกับน้ำมาก ว่ายน้ำเป็นตั้งแต่เล็กๆ ไม่รู้ว่าตอนกี่ขวบแต่รู้ว่า ตอนเด็ก (มีคนรู้จักตกน้ำตายด้วย) ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นประจำ ผมชอบน้ำครับ กีฬาที่ถนัดก็เป็นกีฬาทางน้ำ เป็นนักว่ายน้ำของคณะเกษตร ที่ มช. ตอนเรียน ได้เหรียญทองแดงของสระว่ายน้ำรุจิระวงศ์ มา 1 เหรียญ
สอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อปี 2514 รุ่นพี่ไปรับน้องถึงที่สถานีรถไฟหัวลำโพง ไปถึงเชียงใหม่ก็บริการพาชมความงามของ มช. ก็ประทับใจมากครับ และที่จำได้อย่างแรกๆ ก็คือ “อ่างแก้ว” อ่างแก้วเป็นอ่างเก็บน้ำของ มช. รับน้ำจากน้ำตกห้วยแก้ว เชิงดอยสุเทพ มีคันเขื่อนคล้าย อ่างน้ำ มอ.แต่ไม่มีถนนรอบอ่าง ริมอ่างเป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจของชาว มช. ทั้งมวล เหนืออ่างแก้วขึ้นไปเป็นหมู่บ้านพักของอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ คล้ายหมู่บ้านเก่า ของ ม.อ. ด้านข้างอ่างมีหอพักหญิงชื่อ “หออ่างแก้ว” ผมเคยขับรถจักรยานยนต์เข้าไปเที่ยวในหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านที่ร่มรื่นน่าอยู่มากเคยคิดว่าคนที่ได้อยู่ที่นั่นเป็นคนมีบุญจริงๆ
เรียนหนังสือจบต้องไปหางานใน กทม. ก็ยังไฝ่ฝันอยากกลับไปทำงานที่ มช. ได้งานบริษัทใหญ่ ทำงานได้ 16 วัน ก็ต้องไปลาออก เพื่อเรียนต่อที่ ม.เกษตรศาสตร์ เพื่อจะได้มีโอกาสกลับไปอยู่ มช. พอเรียนจบ ที่ มช.ยังไม่มีตำแหน่งว่าง ประจวบกับที่ ม.อ. เปิดคณะใหม่ (คณะทรัพย์ฯ) และมีตำแหน่งว่าง เลยมาสมัคร และได้รับความกรุณาจากคณบดีคณะทรัพย์คนแรก (ผศ.ดร.เจือ สุทธิวนิช) รับเป็นอาจารย์ วันแรกๆ ที่มาถึง ม.อ. ก็ได้รับความประทับใจกับอ่างน้ำ ม.อ. และแฟลตอาจารย์ ริมอ่าง ม.อ. สวยงามมาก (ตอนนั้นยังใหม่อยู่ แต่ตอนนี้เก่ามากแล้ว ถ้าได้รับการปรับปรุงทั้งภายในและทำความสะอาดภายนอกอาคารก็คงจะสวยขึ้นมาก) โดยเฉพาะช่วงค่ำที่แฟลตอาจารย์เริ่มเปิดไฟ เห็นเงาสะท้อนในอ่างน้ำระยิบระยับ ผมก็ผูกพันกับอ่างน้ำ ม.อ.
จนหลายปีผ่านไป(น่าจะราว 2544-2546) สมัย รศ.นพ.วรัญ ตันชัยสวัสดิ์ เป็นรองอธิการบดี วข.หาดใหญ่ (รศ.ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ เป็นอธิการบดี) ผมก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับท่านในตำแหน่งนายกสโมสรอาจารย์ และข้าราชการ ม.อ.หาดใหญ่, รก.ผอ.กองอาคารฯ, และผช.อธิการบดี วข.หาดใหญ่ ในครั้งนั้นมีการตั้งชื่อประตูต่างๆของ ม.อ. เช่น ประตูมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประตูพระบารมี ประตูงามทักษิณ ประตูศรีทรัพย์ เป็นต้น ชื่อถนน เช่น ถนนสหศาสตร์ ”อ่างศรีตรัง” (อ่างน้ำ ม.อ. ที่สวยงามของเรานั่นเอง) และ ”บึงศรีตรัง” (บึงพักน้ำหัวถนนปุณกัณต์) เป็นชื่อที่ไพเราะ มีความหมายดีตรงกับดอกไม้ประจำ ม.อ. มีความไพเราะ “อ่างศรีตรัง”
นอกจากจะสวยงาม เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ คล้ายอ่างแก้ว ของ มช. แล้ว ยังเป็นที่ออกกำลังกายของทั้งชาว ม.อ. และชาวเมืองหาดใหญ่จำนวนมาก คาดว่าไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 คน ทั้งเช้า และเย็น เปิดบริการตั้งแต่เช้ามืด จนถึง 22.00 น. เลยทีเดียว (ผมได้มีโอกาสเข้าพักอาศัยในหมู่บ้านเก่า ม.อ. ซึ่งผมถือว่าเป็นวาสนาที่ดีของผมที่เดียว) คนส่วนใหญ่รู้จัก “อ่างศรีตรัง” เพราะเหตุนี้ แต่ผมอยากจะกล่าวถึง อ่างศรีตรังในบริบทอื่นๆ ที่หลายคนยังไม่ทราบ
“อ่างศรีตรัง” พื้นที่รับน้ำ 2.05 ตร.กม., พื้นที่ผิวอ่างเมื่อเก็บน้ำเต็ม122,500 ตรม., ทางระบายน้ำล้น เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.50 ม., ความยาว 71 ม., ปริมาณน้ำผ่านท่อ 8 ลบ.ม./วินาที, ทางระบายน้ำฉุกเฉินกว้าง 50 เมตร, ระดับสันรางระบายน้ำฉุกเฉิน 21.300 ม., ปริมาณน้ำผ่านได้ 20 ลบ.ม./วินาที, ความยาวของตัวทำนบ 620 ม., ส่วนสูงสุดของทำนบ 11 ม., หลังคันดินกว้าง 6 ม., ระดับหลังทำนบ 22.500 ม. (ร.ท.ก)., ระดับเก็บกัก 20.500 ม. (ร.ท.ก.) ระดับน้ำสูงสุด 21.500 ม. (ร.ท.ก.) (ร.ท.ก. ย่อมาจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ครับ), ความจุอ่าง 377,500 ลบ.ม., ค่าก่อสร้าง 3,851,000 บาท
อ่างศรีตรังมีความจุเพียง 377,500 ลบ.เมตร ขุดลอกอ่าง 2 ครั้ง (ครั้งหลังสุดตอนที่ผมเป็น รก. ผอ. กองอาคารสถานที่) ประมาณปี พ.ศ. 2545 ครับ ขุดดินออกไป 60,000 ลบ.ม ดังนั้นความจุของอ่างจึงน่าจะไม่ต่ำกว่า 437,500 ลบ.ม. นะครับ (และผมได้วางแผนขุดดินให้ท้องอ่างเสมอกัน เพื่อเวลาหน้าแล้ง อ่างศรีตรังก็ยังมีน้ำอยู่ ไม่ดูแห้งแล้งเหมือนอดีต นะครับ)
การใช้น้ำจากอ่างศรีตรัง เท่าที่ทราบมา(ข้อมูลจากกองอาคารฯ) ในอดีตเราสามารถใช้น้ำในอ่างได้สูงสุด คือปีละ 900,000 ลบ.ม. น้ำประปาราคา 16 บาท/ลบ.ม. (ดังนั้นคิดเป็นตัวเงินได้ 900,000 ลบ.ม. * 16=14,4000,000.- บาท มากโขทีเดียวนะครับ) แสดงว่าเรายังสามารถจัดการน้ำในลุ่มน้ำได้อีกมากครับ
ข้อเสนอ การจัดการบริหารน้ำในอ่างศรีตรังก็คือ
1. การจัดการทั่วไปในช่วงแล้ง ก็ต้องใช้น้ำ(พร่องน้ำ)ในอ่างให้มากที่สุด แต่ที่ออกแบบไว้ น้ำจะยังดูเต็มพื้นที่อ่างอยู่นะครับ เมื่อถึงจุดต่ำสุดที่น้ำจะไหลเข้าท่อเพื่อผลิตน้ำประปาเองโดยอัตโนมัติ ก็ยังสามารถ ใช้สูบ สูบน้ำในระดับที่ต่ำกว่าปากท่อได้อีกไม่น้อยกว่า 60,000 ลบ.ม. ครับเพื่อให้มีพื้นที่รับน้ำมากที่สุดเมื่อฝนมาจะได้เก็บน้ำได้มากขึ้น จัดการให้มีน้ำล้นน้อยที่สุดครับ
2. การเพิ่มพื้นที่รับน้ำลงอ่าง เช่น การสร้างรางน้ำฝนจากหลังคาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ไปลงอ่าง ปัจจุบันไหลทิ้งครับ ไหลไปทางโรงยิมและไปทางคณะทรัพย์
ทำให้น้ำท่วมบริเวณคณะทรัพย์ฯ และคณะแพทย์ศาสตร์อีกต่างหาก (การสร้างรางแบบนี้ต้องระวัง โดยการออกแบบให้เฉพาะน้ำดีไหลลงอ่างน้ำเสียไม่เอา)
พื้นที่ หลังคาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ประมาณ 16 ไร่ ครับ คิดเป็นตร.ม. =16* 1600 = 25,600 ตร.ม. น้ำฝน 2.0 ม./ปี
ดังนั้นจึงได้น้ำดีจากหลังคาคณะวิศวกรรมศาสตร์ 51,200 ลบ.ม. เลยทีเดียว นำไปทำประปาต้นทุน ลบ. ม. ละ 3 บาท ราคาขาย 16 บาทได้กำไร 13 บาท/ลบ.ม. คิดเป็นเงิน =51,200*13 = 665,600 บาท/ปีเลยทีเดียว และยังเป็นการแก้ปัญหาน้ำท่วม 2 คณะ ตามที่กล่าวไว้แล้วด้วย เท่ากับเป็นการยิงนกครั้งเดียว ได้นก 2 ตัว ท่านว่าคุ้มไหมครับ ค่าก่อสร้างก็ไม่น่าจะเกิน 1-2 ล้านบาทครับ ลงทุนไป 2-3 ปีก็คืนทุน ก็ถือว่าคุ้มแล้ว
โดยเรื่องราวทั้งหมดที่เล่ามานี้เป็นคุณูปการของ "อ่างศรีตรัง" ต่อ ชาว ม.อ. ซึ่งยังไม่หมด หากมีบทความเรื่องราวดี ๆ เช่นนี้อีก ทางผู้เขียนจะรีบนำมาเสนอให้ได้รู้กันต่อไป สำหรับวันนี้ต้องขอลากันไปก่อน
ศาลาตาเล่อเท่อ ที่พึ่งของชาวบ้านเมื่อของสำคัญสูญหาย
27 เมษายน 2568 | 260จากอดีตบ้านทุ่งเหม็นขี้ สู่บ้านทุ่งขมิ้น(นาหม่อม)
27 เมษายน 2568 | 240บุกป่าหาน้ำตกลับ...น้ำตกโตนหน้าผี ณ เขาพระ อ.รัตภูมิ
27 เมษายน 2568 | 298ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ศาลเจ้าแห่งแรกที่ริเริ่มทำโรงทานเจในสงขลา
20 เมษายน 2568 | 262พาชม...บ้านขุนตระการตะเครียะเขต บ้านเก่าโบราณนับร้อยปี "บ้าน 108 เสา"
30 มีนาคม 2568 | 964รู้หม้ายว่า? สงขลาเป็นจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่มีวันประจำจังหวัด
30 มีนาคม 2568 | 759เปิดตำนานความเชื่อ พ่อปู่ภุชงค์-แม่ย่าทองคำ วัดโคกเปี้ยว สงขลา
30 มีนาคม 2568 | 613ศาลเจ้าพ่อทวดหมอน สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่ตำบลคูขุด อ.สทิงพระ
2 มีนาคม 2568 | 892