ในสมัยก่อน ชาวเมืองสงขลาไม่นิยมสร้างส้วมภายในบ้าน ดังนั้นชาวไทยที่ตั้งบ้านเรือนบริเวณหน้าวัด (ถนนไทนบุรีตั้งแต่วัดดอนรัก วัดเลียบ วัดดอนแย้ วัดกลาง และวัดโพธิ์) นอกแพง(นอกกำแพงเมืองที่ถนนรามวิถี) นอกสวน(บริเวณวัดสระเกษ-แถววชิรา) หากใครใคร่จะถ่ายทุกข์ก็จะไปที่ป่าละเมาะ ป่าเสม็ด ชายหาดริมทะเล คลองขวาง ดงนมแมว ตลอดแนวทางรถไฟ หรือในสวนมะพร้าว(ที่เจ้าของไม่อยู่) ตามที่ตนสะดวก ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงบางคนหากจำเป็นต้องถ่ายทุกข์ในเวลากลางคืนจะถ่ายใส่ "โหลก" และนำมาเททิ้งที่คูหน้าบ้านตอนเช้า โหลกเป็นอุปกรณ์ที่ชาวบ้านทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับถ่ายทุกข์ โดยนำมะพร้าวลูกโตๆมาปลอกเปลือกออกให้หมด ใช้เลื่อยเลื่อยส่วนบนของลูกมะพร้าวออก ประมาณ 1 ส่วน ขูดเนื้อมะพร้าวออกให้หมด ล้างน้ำให้สะอาด ตากแดดให้แห้งก็สามารถนำมาเป็นอุปกรณ์ถ่ายทุกข์ในเวลาที่ต้องการ เมื่อใช้งานเสร็จล้างให้สะอาด ผึ่งแดดเก็บไว้ใช้งานครั้งต่อๆ ไป
จากคำบอกเล่าของลุงเสริมวิทย์ โคนันท์ ซึ่งบ้านอยู่ไม่ไกลจากส้วมแดงและใช้บริการตั้งแต่เล็กจนโตทำให้ทราบว่า ในอดีต ส้วมสาธารณะแยกเป็นส้วมสำหรับชายและหญิง หญิงสาวโสดหรือหญิงที่ยังไม่แต่งงานจะไปใช้บริการตอนหัวรุ่ง(เวลาเช้าซึ่งยังสว่างไม่มาก) และตอนพลบค่ำ โดยมีคนรับใช้หรือญาติผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงติดตามไปด้วย
ทั้งนี้เพราะในอดีต สตรีในย่านเมืองเก่าสงขลาหากโตเป็นสาวจะต้องอยู่ในบ้าน ไม่สามารถออกจากบ้านตามลำพังได้จนกว่าจะแต่งงานมีครอบครัว ต่อมาเมื่อประเพณีดังกล่าวเลิกไปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ส้วมสาธารณะสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งชายและหญิงส้วมทุกแห่งของเมืองสงขลาไม่มีชื่อเรียก ยกเว้นส้วมแดงซึ่งเป็นส้วมที่มีจำนวนห้องไว้ให้บริการมากที่สุด ตัวอาคารทาด้วยสีแดง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ส้วมแดง"
ความเป็นมาของส้วมแดง ลุงอุทัย นิพัทธ์สัจก์ ได้รับฟังคำบอกเล่าจากบิดาว่า ผู้สร้างส้วมแดง คือพ่อค้าชาวจีนที่มีฐานะในเมืองสงขลา สาเหตุที่สร้างเพราะถูกชินแส ชาวสิงคโปร์ผู้มีชื่อเสียงต้านทำนายที่แม่นยำ ทำนายว่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน จึงได้สร้างส้วมแดงเป็นการทำบุญ อานิสงส์จากการทำบุญทำให้พ่อค้าจีนมีอายุยืนยาวมาได้หลายปี สร้างความประหลาดใจแก่ซินแสเป็นอย่างมาก
ที่ตั้งและลักษณะของส้วมแดง อาจารย์ไพบูลย์ สุพัฒนกุล เล่าว่า ในวัยเด็กได้วิ่งเล่นเข้าออกบริเวณ ส้วมแดง เนื่องจากบ้านพักอยู่ใกลับริเวณนั้น จึงสามารถให้ข้อมูลที่ตั้งและลักษณะของส้วมแดงได้ว่า ส้วมแดงเป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่บริเวณซอยติดชายทะเลด้านหลังอาคารตึกแถวเลขที่ 113 ถนนนครนอกในปัจจุบัน โดยมีสะพานเชื่อมต่อกับพื้นที่ห้องส้วม ยาวประมาณ 3 เมตรตัวอาคารทำด้วยไม้ กรุผนังกั้นเป็นช่อง แต่ละห้องกว้างยาวประมาณ1x1 เมตร เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคามุงสังกะสี ใต้หลังคาเปิดโล่งเป็นช่องระบายอากาศ ภายในห้องมีพื้นที่สำหรับนั่งยองๆ โดยมีแผ่นไม้กว้างพอประมาณวางฝ่าเท้าได้พอดิบพอดี 2 แผ่น วางห่างกันเป็นช่อง
สำหรับถ่ายทุกข์ลงสู่พื้นน้ำด้านล่างซึ่งก็คือทะเลสาบ ผู้ใช้ส้วมต้องนั่งหันหน้าออกด้านนอก ซึ่งเป็นทางเดินของส่วนกลาง ทำให้มองเห็นหน้าผู้นั่งฝั่งตรงข้ามได้ชัดเจน ที่ผนังข้างฝาส้วมมีตะขอเหล็กสำหรับเสียบ กระดาษชำระ โดยใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รายวันตัดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม
บรรยากาศของส้วมแดงชาวบ้านนิยมมาใช้บริการอย่างหนาแน่นในช่วงเช้าตรู่ ดังนั้นทุกๆ เช้าจะเห็นผู้มาใช้บริการบางคนเดินถือกระดาษหนังสือพิมพ์สำหรับใช้ทำความสะอาดเมื่อถ่ายทุกข์เสร็จ บางคนถือหนังสือพิมพ์มาอ่านขณะปล่อยทุกข์ ชาวบ้านที่รู้จักคุ้นเคยจะเลือกนั่งห้องที่หันหน้าเข้าหากันเพื่อจะได้พูดคุย โดยเฉพาะอยู่บนส้วมนั้น ที่พื้นน้ำด้านล่างฝูงปลา เช่นลูกปลาข้างหม้อ ลูกปลาดุกเล ปลาขี้ตัง และปลาขี้จีนซึ่งเป็นปลาขนาดเล็ก ว่ายน้ำเป็นฝูงรอคอยอาหารอันโอชะ หากถูกปล่อยลงมาเมื่อใด ฝูงปลาเหล่านั้นจะแย่งกินหมดไปในเวลาอันรวดเร็ว ชาว
สงขลาในอดีตจึงไม่นิยมบริโภคปลาดังกล่าว นอกจากนี้การที่มีปลาคอยกินของเสีย ทำให้ภายใน ส้วมไม่มีกลิ่นให้รำคาญจมูก อีกทั้งลมจากทะเลสาบพัดมาถูกต้องผิวกายเย็นสบาย ผู้มาใช้บริการจึงชอบนั่งพูดคุยกัน บ้างนั่งสูบบุหรี่ บ้างนั่งปล่อยอารมณ์ดูทิวทัศน์ที่สวยงามของทะเลสาบอย่างเพลิดเพลินขณะถ่ายทุกข์
ต่อมาบ้านเรือนในเมืองสงขลามีการสร้างส้วมแบบส้วมถังเท พัฒนามาเป็นส้วมซึม และส้วมเกรอะ ที่ถูกสุขลักษณะภายในบ้านตามนโยบายของเทศบาล ส้วมแดงและส้วมสาธารณะอื่นๆ ที่ถนนนครนอกจึงไม่มีผู้คน ไปใช้บริการ และถูกรื้อทิ้งประมาณปี พ.ศ. 2510 คงเหลือเพียงตำนานส้วมแดงที่ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าขานให้ลูกหลานฟัง และนี่คือฉากหนึ่งของย่านเมืองเก่าสงขลาแต่แรกซึ่งมีสีสันเฉพาะตน ส้วมที่ใครๆ ไม่อยากพูดถึง อยู่ในบริบทสังคมย่านเมืองเก่าอย่างมีชีวิตชีวา มาจนถึงยุคที่สถานถ่ายทุกข์ ได้ขยับเข้ามาอยู่ในห้องแคบๆ ภายในบ้านอย่างปัจจุบัน
ส่วนชาวมุสลิมที่อยู่แถวบ้านบนจะไปใช้ส้วมสาธารณะของเมืองที่สะพานเหล็กซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนนครนอก หรือที่มัสยิด นอกจากนี้ชาวมุสลิมที่ประกอบอาชีพทำประมง และมีบ้านอยู่ริมทะเลสาบจะทำส้วมใช้ที่บ้าน โดยใช้ทางมะพร้าว ทางจาก หรือไม้ไผ่กั้นบริเวณที่้ใช้ถ่ายทุกข์ สูงให้พอมิดหัวและไม่ให้เห็นขา เพื่อจะได้ไม่ประเจิดประเจ้อเวลาถถ่ายทุกข์ บ้านใดไม่มีส้วมก็ไปขอใช้ส้วมของเพื่อนบ้าน
สำหรับชาวจีนหรือชาวไทยเชื้อสายจีนย่านถนนนางงาม ถนนนครในจะไปถ่ายทุกข์ที่ส้วมสาธารณะของเมือง หรือบ้านญาติที่ถนนนครนอก ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบสงขลา ทุกบ้านทำนอกชานยื่นลงไปในทะเลสาบ และกั้นห้องเพื่อถ่ายทุกข์ แต่บ้านบางหลังที่ถนนนครในไม่ต้องมาใช้บริการส้วมสาธารณะ เพราะได้กั้นบางส่วนของบ้านเป็นที่ถ่ายทุกข์ และใช้น้ำราดของเสียทิ้งลงคูน้ำหน้าบ้านหรือข้างบ้าน ส้วมสาธารณะของเมืองที่ถนนนครนอกมีหลายแห่ง เช่น ที่โรงสีหับโห้หิ้น (โรงสีแดง) ที่สะพานเหล็ก และที่ส้วมแดง เป็นต้น
ภาพข้อมูลบทความ : หนังสือ คนเฒ่าเล่าเรื่องเมืองสงขลา : สีสันวันวานย่านเมืองเก่า /บรรณาธิการ สดใส ขันติวรพงศ์.
ชุมชนรังมดแดงสู่บ้านรำแดง(สิงหนคร)
20 ตุลาคม 2567 | 172ความทรงจำข้างกำแพงเมือง...182 แห่งการสถาปนาเมืองสงขลา(บ่อยาง)
20 ตุลาคม 2567 | 160ย้อนชมที่มา...ประเพณีลากพระของชาวปักษ์ใต้ "พระน้ำดูไปตามชายหลิง พระบกเพริศพริ้งบนหลิงแว็บวับ"
20 ตุลาคม 2567 | 169ตำนานศาลาทวดหัวสะพานพรุเตียว ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านในพื้นที่
22 กันยายน 2567 | 295พาชมถ้ำเขาจังโหลน 1 ในตำนานภูผา ณ อำเภอรัตภูมิ
22 กันยายน 2567 | 379ย้อนประวัติที่ฝังศพชาวฮอลันดา เมืองสงขลา
22 กันยายน 2567 | 412ชุมชนโบราณบ้านปะโอ ชุมชนเก่าแก่สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์สงขลา
1 กันยายน 2567 | 547ลุ่มน้ำคลองภูมี ลำน้ำหล่อเลี้ยงและยึดโยงชีวิตของผู้คน 4 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสงขลา
1 กันยายน 2567 | 1,597